กองทุนอีอีซียกระดับชุมชน “ฟ้าทะลายโจร” เพิ่มรายได้

กองทุนอีอีซียกระดับชุมชน “ฟ้าทะลายโจร” เพิ่มรายได้

กองทุนอีอีซี จับมือ ม.บูรพา ยกระดับพืชเกษตรสมุนไพร ด้วยงบ 43 ล้านบาท ผ่านโครงการพัฒนายาจากสารสกัดพืชสมุนไพรและส่งเสริมการปลูกแบบครบวงจรในพื้นที่อีอีซี

โครงการสนับสนุนพัฒนายาจากสารสกัดพืชสมุนไพรที่ได้รับส่งเสริมการปลูกในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC Herbal Medicine Academic Centre เป็นหนึ่งในโครงการด้านการพัฒนาพื้นที่ 

ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ร่วมมือกับคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ กองทุนอีอีซี ด้วยงบประมาณ 43 ล้านบาท จัดตั้งศูนย์ผลิตยาจากพืชเกษตรสมุนไพร ศูนย์วิเคราะห์สาระสำคัญของพืชสมุนไพรที่มีมาตรฐาน และศูนย์การเรียนรู้การพัฒนาพืชสมุนไพร 

โครงการดังกล่าวจะมีการสร้างโรงงานผลิตยาจากพืชสมุนไพร โดยเริ่มจากสมุนไพร “ฟ้าทะลายโจร” ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการในตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ เนื่องจากเป็นหนึ่งในยาที่ใช้กับผู้ป่วย “โควิด-19” เนื่องจากพบสารแอนโดรกราโฟไลด์ที่ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันไวรัสที่ทำให้เกิดการติดเชื้อทางเดินหายใจและใช้รักษาโรคอื่น เช่น แก้ไข้ เจ็บคอ ท้องเสีย รวมทั้งหลังจากนั้นจะได้มีการพัฒนาสมุนไพรชนิดอื่นเพิ่มเติม เช่น กัญชง กัญชา ใบกระท่อม ขมิ้นชัน กระชายขาว พลูคาว เป็นต้น 

มหาวิทยาลัยบูรพาทำหน้าที่เป็นส่วนกลางเกษตรกรรมครบวงจร รับวัตถุดิบที่มีคุณภาพมาแปรรูปเป็นยาสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพรอื่น รวมทั้งให้ความรู้การปลูกพืชสมุนไพรให้ได้คุณภาพตรงกับความต้องการของตลาด โดยดำเนินการในพื้นที่สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) 

ทั้งนี้ ส.ป.ก.ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงกับ สกพอ.เพื่อร่วมกันศึกษาโมเดลธุรกิจที่เหมาะสม เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาพืชสมุนไพรอย่างมีประสิทธิภาพและครบวงจรในพื้นที่ ส.ป.ก.ในอีอีซี เพื่อให้มีคุณภาพมาตรฐานสากลตั้งแต่การเพาะปลูกไปจนถึงการทำตลาด ภายในระยะเวลา 2 ปี ตามอายุของข้อตกลง 

ทั้งนี้ ได้ตั้งเป้าให้มีการผลิตยาจากพืชสมุนไพรตามมาตรฐานจีเอ็มพี และอาเซียน จีเอ็มพี ด้วยกำลังผลิต 300,000 แคปซูลต่อวัน ผลิตยาสมุนไพรจากใบแห้งฟ้าทะลายโจร จำนวน 1,000 กิโลกรัม ที่มีปริมาณสารแอนโดรกราโฟไลด์ 20 มิลิกรัม ประมาณ 1.5 ล้านแคปซูล นอกจากนี้ ศูนย์วิเคราะห์สมุนไพรต้องผ่านมาตรฐาน ISO/IEC 17025 

เพ็ชร ชินบุตร กรรมการและเลขานุการผู้บริหารกองทุนอีอีซี กล่าวว่า โครงการดังกล่าวต้องการสร้างนวัตกรรมจากภูมิปัญญาไทย ส่งเสริมให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่เกษตรกรและผู้ประกอบการระดับวิสาหกิจชุมชนได้พัฒนา มีโอกาสในการสร้างรายได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน เพื่อให้ประชาชนมียาสมุรไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มีคุณภาพมาตรฐานอย่างเพียงพอสำหรับบำบัดโรค รวมทั้งเพิ่มศักยภาพในการผลิตยาสมุนไพรที่มีคุณภาพมาตรฐาน สามารถรองรับผลผลิตจากเกษตรกรและความต้องการในประเทศ

ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2563-2564 กองทุนอีอีซี ได้อนุมัติแผนงบประมาณและดำเนินงานภายใต้กรอบวงเงิน 100 ล้านบาท ผ่าน 7 โครงการ โดยจัดสรรออกเป็น 3 ส่วน ประกอบด้วย ด้านการพัฒนาพื้นที่ 61.2 ล้านบาท คิดเป็น 61% ด้านการศึกษา 36.4 ล้านบาท คิดเป็น 37% และด้านบริหารกองทุน 2.3 ล้านบาท คิดเป็น 2%

กองทุนอีอีซียกระดับชุมชน “ฟ้าทะลายโจร” เพิ่มรายได้ สำหรับปีงบประมาณ 2564-2565 ได้รับการจัดสรรงบ 40 ล้านบาท โดยจะมีการดำเนินงานขยายผลจากโครงการเดิม อาทิ 

โครงการบัณฑิตอาสาต้นแบบ ซึ่งเป็นโครงการจ้างงานบัณฑิตจบใหม่ว่างงานให้ช่วยพัฒนาชุมชน โดยการลงพื้นที่ชุมชนจริงเพื่อสำรวจและเก็บรวบรวมข้อมูลประชากรและความต้องการของคนในพื้นที่ เป็นฐานข้อมูเพื่อนำมาพัฒนาโครงการพัฒนาชุมชน ถือเป็นต้นแบบการสร้างงานและสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนกลับมาทำงานเพื่อพัฒนาท้องถิ่นตัวเอง 

นอกจากนี้โครงการนี้ยังต่อยอดในระยะที่ 2 ให้บัณฑิตอาสาต้นแบบที่ได้รับการจ้างงานได้ลงพื้นที่พัฒนาชุมชนอย่างต่อเนื่อง และสามารถเก็บชั่วโมงในการลงพื้นที่เป็นหน่วยกิตสะสมในการศึกษาต่อระดับปริญญาโท ในหลักสูตร คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

โครงการพัฒนาสมรรถนะการจัดการโรงเรียนต้นแบบการใช้ภาษาต่างประเทศ พัฒนากลุ่มครูและนักเรียนในพื้นที่อีอีซี โดยการยกระดับการเรียนภาษาอังกฤษและจีนที่มีประสิทธิภาพด้วยเทคนิคและสื่อการสอนที่ทันสมัย รวมทั้งการสร้างสภาพแวดล้อมความเป็นนานาชาติระหว่างการเรียน เพื่อสร้างเยาวชนให้มีงานมั่นคงในอนาคตและสร้าง “เครือข่ายครูต้นแบบ” รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนากำลังคนให้ได้มาตรฐานสากล

โครงการส่งเสริมการเรียนรู้และการพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืน และยกระดับการเรียนรู้เพื่อนำไปสู่ DQ Citizenship ในชุมชนพื้นที่ 5G เป็นการจัดอบรมนักธุรกิจ ผู้ประกอบการร้านค้า รวมถึงองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อการเพิ่มขีดความสามารถในการใช้เทคโนโลยี ก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจดิจิทัลในอีอีซี

“สำหรับงบกองทุนอีอีซีปี 2566 ตั้งไว้ว่าจะขอ 300 ล้านบาท เสนอสำนักงบประมาณในช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย.นี้ เพื่อดำเนินการขยายผลโครงการต่างๆ ให้เกิดการกระจายรายได้สู่ชุมชน ลดความเหลื่อมล้ำของเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนภายในพื้นที่อีอีซี”