เปิด "เทคนิคเก็บเงิน" ให้ถึงเป้า สำหรับคนมือเติบ สิ้นปีมี "เงินแสน"

เปิด "เทคนิคเก็บเงิน" ให้ถึงเป้า สำหรับคนมือเติบ สิ้นปีมี "เงินแสน"

แชร์ "เทคนิคเก็บเงิน" ให้อยู่ และไปถึงเป้าหมายสำหรับคน "ใช้เงินเก่ง" หรือ "เก็บเงินไม่อยู่" ให้มี "เงินแสน" หรือทำตามเป้าหมายทางการเงินของตัวเองให้ได้ภายใน 1 ปี

"ปีใหม่" มักจะมากับ "ปณิธาน" ใหม่ๆ เสมอ ตั้งเป้าหมายทางการเงินเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่หลายคนแอบตั้งท้าทายตัวเอง ไม่ว่าจะเก็บเงินให้ได้สักก้อน เก็บเงินซื้อบ้าน เก็บเงินซื้อรถ ปั้นพอร์ตลงทุนให้ถึงเป้า ฯลฯ เป็นรางวัลให้กับตัวเองตอนสิ้นปี 

สำหรับคนเก็บเงินเก่ง หรือวางแผนการเงินได้ดีมาตลอดเป้าหมายเหล่านี้คงไม่ใช่เรื่องยากนัก แต่สำหรับคนใช้เงินมือเติบ หรือคนเก็บเงินไม่อยู่มาก่อนเลย อยากตั้งเป้าหมายทางการเงินของตัวเองบ้างวันนี้ยังไม่สาย "กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" รวมเทคนิคการเก็บเงิน ที่มีโอกาสสำเร็จสูงมาฝาก เพื่อเริ่มต้นเป็นคนมีสุขภาพการเงินที่ดีไปพร้อมๆ กันในปีนี้

 

 เทคนิคที่ 1 : เก็บก่อนใช้ 

เทคนิคที่เหมาะสำหรับคนที่เก็บเงินไม่อยู่เอามากๆ คือการ "เก็บก่อนใช้" เพื่อให้เงินส่วนที่ต้องการเก็บไปอยู่ในที่ที่เราไม่เห็น ไม่มีแรงกระตุ้นในการใช้

เงินที่ไม่เห็น = เงินที่ไม่ได้ใช้

หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้คนใช้เงินเก่งไม่มีเงินเหลือเก็บตามเป้าหมาย และรู้สึกว่าหาเงินเท่าไรก็ไม่พอเพราะหวังจะเก็บเงินที่เหลือจากการใช้จ่าย 

แต่ความเป็นจริงสิ่งที่ควรทำคือหักเงินที่ต้องการเก็บออกไปเป็นอันดับแรกหลังมีรายรับ ตามสมการ “รายได้-เงินออม = รายจ่าย” 

การเก็บก่อนใช้ จะต้องมีกฎว่า “ห้ามยุ่ง” กับเงินก้อนนี้เป็นอันขาดจนกว่าจะเกิดเหตุการณ์ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ เช่น ตั้งใจเก็บเงิน 100,000 บาท ในปลายปีนี้ ทุกครั้งที่มีรายได้จะหักเงิน 20-30% ออกเพื่อเก็บทันทีก่อนนำไปใช้จ่าย และจะไม่ยุ่งกับเงินก้อนนี้เลยจนกว่าจะถึงปลายปีและใช้ตามเป้าหมายที่คิดไว้ตอนแรกเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม สามารถปรับลดเป้าหมายต่ำลงตามรายได้และภาระที่มี แบบค่อยเป็นค่อยไป อาจจะเริ่มที่ปีละ 10,000 30,000 หรือ 50,000 บาทก่อนเพื่อฝึกวินัยก็ทำได้ตามสะดวก 

 เทคนิคที่ 2 : เก็บเงินไว้ในที่ ที่เอาออกยาก 

จากเทคนิคแรก หลายคนเคยทำแล้วแต่ตกม้าตายเพราะรู้ว่าตัวเองมีเงินอยู่ในบัญชีและเอาออกมาใช้ตอนยังไม่ถึงเส้นชัยทุกครั้ง ฉะนั้นเมื่อหักเงินมาเก็บก่อนใช้ได้แล้ว ลองหาที่พักเงินไว้แบบที่เอาออกไปใช้ได้ยาก เพื่อลดความคล่องตัว โดยอาจทำได้หลายวิธี เช่น

บัญชีออมทรัพย์ปิดตาย ไม่มีบัตร ไม่มี e-banking ยังคงเป็นการเก็บเงินสุดคลาสสิกที่เป็นทางเลือกสำหรับคนที่เริ่มต้นการออม ที่ช่วยหักห้ามการถอนมาใช้ได้ในระดับหนึ่ง และสามารถสะสมเงินง่ายๆ เพียงโอนเข้าไว้ในบัญชีนั้นๆ ทุกเดือน

บัญชีฝากประจำ บัญชีฝากประจำของแต่ละธนาคารจะมีเงื่อนไขในการฝากเงินเป็นประจำสม่ำเสมอ ที่ช่วยให้ไม่เผลอเอาเงินออกมาใช้ และมีผลตอบแทนเฉลี่ยประมาณ 1-2% ขยับขึ้นมาจากการฝากออมทรัพย์ธรรมดาเล็กน้อย 

อย่างไรก็ดี ต้องดูรายละเอียดการฝากประจำ (บางประเภท) ที่จะมีการเรียกเก็บภาษี และปลอดภาษีเพื่อบริหารให้เหมาะกับเป้าหมายของตัวเองด้วย

- ซื้อสลากออมทรัพย์ สลากออมทรัพย์คือการออมเงินประเภทหนึ่งที่มีการให้ผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ยตามที่ตกลงคล้ายกับการฝากประจำ (ขึ้นอยู่กับประเภทสลาก) ความพิเศษของการซื้อสลากออมทรัพย์ คือมีโอกาส "ลุ้นหวย" หรือลุ้นถูกรางวัลตามเลขบนสลากที่เราซื้อ ทำให้มีโอกาสลุ้นเป็นเศรษฐีระหว่างที่ฝากเงินด้วย

โดยการซื้อสลากจะช่วยให้เก็บเงินอยู่กว่าการออมแบบธรรมดาเพราะมีกำหนดระยะเวลาไถ่ถอน เช่น 1 ปี 3 ปี ฯลฯ ซึ่งจะทำให้ตอนครบเวลาฝาก เราจะได้รับเงินก้อนที่เป็นเงินต้นที่ซื้อไว้คืนทั้งหมดรวมกับดอกเบี้ยตลอดระยะเวลาที่ฝากด้วย

 เทคนิคที่ 3 : หัดลงทุน 

การ "ลงทุน" คือโอกาสที่ทำให้เงินที่มีอยู่งอกเงยขึ้นมากกว่าดอกเบี้ยเงินฝากประเภทต่างๆ ที่ต้องแลกมากับ "ความเสี่ยง" ตามมา ส่วนจะเสี่ยงมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับสินทรัพย์ที่ลงทุน

ซึ่งปัจจุบันมีการลงทุนที่หลากหลาย และเข้าถึงง่ายผ่านสมาร์ทโฟน โดยการลงทุนเบื้องต้นที่แนะนำสำหรับคนที่ไม่เคยลงทุนมาก่อน และต้องการเก็บเงินให้ค่อยๆ งอกเงย คือ "กองทุนรวม

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: 

 

กองทุนรวม คือการใส่เงินลงทุนเข้าไปในกองทุนที่คนมีผู้เชี่ยวชาญหรือผู้จัดการกองทุน ช่วยบริหารจัดการให้ ตามนโยบายที่แจ้งไว้กับนักลงทุน ซึ่งในแต่ละกองทุนก็จะไปลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ อีกทอดหนึ่งโดยส่วนใหญ่จะกระจายหลายสินทรัพย์  ซึ่งจะมีโอกาสได้รับผลตอบแทน 1-12% (ขึ้นอยู่กับสินทรัพย์ที่ลงทุน และปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ณ เวลาที่ลงทุน) ซึ่งมีโอกาสปั้นเงินก้อนให้ถึงเป้าที่ตั้งไว้ แบบออกแรงน้อยลง  

เช่น อยากมีเงิน 1 แสนบาท ใน 1 ปี หากออมเงินในกระปุกจะต้องเก็บเงินเฉลี่ยเดือนละ 8,333 บาท จึงจะครบแสน

แต่หากนำเงินไปลงทุนกองทุนรวม 1 ปี จะใช้เงินต้นที่น้อยลงเนื่องจากผลตอบแทนที่ได้รับจากการลงทุนจะเข้ามาเติมเต็ม เช่น ถ้าเราลงทุนในกองทุนเดือนละ 8,000 บาท แล้วได้รับผลตอบแทนเฉลี่ย 5% ต่อปี ก็มีโอกาสจับเงิน 100,800* บาท เนื่องจากมีดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นมา 4,800 บาทนั่นเอง

(*คำนวณโดยโปรแกรมคำนวณเงินออม โดย ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน หรือ ศคง.)

อย่างไรก็ตาม ไม่ได้ขายฝันว่านี่คือสูตรสำเร็จที่ใครๆ ทำแบบนี้ก็ได้ผลลัพธ์เหมือนกันทั้งหมด เนื่องจากกองทุนรวมคือการลงทุนประเภทหนึ่งที่มีโอกาสขาดทุนได้เช่นกัน ฉะนั้น สำหรับใครที่กำลังหาวิธีออมเงินให้งอกเงย ลองศึกษาข้อมูลให้เข้าใจและ "หัดลงทุน" กันเลย