'อาคเนย์ประกันชีวิต’ มุ่งสู่ ดิจิทัล เชื่อ‘เมตาเวิร์ส’พลิกโฉมธุรกิจประกัน

'อาคเนย์ประกันชีวิต’ มุ่งสู่ ดิจิทัล เชื่อ‘เมตาเวิร์ส’พลิกโฉมธุรกิจประกัน

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่หายไปในปีนี้ ทำให้พฤติกรรมคนไทยเปลี่ยนแปลงไปจากที่เคยเป็นมาก่อน ประกอบด้วยเทรนด์ในโลกปัจจุบัน กำลังมุ่งหน้าไปสู่โลกอนาคต ที่โลกความเป็นจริง คู่ขนานกับ โลกเสมือนจริง “เมตาเวิร์ส”

      “ภฤตยา สัจจศิลา” รรมการผู้จัดการบริษัท อาคเนย์ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน)ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ฉายภาพธุรกิจประกันชีวิตในโลกอนาคตว่า “เมตาเวิร์ส” จะสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อธุรกิจประกันชีวิตอย่างมาก อย่างเช่น ลักษณะของตัวแทนขายประกันจะเปลี่ยนไป เป็นตัวแทนขายบนโลกเสมือนจริง อาจมีตัวแทนที่เป็น “เมตาเอเจนท์” หรือแม้แต่ ซีอีโอ ก็เข้าไปอยู่ในโลกเสมือนก็ได้ รวมถึงการอบรมและการทำธุรกรรมทางการเงินและประกันชีวิต สามารถเกิดขึ้นในโลกเสมือนก็ได้ในวันข้างหน้า 

       มองว่า ในช่วงที่โลกกำลังก้าวไปสู่โลกอนาคต ทุกคนต้องเตรียมพร้อมและปรับตัว คนที่ปรับตัวได้เร็ว คือ คนที่เข้าไปอยู่ตรงนั้นได้ก่อน ก็จะสร้างโอกาสได้มาก ด้วยการบริหารจัดการและการติดต่อสื่อสารน่าจะง่ายขึ้น

      ตามแผนระยะ 3 ปีข้างหน้า ( ปี 2565 -2567) บริษัทมุ่งไปสู่ “ดิจิทัล” เน้นลงทุนเพิ่มด้านดิจิทัลเทคโนโลยี และบิ๊กดาต้า มาวิเคราะห์พฤติกรรมความต้องการ โดยการยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง (Customer-centric) เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างตอบโจทย์ตรงใจในทุกช่วงวัย เข้าถึงง่าย และคุ้มค่า เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า

      แม้ว่า”ช่องทางดิจิทัล” อาจยังไม่ได้เป็นช่องทางหลักของธุรกิจประกันชีวิตในเวลานี้ แต่เรามองว่า “เป็นช่องทางสำคัญ” ที่พาเราไปหาลูกค้าได้ ไม่ว่าจะเป็นคอนเทนต์และผลิตภัณฑ์ของเราไปสู่ลูกค้าเป้าหมาย ถ้าลูกค้าสบายใจสามารถซื้อประกัน จ่ายเบี้ยบนระบบออนไลน์ได้เลย แต่หากลูกค้ายังต้องการคุยกับฝ่ายขาย ก็สามารถนัดหมายผ่านระบบออนไลน์ ลูกค้าอยู่จุดไหน ตัวแทนที่อยู่ใกล้ที่สุดจะเข้าไปติดต่อลูกค้าทันที

       “ตอนนี้เรามอง ดิจิทัลหรือออนไลน์ ในเชิงกลยุทธ์มากกว่าช่องทางหลัก ที่จะดึงเบี้ยเข้ามามากๆ เหมือนช่องทางอื่นๆ แต่เราจะพัฒนาดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง ไปถึงจุดที่การซื้อประกันชีวิตเป็นเรื่องง่ายๆ ทำได้ทุกเวลาในชีวิตของเด็กรุ่นใหม่และคนที่อยู่ในโลกโซเชียลของสังคมไทย” 

        “ภฤตยา” กล่าวว่า แต่ไม่ว่าโลกอนาคตเปลี่ยนไปอย่างไร แต่ “หัวใจของการประกันชีวิต” คือ “การฝากความหวังไว้กับกรมธรรม์ประกันชีวิต"  แต่รูปแบบจะเปลี่ยนไป  ในโลกเดิม การซื้อประกันชีวิต จะเป็นในรูปแบบ “คนซื้อไม่ได้ใช้ คนใช้ไม่ได้ซื้อ”  แต่โลกใหม่ที่เงินและความต้องการของคนมาเร็วขึ้น คนรุ่นใหม่ต้องการเป็นเศรษฐีน้อยร้อยล้าน ในช่วงอายุ 20-30 ปี ธุรกิจประกันชีวิจต้องเปลี่ยนตัวเองไปด้วย จากที่เคยเป็นประกันชีวิตระยะยาว “เสียชีวิตแล้วได้เงิน” ต้องทำให้การประกันชีวิต อยู่กับชีวิตคนไทย สามารถเกิดทรานเซ็กชั่นได้ ที่เรียกว่า “living benefits”         

      โดยประกันชีวิตเป็นอีกผลิตภัณฑ์ที่สามารถสร้างรายได้และอยู่บนระบบออนไลน์ เช่น ทุกสิ้นเดือนหรือเมื่อเกษียณอายุจะมีเงินจากประกันชีวิต เข้ามาเพื่อนำมาใช้จ่ายในชีวิตและดูแลสุขภาพ

     ส่วนการสร้างเวลธ์ให้กับคนไทยนั้น ในปีนี้บริษัทจะเริ่มเตรียมการพัฒนาระบบและฝ่ายขาย เพื่อเปิดตลาดประกันควบการลงทุน หรือ ยูนิตลิงค์ เป็นครั้งแรกในปี 2566 มองว่า ตลาดประกันยูนิตลิงค์ ยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก ไม่ช้าเกินไปที่เราจะเริ่ม เพราะการเติบโตของตลาดนี้ในปัจจุบันยังเป็นการขายแบบเหมาเข่งมากกว่า และทุกคนยังไม่ได้ต้องการผลิตภัณฑ์ดังกล่าว เรายังมองการเข้ามาในจังหวะและเวลาที่เหมาะสมจริงๆ

       การดำเนินธุรกิจประกันชีวิต “ปีเสือ” “แม้จะ “ไม่ง่าย” แต่ มี “โอกาส” จากความต้องของลูกค้า 2 ความต้องการหลัก คือ “การดูแลสุขภาพ” และ”วางแผนเพื่อการเกษียณอายุ” ด้วยการสร้างผลิตภัณฑ์ที่เติบโตยังยืนและดูแลลูกค้าในระยะยาว และจุดที่จะสร้างความแตกต่างกับประกันรายอื่น คือ “คุณภาพการบริการและการสร้างอีโคซิสเต็มท์ดูแลลูกค้าให้ไว้วางใจ” อีกทั้งเรายังมีกลุ่มลูกค้า ในเครือ TCC ที่ยังสามารถเข้าถึงได้มาเป็นจุดแข็งที่คู่แข่งในตลาดไม่มี