ครม.เคาะกรอบบัตรคนจน 20 ล้านคน เตรียม 6 หมื่นล้านอุดหนุนสวัสดิการแห่งรัฐ

ครม.เคาะกรอบบัตรคนจน 20 ล้านคน เตรียม 6 หมื่นล้านอุดหนุนสวัสดิการแห่งรัฐ

ครม.เคาะเกณฑ์ลงทะเบียนบัตรสวัสดิการรัฐปี 65 เป้าหมาย 20 ล้านคน ตัดสิทธิผู้มีบัตรเครดิต  เริ่มใช้สิทธิ์ 1 ต.ค.นี้ “คลัง” ตั้งงบ 6 หมื่นล้านจ่ายสวัสดิการ คาดลงทะเบียนจริง 17 ล้านคน ชี้โควิดดันยอดคนจนพุ่ง “ทีดีอาร์ไอ” แนะใช้กลไกท้องถิ่นตรวจสอบผู้ควรได้สิทธิ์

 

โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่มีจุดเริ่มต้นแนวคิดเกิดจากรัฐบาลต้องการผลักดันยุทธศาสตร์ National e-Payment ซึ่งมุ่งการโอนเงินสวัสดิการแห่งรัฐผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบการให้ความช่วยเหลือผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเมื่อปี 2560 โดยกำหนดหลักเกณฑ์ให้สวัสดิการกับผู้มีรายได้ไม่เกินปีละ 100,000 บาท

ในเดือน ม.ค.2565 มีผู้รับสิทธิ์ในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 13.45 ล้านคน ซึ่งจะได้รับเงินซื้อสินค้าเดือนละ 200-300 บาท ซึ่งในช่วงโควิดได้เพิ่มเงินอีกเดือนละ 200 บาท ในเดือน ก.พ.-เม.ย.2565 รวมทั้งได้ลดค่าก๊าซหุงต้ม 45 บาทต่อ 3 เดือน , ค่าโดยสารรถ บขส.เดือนละ 500 บาท , ค่าโดยสารรถไฟเดือนละ 500 บาท , ค่าขนส่งสาธารณะเดือนละ 500 บาท

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (1 ก.พ.) เห็นชอบโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐปี 2565 และเห็นชอบร่างประกาศ คณะกรรมการเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลการดำเนินงานและความคุ้มค่าในการจัดประชารัฐสวัสดิการ เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายรวมทั้งช่วยกลุ่มตกหล่นให้เข้าถึงโครงการ โดยมีกลุ่มเป้าหมาย 20 ล้านคน ครอบคลุมผู้ถือบัตรเดิมและผู้เข้าข่ายได้รับสิทธิรายใหม่

ทั้งนี้ จะเริ่มใช้สิทธิได้วันที่ 1 ต.ค.2565 โดยกำหนดคุณสมบัติผู้ลงทะเบียน คือ ผู้มีสัญชาติไทย อายุ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป โดยมีรายได้ไม่เกินปีละ 100,000 บาท/คน และรายได้เฉลี่ยของครอบครัวของผู้ลงทะเบียนไม่เกินปีละ 100,000 บาท และผู้ลงทะเบียนต้องไม่มีวงเงินกู้ หรือมีวงเงินกู้ ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง แต่ไม่เกินหลักเกณฑ์ เช่น วงเงินกู้สำหรับที่อยู่อาศัยรวมไม่เกิน 1.5 ล้านบาท และวงเงินกู้สำหรับยานพาหนะรวมไม่เกิน 1 ล้านบาท รวมทั้งไม่มีกรรมสิทธิ์อสังหาริมทรัพย์ ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง และไม่มีบัตรเครดิต

โควิดดันยอดคนจนเพิ่มขึ้น

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กระทรวงการคลังรายงาน ครม.ถึงการเปิดลงทะเบียนรอบใหม่เป็นการปรับปรุงฐานข้อมูลที่มีก่อนโควิด-19 ในปี 2562 ซึ่งลงทะเบียนไว้ตั้งแต่ปี 2559-2561 โดยที่ผ่านมามีกลุ่มตกหล่นและโควิด-19 กระทบประชาชนทำให้ข้อมูลที่มีอยู่ไม่สะท้อนผู้มีรายได้น้อย

สำหรับผู้ได้รับสิทธิจากโครงการฯ ปี 2565 จะใช้บัตรประจำตัวประชาชนแทนบัตรสวัสดิการฯ เนื่องจากบัตรสวัสดิการฯ ที่ได้เริ่มใช้งานตั้งแต่เดือน ต.ค. 2560 มีอายุการใช้งาน 5 ปี และจะหมดอายุในเดือน ก.ย. 2565 ซึ่งจะช่วยประหยัดต้นทุนในการผลิตบัตรสวัสดิการฯ ใหม่ ประมาณ 1,258 ล้านบาท อีกทั้งลดปัญหาเรื่องการสวมสิทธิบัตรประจำตัวประชาชนหรือการนำบัตรประจำตัวประชาชนของบุคคลอื่นไปใช้ สิทธิแทน และช่วยลดการทุจริต เช่น กรณีร้านค้าเก็บบัตรสวัสดิการไว้

คลังเตรียม 6 หมื่นล้านในปี 66

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ปีงบประมาณ 2566 คณะกรรมการกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากสังคม ตั้งงบประมาณสำหรับสวัสดิการผู้มีรายได้น้อย 60,000 ล้านบาท รองรับการใช้จ่ายสำหรับผู้ได้สิทธิรอบใหม่ โดยคาดว่าจะมีผู้ได้รับบัตรรอบใหม่ 17 ล้านคน แต่เปิดกรอบไว้ 20 ล้านคน จากปัจจุบัน 13.45 ล้านคน เพราะโควิด-19 ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้คนตกงานและไม่มีรายได้ แต่ระบบการคัดกรองที่เข้มงวดขึ้นเชื่อว่าจะทำให้มีผู้ที่สมควรได้รับสิทธิตัวจริงมากขึ้น

สำหรับช่วงเริ่มต้นโครงการปี 2560 มีผู้มาลงทะเบียน 18.76 ล้านคน ผ่านเกณฑ์ 14.6 ล้านคน ซึ่งระยะ 5 ปีที่ผ่านมา ไม่ได้เปิดลงทะเบียนแต่มีผู้ได้รับสิทธิลดลงจากการเสียชีวิต การยกเลิกบัตรจากการขาดคุณสมบัติ

“เรายังประเมินไม่ได้ชัดเจนว่าโครงการนี้สำเร็จหรือไม่ แต่ถือว่าเป็นไปในทางที่ดีเพราะตัวเลขคนจนที่ออกจากระบบก็มี แต่เพราะช่วงโควิดมีคนตกงานเยอะมาก และออกไปประกอบอาชีพอิสระมากขึ้น ฉะนั้นถ้าจะมีจำนวนถือบัตรคนจนเพิ่มก็มีความเป็นไปได้ เราจึงตั้งเป้าหมายคนจนเพิ่ม และการที่มีมาตรการเข้มงวดขึ้นเพื่อให้สวัสดิการรัฐไปถึงคนที่มีรายได้น้อยจริง” นายอาคม กล่าว

เข้มหลักเกณฑ์คัดกรอง

สำหรับคุณสมบัติเบื้องต้นของคนที่จะได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ยังคงเหมือนเดิม เช่น เป็นคนสัญชาติไทย ,อายุ 18 ปีขึ้นไป ,มีรายได้ต่อปีไม่เกิน 1 แสนบาท ,มีทรัพย์สินทางการเงิน เช่น เงินฝากในธนาคาร หรือพันธบัตรรัฐบาล ไม่เกิน 1 แสนบาท กรณีเป็นเจ้าของบ้านเดี่ยว ทาวเฮาส์ ห้องแถว ตึกแถว ต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 25 ตารางวา กรณีเป็นห้องชุดต้องไม่เกิน 35 ตารางเมตร

ทั้งนี้ ความแตกต่างในการลงทะเบียนเพื่อรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐครั้งนี้ คือ จะนำรายได้ของครอบครัวมาร่วมพิจารณาด้วย เช่น กรณี ครอบครัว ที่มีพ่อ แม่ และลูกที่มีอายุไม่เกิน 18 ปี รวม 3 คน พ่อ และแม่ จะต้องผ่านเกณฑ์การได้รับบัตรสวัสดิการดังกล่าวข้างต้น แล้วยังต้องนำรายได้ทั้งครอบครัวมารวมกัน แล้วหารสาม หากรายได้ครอบครัวเฉลี่ยไม่เกิน 1 แสนบาท ถือว่าผ่านเกณฑ์ได้รับบัตรสวัสดิการ

นอกจากนี้ ยังมีเกณฑ์อื่นที่ใช้กลั่นกรองคุณสมบัติ เช่น จะต้องไม่เป็นผู้ที่มีบัตรเครดิต ,ไม่เคยเดินทางไปต่างประเทศ ,ไม่มีประวัติซื้อขายหุ้น ,มีวงเงินกู้ซื้อบ้านไม่เกิน 1.5 ล้านบาท และมีวงเงินกู้เพื่อซื้อยานพาหนะไม่เกิน 1 ล้านบาท และไม่มีประวัติซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

“ทีดีอาร์ไอ”แนะใช้ท้องถิ่นร่วมสอบ

นายนนริฎ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่ หลักาเกณฑ์การลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรอบนี้ชัดเจนขึ้นในเงื่อนไขที่เป็นเรื่องดี เพราะจะคัดกรองคนที่ควรจะได้รับความช่วยเหลือ โดยการลงทะเบียนรอบก่อนหน้านี้มีกลุ่มคนยากจนตกหล่นกว่า 1 ล้านคน ขณะเดียวกันต้องกรองคนที่ไม่ควรได้สิทธิ์ออกไปด้วย เพราะบางคนมีรายได้และทรัพย์สินสูงกว่าเกณฑ์

ทั้งนี้หากรัฐคัดกรองผู้ร่วมโครงการให้ชัดเจนขึ้นต้องใช้เครื่องมือ เทคโนโลยีและกลไกท้องถิ่นมาช่วยเพื่อให้ยืนยันค้นหาคนจนที่แท้จริง

“จำนวนคนที่มีสิทธิ์ลงทะเบียน 20 ล้านคน นั้นคาดว่าเป็นกรอบที่วางไว้ว่าไม่ให้เกินจำนวนนี้ เพราะส่วนหนึ่งตั้งกรอบไว้ให้ครอบคลุมช่วงสถานการณ์โควิด-19 แต่จำนวนในโครงการจะมากน้อยขนาดไหนขึ้นอยู่กับการคัดกรองคนที่สมัครเข้าร่วมโครงการซึ่งหากจะให้แม่นยำจริงๆต้องใช้เทคโนโลยี และกลไกในท้องถิ่นเข้ามาช่วยคัดกรอง”

เส่วนภาระต่องบประมาณระยะยาวต้องดูว่าการช่วยเหลือจะเป็นวงเงินเท่าไหร่ หากช่วยเหลือเดือนละ 500-1000 บาทต่อคน ต้องช่วยเหลือปีละ 1.2 แสนล้านบาท ถึง 2.4 แสนล้านบาท สำหรับการดูแลประชาชน 20 ล้านคน

ส่วนการฝึกอาชีพเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับผู้มีรายได้น้อยเป็นเรื่องที่ควรทำ โดยประสานงานกับภาคธุรกิจเพื่อให้สามารถสร้างอาชีพที่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานได้

คนละครึ่งเฟส4คึกคัก

นายอาคม กล่าวว่า โครงการคนละครึ่งที่เริ่มเปิดให้ลงทะเบียนสำหรับผู้ที่เคยอยู่ในโครงการคนละครึ่งเฟส 3 และให้ใช้จ่ายได้ทันที่หลังลงทะเบียนในวันที่ 1 ก.พ.นี้ ผลปรากฏว่า มียอดผู้ลงทะเบียนและการใช้จ่ายเข้ามาอย่างคึกคัก โดยในช่วงบ่ายของวันดังกล่าว มีผู้ลงทะเบียนถึง 16.45 ล้านคน มียอดใช้จ่าย 445 ล้านบาท แบ่งเป็น รัฐใช้จ่าย 220 ล้านบาท และ ประชาชนใช้จ่าย 225 ล้านบาท

สำหรับเหตุที่โครงการนี้มีความคึกคักส่วนหนึ่งเพราะโครงการนี้ได้หยุดมาเป็นระยะเวลาเกือบเดือน ประกอบกับ ช่วงเทศกาลตรุษจีน ทำให้ยอดการใช้จ่ายสินค้าและบริการ โดยเฉพาะในร้านอาหารมีความคึกคัก สังเกตได้จาก เมื่อมีการยืนยันตัวตนในช่วงเวลา 6.00 น.แล้วก็มีการใช้จ่ายทันที

ทั้งนี้ โครงการนี้ รัฐสนับสนุนวงเงินให้ผู้ได้รับสิทธิ 1,200 บาทต่อราย ระยะเวลาโครงการ 3 เดือน เริ่มก.พ.ถึง เม.ย.นี้ โดยผู้ได้รับสิทธิต้องใช้สิทธิหรือเริ่มใช้จ่ายภายในวันที่ 28 ก.พ.นี้ ไม่เช่นนั้น จะถูกตัดสิทธิทันที

ครม.ต่อลดสมทบ ม.40

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.เห็นชอบขยายระยะเวลาการลดอัตราเงินสมทบของผู้ประกันตนมาตรา 40 ที่ต้องจ่ายเข้ากองทุนประกันสังคม เป็นระยะเวลา 6 เดือน เริ่มตั้งแต่ 1 ก.พ.ถึง 31 ก.ค.2565 โดยมีอัตราส่งเงินสมทบภายหลังปรับลดลงทั้ง 3 ทางเลือก ได้แก่

1.ลดเงินสมทบเหลือ 42 บาท จากเดิม 70 บาท โดยได้ประโยชน์ทดแทนใน 3 กรณี คือ ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพและเสียชีวิต

2.ลดเงินสมทบเหลือ 60 บาท จากเดิม 100 บาท โดยได้ประโยชน์ทดแทนใน 4 กรณี คือ ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ เสียชีวิตและชราภาพ

3.ลดเงินสมทบเหลือ 180 บาท จากเดิม 300 บาท โดยได้ประโยชน์ทดแทนใน 5 กรณี คือ ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ เสียชีวิต ชราภาพและสงเคราะห์บุตร

“แม้การลดอัตราเงินสมทบผู้ประกันตนมาตรา 40 เป็นเวลา 6 เดือน จะทำให้กองทุนประกันสังคมได้รับเงินสมทบลดลง แต่กองทุนประกันสังคมยังคงมีเงินสมทบเพียงพอ สำหรับรายจ่ายประโยชน์ทดแทนให้ผู้ประกันตนตามมาตรา 40 และไม่กระทบสถานะกองทุนระยะยาว อีกทั้งช่วยให้ผู้ประกันตนมีกำลังซื้อมากขึ้นจะลดผลกระทบทางเศรษฐกิจในช่วงการระบาดของโรคโควิด”