“สุพัฒนพงษ์”ชี้งานเศรษฐกิจรัฐบาลมาถูกทาง   ปัจจัยญี่ปุ่นมั่นใจลงทุนไทย

“สุพัฒนพงษ์”ชี้งานเศรษฐกิจรัฐบาลมาถูกทาง    ปัจจัยญี่ปุ่นมั่นใจลงทุนไทย

“สุพัฒนพงษ์” ปลื้มนักลงทุนญี่ปุ่นมั่นใจปักหลักลงทุนไทย ชี้นักลงทุนเข้าใจปัจจัยภายใน สศช.ชี้นโยบายอุตฯเป้าหมายมาถูกทาง ความเชื่อมั่นลงทุนในอีอีซีพุ่ง ปัจจัยกระจายฐานการผลิตหนุน สอท.แนะรัฐบาลเร่งโรดโชว์ดึง EV - อุตฯไฮเทคลงทุน

เมื่อเร็วๆนี้ หอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ(JCCB) เผยแพร่ผลสำรวจแนวโน้มทางเศรษฐกิจของบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นในประเทศไทย ประจำครึ่งปีหลังพ.ศ. 2564 โดยปีนี้ ผลสำรวจระบุถึงทิศทางเศรษฐกิจไทยปี 2565 ว่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นจากที่ในปี 2564 มีแนวโน้มลดลง 

สุพัฒนพงษ์ ​พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงผลสำรวจความคิดเห็นของนักลงทุนญี่ปุ่นที่อยู่ในประเทศไทย ว่านักลงทุนญี่ปุ่นในประเทศไทยมองว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในครึ่งแรกของปี 2565 เป็นบวกค่อนข้างมา และถือว่าเป็นมุมมองที่ดีที่สุดในรอบ 7 ปีสะท้อนถึงความเชื่อมั่นที่เกิดขึ้นดีขึ้นกว่าเดิมมาก

โดยสิ่งที่นักลงทุนญี่ปุ่นพอใจและเชื่อมั่นในประเทศไทยอย่างมากคือเรื่องคุมการระบาดของโควิด-19 ที่ไทยทำได้ดี เรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจในโครงการต่างๆ การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆที่มีความคืบหน้ามากขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนยังมั่นใจที่จะลงทุนในประเทศไทยเป็นหลัก

อย่างไรก็ตาม แม้วันนี้มุมมองของนักลงทุนที่อยู่ในไทยมองและเห็นโอกาสทางเศรษฐกิจ แต่ต้องยอมรับว่าวิกฤติยังอยู่ และเศรษฐกิจไทยอาศัยการท่องเที่ยวและการบริการเป็นหลัก ดังนั้นการที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตัดสินใจเปิดประเทศด้วยความระมัดระวัง พยายามจะเพิ่มรายได้กลับเข้ามาสู่ประเทศให้กลับมาสู่ปกติโดยเร็วที่สุด พร้อมให้มีการลงทุนให้มากที่สุด เพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤติเหล่านี้ไปให้ได้ด้วยความหวังให้คนไทยกลับมามีชีวิตที่ปกติสุขหรือดีกว่าเดิม นี่คือความตั้งใจและทำเต็มที่

“สุพัฒนพงษ์”ชี้งานเศรษฐกิจรัฐบาลมาถูกทาง    ปัจจัยญี่ปุ่นมั่นใจลงทุนไทย

หากถามว่าจะทำงานร่วมกับรัฐบาลต่อเนื่องไปอีกหรือไม่นั้นที่ผ่านมาได้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ ซึ่งเรื่องเศรษฐกิจและปากท้องประชาชน รัฐบาลทำดีที่สุดภายใต้กรอบกติกาและสถานการณ์ของไทยในขณะนี้  จึงอยากให้สื่อเข้าใจว่าเหตุการณ์ปัจจุบันที่ไทยเพิ่งผ่านวิกฤติครั้งสำคัญซึ่งวิกฤติที่ว่านี้ถ้าหมดสิ้นไปแล้วแต่ประเทศยังกลับสู่ภาวะปกติไม่ได้นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ขณะนี้วิกฤติยังไม่หมดไป ก็ต้องประคับประคองสถานการณ์ให้มีโอกาสและแนวโน้มที่ดีขึ้น

“ คิดว่าเรามาในจุดที่เรียกว่าความมั่นใจสูงขึ้น มองประเทศไทยในมุมมองของคนต่างประเทศ ได้เห็นว่ามีแนวโน้มเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาเขาก็พอใจและเป็นเรื่องที่มาถูกทาง นักลงทุนเขาเข้าใจเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นจากปัจจัยภายนอก แต่ปัจจัยภายในที่เขาดูและโอกาสในการลงทุนเขาเห็นว่ามันเป็นบวกและสูงที่สุดในระยะเวลา 7-8 ปีที่ผ่านมา”

ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่าผลการสำรวจของหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯซึ่งสำรวจนักธุรกิจและนักลงทุนญี่ปุ่นที่ลงทุนในประเทศไทยถือว่าเป็นข่าวดีที่มีความเชื่อมั่นและมุมมองที่เป็นบวกต่อเศรษฐกิจไทย และมีแผนที่จะเข้ามาลงทุนเพิ่มเติมรวมทั้งขยายการลงทุนเพิ่มเติมจากที่มีการลงทุนอยู่แล้ว

ทั้งนี้ การลงทุนในไทยที่จะเพิ่มขึ้นของนักลงทุน และธุรกิจญี่ปุ่นเกิดขึ้นสอดคล้องกับแนวโน้มการลงทุนจากทั่วโลกที่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และบริษัทชั้นนำมีการกระจายฐานการผลิต และลดความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์หรือความขัดแย้งกันระหว่างชาติมหาอำนาจซึ่งการมีฐานการผลิตเดียวถือว่าเป็นความเสี่ยง และบริษัทขนาดใหญ่จำนวนมากได้เลือกพื้นที่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA) รองรับการลงทุน ซึ่งเดิมมีการเลือกระหว่างไทยกับเวียดนาม แต่แนวโน้มที่เกิดขึ้นในขณะนี้มีแนวโน้มที่จะเข้ามาลงทุนในไทยมากกว่า

 

“นโยบายการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ในพื้นที่อีอีซีของไทยถือว่าเดินมาถูกทาง โดยอีอีซีถือว่าเป็นที่รู้จักของนักลงทุนจำนวนมาก อย่างในผลสำรวจของหอการค้าญี่ปุ่นพบว่าในการตัดสินใจที่จะลงทุนในพื้นที่อีอีซีในกลุ่มนักลงทุนญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นจากประมาณ 10% เป็นกว่า 40% ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สูงขึ้นมาก”

สุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) กล่าวว่า ความเชื่อมั่นของนักธุรกิจญี่ปุ่นในเรื่องของการลงทุนในประเทศเป็นส่วนที่ดีช่วยสร้างความเชื่อมั่นในประเทศไทยได้ว่านักลงทุนหลักคือนักลงทุนญี่ปุ่นยังให้ความเชื่อมั่นใจเศรษฐกิจ และการเติบโตของไทย

ในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด -19 รัฐบาลควรเร่งรัดการโรดโชว์ทำความเข้าใจนโยบายต่างๆ โดยเฉพาะในส่วนของอุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลต้องการเร่งรัดให้เกิดการลงทุน เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) สมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ต้องเร่งไปเดินหน้าประชาสัมพันธ์เชิญชวนดึงการลงทุนเพิ่มขึ้นหลัง จากที่ก่อนหน้านี้ในช่วงโควิดระบาดการเชิญชวน และชักจูงการลงทุนอาจจะทำได้จำกัดและผ่านช่องทางออนไลน์เป็นส่วนใหญ่

“ความเชื่อมั่นในผลการสำรวจที่ออกมาซึ่งนักลงทุนญี่ปุ่นมีความเชื่อมั่นประเทศไทยเพิ่มขึ้นและเห็นทิศทางการเดินหน้าอุตสาหกรรมที่จะมีการส่งเสริมในอนาคตจึงเป็นช่วงเวลาที่จะเร่งโรดโชว์ของรัฐบาลเพื่อดึงการลงทุนเหล่านี้เข้ามาประเทศโดยเร็ว”

สำหรับผลสำรวจเรื่ององความสนใจที่มีต่อการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC พบว่า มี 11บริษัทหรือ 2% เท่านั้นที่มี่แผนอย่างเป็นรูปธรรมที่จะลงทุนในพื้นที่ EEC ภายใน 3 ปีนี้ ส่วน 204 บริษัท หรือ 40% ระบุว่า บริษัทสนใจที่จะลงทุนในพื้นที่EEC แต่ยังไม่มีแผนการลงทุนอย่างเป็นรูปธรรม และ 289 บริษัท หรือ 57% ตอบว่า ไม่ใช่ทั้งสองตัวเลือก