“ปีชง” ต้องรอด! 5 พฤติกรรม "แก้ชง" นักษัตรไหนก็ "รวย" ได้ ไม่รอดวง

“ปีชง” ต้องรอด! 5 พฤติกรรม "แก้ชง" นักษัตรไหนก็ "รวย" ได้ ไม่รอดวง

รวม 5 พฤติกรรมพลิกชีวิต "แก้ชง" เรื่องเงินๆ ทองๆ ที่นักษัตรไหนๆ ก็ "รวยขึ้น" ได้ เมื่อเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมทางการเงินอย่างมีวินัย แบบไม่ต้องรอ "ดวง"

เรื่องโชคลาภเป็นเรื่องความเฮงของใครของมัน แก่งแย่งกันไม่ได้ และไม่มีใครรู้ว่าจะโชคดีเมื่อไร และอาจจะไม่เกิดขึ้นกับทุกคน แต่ในทางตรงกันข้าม เรื่องเงินๆ ทองๆ ที่ทุกนักษัตร ทุกราศีมีโอกาสได้เจอ และคาดการณ์ได้ คือ "ปัญหาทางการเงิน" ที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนหากใช้เงินอย่างประมาทและขาดการวางแผนที่ดี และอาจพังยิ่งกว่าเดิมหากวันที่ประสบปัญหาเป็นวันที่โชคไม่เข้าข้าง 

สำหรับใครที่รู้ตัวว่าการเงินไม่ค่อยดี หรือกำลังชง ในปีนี้นอกจากจะแก้ชงตามความเชื่อส่วนบุคคลแล้ว ลองเช็คพฤติกรรมทางการเงินของตัวเองดูกันหน่อยว่าเรามี 5 แนวคิดทางการเงินและพฤติกรรมที่มีส่วนทำให้ไม่รวยสักที หรือโอกาสจนในอนาคตหรือไม่ แล้วถ้ามีควรปรับการใช้เงินอย่างไร  

 1. ผ่อนตามใจสไตล์คนมีเครดิต 

  • หยุด...ผ่อนตามใจ 

ยุคนี้บรรดาบัตรเครดิตแข่งกันอัดข้อเสนอ “รูดก่อนผ่อนทีหลัง” “เที่ยวก่อนผ่อนทีหลัง” เย้ายวนใจให้ทุกคนจับจ่ายได้ง่ายๆ แบบไม่จำเป็นต้องมีเงินในมือ 

เช่น โปรดอกเบี้ย 0% ไม่ต้องเสียดอกเบี้ยเพิ่มจากราคาสินค้า แต่แนวคิด “ผ่อนได้ผ่อนเลย” เป็นหนทางที่ทำให้หลายคนไปไม่ถึงเป้าหมายทางเงินอื่นๆ สักที 

ปัญหาไม่ได้อยู่ที่การผ่อน แต่อยู่ที่ใช้เงินแต่ละเดือนไปกับการผ่อนของแบบไม่มีการวางแผน ไม่ประเมินกำลังตัวเอง ผ่อนซ้ำซ้อน ผ่อนคราวละหลายๆ อย่าง จนไม่เหลือไปวางแผนในส่วนอื่นๆ ที่ควรทำ นานวันเข้าก็กระทบเงินที่ใช้ในชีวิตประจำวันและกระทบสถานะทางการเงินของตัวเองในอนาคตด้วย

  •  ปรับเป็น...ผ่อนเฉพาะที่จำเป็น (มากๆ) เท่านั้น 

ใครที่กำลังมีวิถีผ่อนไม่คิดชีวิต หรือใครที่ไม่อยากเข้าวงจรนี้ลองปรับแนวคิดมาเป็น “ผ่อนเฉพาะที่จำเป็น(มาก)เท่านั้น” โดยวางแผนล่วงหน้า เช่นงวดการผ่อนหรือหนี้สินแต่ละเดือนจะต้องไม่เกิน 30% ของรายได้

เช่น การผ่อนชำระสิ่งที่จะทำให้เกิดประโยชน์ต่อชีวิตหรือหน้าที่การงานในระยะยาว อาทิ ที่อยู่อาศัย รถยนต์ (ในกรณีที่มีความจำเป็นและคุ้มค่ากว่าการเดินทางกว่าระบบขนส่งสาธารณะ) คอมพิวเตอร์สำหรับทำงาน อุปกรณ์ที่ช่วยต่อยอดรายได้ ฯลฯ 

 2.  ติดกับดักป้าย Sale ลดเมื่อไรซื้อเมื่อนั้น 

  • หยุด...ซื้อเพราะ Sale 

หลายคนเชื่อว่าซื้อตอนลดราคาคือเรื่องที่คุ้มค่า ป้ายลดมาเมื่อไรซื้อเมื่อนั้น เพราะกลัวเสียโอกาส แต่ลืมคิดไปว่าถ้าซื้อแล้วไม่ได้ใช้เลย หรือใช้ไม่ทันเก็บไว้จนหมดอายุ หรือเอาไปปล่อยต่อขาดทุนทีหลัง นั่นไม่ใช่ความคุ้มค่าแต่คือความสิ้นเปลืองอย่างที่สุด 

  •  ปรับเป็น...Sale เยอะแค่ไหนก็ไม่ซื้อ ถ้าไม่จำเป็นต้องใช้  

หากเห็นมุมมองอีกด้านว่า “Sale คือจุดระเบิดต่อมยั้งคิด” หลีกเลี่ยงการเดินเข้าหาสิ่งเหล่านั้น (แบบไม่จำเป็น) จะลดโอกาสจับจ่ายด้วยอารมณ์ชั่ววูบ อุดรอยรั่วในการใช้เงินไปกับสิ่งเปล่าประโยชน์ได้

 "หากคุณซื้อแต่ของไม่จำเป็น ไม่นานคุณจะต้องขายของที่จำเป็น" วอร์เรน บัฟเฟตต์ นักลงทุนระดับโลกกล่าวไว้

 3. เงินในอนาคตก็เงินเรา 

  •  หยุด...คิดว่าตัวเองมีเงินในอนาคต 

"รูดจ่ายไปก่อน เดี๋ยวเงินเดือนก็ออก"
"เดือนหน้าจะได้โบนัสก้อนใหญ่ เดือนนี้จะช้อปปิ้งให้สาแก่ใจ!" 

การใช้เงินอนาคตจากบัตรเครดิตไปก่อน เพราะคิดว่า “เงินอนาคตก็คือเงินเรา” เป็นกับดักความจนที่หลายคนดิ้นไม่หลุด การจินตนาการถึงเงินที่คาดว่าจะได้ในอนาคต มาเป็นเหตุผลสนับสนุนในการใช้จ่าย โดยที่ยังไม่มีเงินอยู่ในมือทำให้ควบคุมได้ยากกว่า  โดยเฉพาะเงินอนาคตจาก “บัตรเครดิต” แบบไม่มีจ่าย หนี้ย่ิงพอก ดอกเบี้ยยิ่งเพิ่ม และยากที่จะ “เก็บออม” หรือ “ลงทุน” ต่อยอดอะไรได้ 

  •  ปรับเป็น..คิดว่า "เงินในอนาคตไม่มีในโลก" ไม่มี ไม่ใช้ 

ถ้ามีแนวคิดว่า “เงินอนาคตไม่มีในโลก” แล้วรู้ตัวอยู่เสมอว่าต้องมีเงินเท่านั้นถึงจะซื้อของได้ ตราบใดที่ยังไม่มีเงินอยู่ในมือต้องไม่ใช้จ่ายไปล่วงหน้า โดยเฉพาะกับของที่แค่อยากได้ แต่ไม่จำเป็นเลยสักนิด โอกาสเป็นหนี้แบบไม่จำเป็นก็จะไม่เกิดขึ้น และบริหารเงินที่มีได้ง่ายขึ้น

 

 4. จ่ายเครดิตขั้นต่ำก็พอแล้ว 

  •  หยุด...จ่ายบัตรเครดิตขั้นต่ำ เด็ดขาด!  

การจ่ายบัตรเครดิตขั้นต่ำ หรือ 10% หรือต่ำกว่า 10% ของวงเงินทั้งหมดที่รูดไป จะมาพร้อมกับ “ดอกเบี้ย” เฉลี่ย 18-20% ต่อปี โดยคิดดอกเบี้ยจากยอดเต็มที่เรารูด แม้เราจะชำระไปบางส่วนแล้วก็ตาม ดอกเบี้ยบัตรเครดิตจะพอกพูนไปเรื่อยๆ ตราบใดที่ยังจ่ายวงเงินนั้นไม่หมดและนี่แหละกับดักกาวเหนียวที่ดึงให้รวยได้ยาก

  •  ปรับเป็น...รูดไปเท่าไร ต้องจ่ายเท่านั้น ไม่มี ไม่รูด 

หลังจากนี้ต้องท่องไว้ว่า “รูดเท่าไหร่ จ่ายเท่านั้น!” ทางเดียวที่ทำให้ผู้ใช้ได้ประโยชน์อย่างแท้จริงจากการใช้บัตรเครดิต นั่นคือสิทธิประโยชน์ที่ตามมากับการใช้จ่ายผ่านบัตร โดยไม่เสียดอกเบี้ย เช่น แต้มบัตรเครดิตที่สามารถใช้แลกสิทธิประโยชน์ต่างๆ ได้ หรือ Cash Back (เครดิตเงินคืน) ฯลฯ ตามมา เพราะบัตรเครดิตคือการใช้เครดิตวงเงินจ่ายไปก่อน แต่ไม่ใช่หนี้นั่นเอง

 5. ออมเงินขัดความสุข ตายไปก็ไม่ได้ใช้ 

  •  หยุด...มองว่าการออมเงินขัดความสุข 

หลายคนไม่ชอบออมเงิน เพราะมีแนวคิดว่า “การออมขัดความสุข” แต่หารู้ไม่ว่าการออมอย่างเป็นระบบและบาลานซ์ ไม่ได้ทำลายความสุขเสมอไป แถมยังช่วยทุเลาทุกข์เวลาเจอเรื่องฉุกเฉินทางการเงินได้อีกด้วย การออมทำได้หลายแบบตามที่แต่ละคนสะดวกและไม่จำเป็นต้องออกมากจนไม่มีเงินสำหรับความสุขเลย 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: 

 

  •  ปรับเป็น...มองว่าการออมคือโอกาส 

แนวคิดส่วนหนึ่งที่จะเริ่มต้นของความรวย คือเห็นความสำคัญของการออม ที่เป็นส่วนหนึ่งในการวางแผนการเงิน ที่แม้ไม่ได้หมายความว่าแค่ “ประหยัด” แล้วจะ “รวย” แต่การออมจะต้องเป็นส่วนหนึ่งในการจัดสรรรายได้ที่จะทำให้ไปต่อยอดเป็นเงินที่เพิ่มขึ้น หรือมีไว้สำหรับกรณีฉุกเฉิน

สำหรับคนที่ไม่ชอบเก็บเงินหรือเก็บเงินไม่อยู่อาจเริ่มต้นเก็บอย่างต่ำ 10% ของรายได้หรือเงินเดือนก่อนนำไปใช้จ่ายก็ได้ ลองทำต่อเนื่องให้เป็นนิสัยอย่างน้อย 1 ปี แล้วจะผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจะทำให้รู้ว่าเราเข้าใกล้เป้าหมายทางการเงินได้ง่ายกว่าที่เคย

------------------------------------------------------

อ้างอิง: ข้อมูลส่วนหนึ่งจาก หนังสือ "25 วิธีคิดให้ชีวิตชิบหาย/25 วิธีคิดให้ชีวิตสบาย" โดย ทีมบรรณาธิการเงินติดล้อ