ออมสินเล็งตั้งนอนแบงก์ปล่อยกู้ที่ดินและขายฝาก

ออมสินเล็งตั้งนอนแบงก์ปล่อยกู้ที่ดินและขายฝาก

ออมสินเผยมีแผนตั้งบริษัทลูกทำธุรกิจนอนแบงก์ปล่อยกู้ที่ดินและขายฝากที่ดินภายในเดือนมี.ค.-เม.ย.นี้ หวังช่วยผู้ประกอบธุรกิจ SMEs ให้มีสภาพคล่อง ดึงรัฐวิสาหกิจร่วมทุน 15% ทุนจดทะเบียนรวม 1 พันล้านบาท ตั้งดอกเบี้ย 8.99% คาดปล่อยสินเชื่อได้ 1 หมื่นล้านบาทต่อปี

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสินเปิดเผยว่า ธนาคารมีแผนจัดตั้งบริษัทลูกขึ้นมาใหม่ ซึ่งจะเป็นสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์หรือนอนแบงก์ เพื่อทำหน้าที่ให้บริการสินเชื่อที่ดินและสินเชื่อขายฝากที่ดิน ถือเป็นหนึ่งในการให้บริการสินเชื่อ Social Bank ของธนาคาร

เขากล่าวว่า จากความสำเร็จในการทำโครงการสินเชื่อ “มีที่มีเงิน” เพื่อช่วยเหลือ SMES ที่ประสบปัญหาสภาพคล่องจากผลกระทบของโควิด-19ตั้งแต่ปี 2563 โดยนำที่ดินมาเป็นหลักประกันเงินกู้ในอัตราดอกเบี้ย5.99% โดยธนาคารออมสินจะให้สินเชื่อในสัดส่วน 75% ของราคาประเมิน ที่ดิน หรือ 50% ของราคาที่ดินที่เป็นราคาตลาด เพื่อช่วยเพิ่มสภาพคล่องทางธุรกิจให้กับ SMEs

เขากล่าวว่า โครงการดังกล่าว ธนาคารไม่ได้พิจารณาถึงความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้า ซึ่งถือว่า เป็นเรื่องที่สำคัญในการพิจารณาการปล่อยกู้ของสถาบันการเงิน ทั้งนี้ ที่ผ่านมาธนาคารได้ให้สินเชื่อแก่ลูกค้า SMEs ผ่านโครงการนี้ไปแล้ว 2 หมื่นล้านบาท แต่อยู่ในระหว่างปล่อยกู้อีก 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะสิ้นสุดในเดือนมี.ค.นี้

“เพื่อให้การทำธุรกิจดังกล่าว เป็นไปอย่างต่อเนื่อง ธนาคารออมสิน จึงเตรียมที่จะจัดตั้งบริษัทลูกในรูปของนอนแบงก์ โดยธนาคารออมสินจะมีสัดส่วนการถือหุ้นราว 85% ที่เหลือเป็นพันธมิตรร่วมทุน ซึ่งอาจจะมาจากรัฐวิสาหกิจบางแห่ง โดยจะใส่เงินลงทุนในธุรกิจนี้ราว 1 พันล้านบาท ขณะนี้ อยู่ในขั้นตอนการเสนอบอร์ดอนุมัติโครงการนี้ คาดว่า จะเสนอภายในมี.ค.-เม.ย.นี้ จากนั้น จะใช้เวลาอีกประมาณ 3 เดือนในการวางระบบ”

ทั้งนี้ นอนแบงก์ดังกล่าวอาจใช้ชื่อว่า บริษัท มีที่มีเงิน จำกัด โดยจะทำธุรกิจทั้งการให้สินเชื่อที่มีที่ดินเป็นหลักประกัน และสินเชื่อขายฝากที่ดิน

สำหรับสินเชื่อประเภทขายฝากที่ดินนั้น จะคล้ายกับสินเชื่อที่ดิน เพียงแต่ว่า สินเชื่อประเภทขายฝากที่ดินนั้น จะต้องนำสัญญาขายฝากไปจดทะเบียนที่กรมที่ดิน ขณะที่ สินเชื่อที่ดินเป็นหลักประกันนั้น ไม่จำเป็นต้องจดทะเบียนกับกรมที่ดิน ซึ่งกรณีที่เกิดปัญหาลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ตามสัญญา เจ้าหนี้ คือธนาคาร สามารถโอนที่ดินเป็นของธนาคารได้ทันที ขณะที่ สินเชื่อที่ดินเป็นหลักประกันจำเป็นต้องมีกระบวนการฟ้องร้องต่อศาล

เขากล่าวว่า ในช่วงที่เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ผู้ประกอบการ SMEs จำนวนมากไม่สามารถหาเงินกู้จากธนาคารพาณิชย์ได้ เพราะรายได้ของ SMEs ได้รับผลกระทบจากโควิด ทำให้ธนาคารพาณิชย์มองว่า มีความเสี่ยงในการปล่อยกู้  ขณะที่ SMEs จำนวนมากมีที่ดินสะสม แต่ธนาคารพาณิชย์ก็ไม่รับที่ดินเป็นหลักประกันเงินกู้

“หาก SMEs จะนำที่ดินไปขายฝากนอกระบบธนาคารพาณิชย์ก็สามารถทำได้ แต่อัตราดอกเบี้ยค่อนข้างสูง แม้ว่า ตามกฎหมายจะกำหนดว่า ดอกเบี้ยขายฝากจะต้องไม่เกิน 15% แต่ในสภาพความเป็นจริงมีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยสูงกว่านี้ นอกจากนั้น สินเชื่อที่ได้รับจากการขายฝาก ยังได้ในระดับที่ต่ำ เพียง 30% ของราคาที่ดิน”

สำหรับธุรกิจขายฝากที่ดินของธนาคารออมสิน ที่เตรียมจะทำธุรกิจนี้ในเร็วๆนี้นั้น จะเข้าไปช่วยเหลือ SMEs ที่ต้องการขายฝากที่ดิน เพื่อนำสภาพคล่องไปทำธุรกิจ โดยออมสินจะให้สินเชื่อในอัตรา 50% ของราคาตลาด และคิดดอกเบี้ยเพียง 8.99%

 เขากล่าวว่า ปัจจุบันมีการจดทะเบียนสัญญาขายฝากกับกรมที่ดิน คิดเป็นมูลค่าสัญญาประมาณ 2 หมื่นล้านบาท  ซึ่งธนาคารออมสินคาดว่า หากกระโดดเข้าสู่ธุรกิจนี้ จะสามารถมีสัดส่วนของมูลค่าขายฝากราว 1 หมื่นล้านบาท

“บริษัทลูกที่จะจัดตั้งขึ้นมาในลักษณะนอนแบงก์ดังกล่าวของธนาคาร นอกจากจะปล่อยสินเชื่อที่ดินและสินเชื่อขายฝากแล้ว ในอนาคต จะขยายธุรกิจไปสู่การปล่อยสินเชื่อบุคคล อีกด้วย”