ผลสำรวจ“หอการค้าญี่ปุ่น” หวังปี65ธุรกิจพ้นปากเหว

ผลสำรวจ“หอการค้าญี่ปุ่น”   หวังปี65ธุรกิจพ้นปากเหว

ญี่ปุ่นเป็นนักลงทุนอันดับหนึ่งทั้งด้านจำนวนและมูลค่า ดังนั้น มุมมองจากผลสำรวจของนักธุรกิจญี่ปุ่นจึงมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย “หอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ” หรือ JCCB ซึ่งมีสมาชิกเป็นบริษัทญี่ปุ่นในไทยจำนวน 1,646 ราย

ได้ทำการสำรวจแนวโน้มทางเศรษฐกิจของบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นในไทย เป็นประจำทุกปี ปีละ 2 ครั้ง และดำเนินการมานานถึง 51 ปีแล้ว 

สำหรับผลสำรวจครั้งล่าสุด ดำเนินการจัดทำขึ้นเมื่อ 30 พ.ย.-23 ธ.ค. 2564 มีจำนวนผู้ตอบกลับ 541 ราย พบว่า ค่าดัชนีแนวโน้มเศรษฐกิจ (DI) ครึ่งปี 2565 (คาดการณ์) อยู่ที่ 41 ซึ่งเป็นสัดส่วนค่าดัชนีที่สูงกว่า ครึ่งหลังปี 2564 ซึ่งอยู่ที่ 14 เป็นผลจากผู้ประกอบการญี่ปุ่นคาดหวังว่า อุปสงค์ภายในประเทศจะฟื้นตัวและปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบและชิ้นส่วนจะได้รับการแก้ไขไปตามสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่คลี่คลายลง 

“ค่าดัชนีว่า ปี 2565 ครึ่งแรกอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างทิ้งห่างจากครึ่งหลังปี 2564 เนื่องจาก  บริษัทส่วนใหญ่ตอบว่าสภาพธุรกิจจะดีขึ้น ถึง 53%  สภาพธุรกิจจะไม่เปลี่ยนแปลงที่ 35% และ ปรับตัวแย่ลง 12% จึงสามารถหาค่าดัชนีได้ที่ 41 ขณะที่ผลสำรวจครึี่งหลังปี 2564 พบว่า 45% ตอบว่าธุรกิจจะดีขึ้น  24% ตอบว่า ไม่เปลี่ยนแปลง แต่มีสัดส่วนถึง 31% ที่ตอบว่าปรับตัวแย่ลง "รายงานระบุ       

ผลสำรวจ“หอการค้าญี่ปุ่น”   หวังปี65ธุรกิจพ้นปากเหว

สำหรับสาเหตุที่ธุรกิจมองว่าปี 2564 สภาพธุรกิจไม่ค่อยดีนัก มาจากปัจจัยหลายประการ เช่น ผลกระทบของโควิด-19, การขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลก รวมถึงราคาวัตถุดิบและชิ้นส่วนที่พุ่งสูงขึ้น

“โควิดยังเป็นปัจจัยต้นทางหลังของธุรกิจที่จะประเมินว่าธุรกิจจะดีขึ้นหรือแย่ลง ดังนั้น เมื่อผลสำรวจถามถึงเรื่องผลกระทบโควิดพบว่า ครึ่งปี 2564ส่วนใหญ่ หรือ 35% ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด ได้รับผลกระทบเชิงยอดขายตั้งแต่ 5% ขึนไป แต่ไม่ถึง 20% ”

อย่างไรก็ตาม นอกจากปัญหาโควิดแลว ก็พบว่า ธุรกิจในยุคปัจจุบันนี้ ประเมินว่าปัญหาลำดับต้นๆที่องค์กรต้องเผชิญ คือ เรื่องราคาวัตถุดิบและชิ้นส่วนเพิ่มสูงขึ้น โดยผู้ตอบแบบสำรวจส่วนใหญ่ 65% หรือ 345 บริษัทบอกว่าเผชิญปัญหานี้อยู่ ส่วนปัญหารองลงมาคือ การแข่งขันกับบริษัทอื่นรุนแรงขึ้น สัดส่วน 64% หรือ 340 บริษัทและปัญหาค่าใช้จ่ายด้านโลจิสติกส์เพิ่มสูงขึ้น สัดส่วน 44% หรือ 235บริษัท 

จากปัญหาและสภาพธุรกิจที่ธุรกิจต้องเผชิญอยู่นำไปสู่การเรียกร้องให้รัฐบาลไทยในฐานะเจ้าบ้านเร่งดำเนินการ พบว่า อยากเรียกร้องให้รัฐบาลไทยดำเนินการตามมาตรการรองรับผลกระทบจากโรคโควิด-19 สัดส่วน50% ที่มองว่าเป็นประเด็นที่บริษัทต่างๆต้องการร้องขอต่อรัฐบาลไทยมากที่สุด

ส่วนประเด็นรองลงมาได้แก่ การส่งเสริมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ  เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการสาธารณูปโภค สัดส่วน 45% และการพัฒนาปรับปรุงระบบและการบังคับใช้ระบบศุลกากรและพิธีการศุลกากร สัดส่วน  38%

 หากมองไปในอนาคตผลสำรวจได้สอบถามถึงคาดการณ์ต่อกิจกรรมทางธุรกิจในอนาคต พบว่า เมื่อคำนึงถึงผลกระทบจาก

โรคโควิด-19 บริษัทผู้ตอบแบบสำรวจส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าจะ คงขนาดกิจการปัจจุบัน 65%  มากที่สุด ในขณะที่28% ระบุว่าจะขยายกิจการ อย่างไรก็ตาม  4% คาดว่าจะลดขนาดกิจการ

ดังนั้น เพื่อให้ความสัมพันธ์ทางธุรกิจเดินหน้าต่อไป นักธุรกิจญี่ปุ่นมีมุมมองเรื่องสภาพแวดล้อมทางการลงทุน ว่า ควรมีการปรับปรุงให้ดีขึ้นในด้านต่างๆ ได้แก่  มาตรการรองรับผลกระทบจากโรคโควิด-19 สัดส่วน  38%  ซึ่งเป็นประเด็นที่มีบริษัทเลือกตอบมากที่สุด ตามด้วย การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งในเขตกรุงเทพฯและ ปริมณฑล31%

ผลสำรวจมุมมองของภาคธุรกิจญี่ปุ่นในไทยนี้พอจะชี้ได้ว่าปี2565 เป็นปีแห่งความหวังแต่จะสมหวังหรือไม่ เป็นหน้าที่ของทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันทำงานอย่างเต็มที่เพราะอย่างน้อยก็มีผลสำรวจนี้เป็นตัวช่วยการทำงานอีกทางหนึ่ง