จับตา! สมรภูมิ “รัสเซีย-ยูเครน” ส่อทำพิษเศรษฐกิจ ซ้ำเติมเงินเฟ้อทั่วโลก

จับตา! สมรภูมิ “รัสเซีย-ยูเครน” ส่อทำพิษเศรษฐกิจ ซ้ำเติมเงินเฟ้อทั่วโลก

สมรภูมิ "รัสเซีย-ยูเครน" ส่อทำพิษเศรษฐกิจ ผ่านราคาอาหารและพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น ซ้ำเติมระดับเงินเฟ้อทั่วโลก โดยคาดการณ์ว่าในครึ่งปีแรกจะทะยานขึ้นสูงถึงราว 7.2%

ประเด็นทางการเมืองระดับโลกที่น่าสนใจในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา คงหนีไม่พ้นข้อพิพาทระหว่างประเทศ “รัสเซีย” กับ “ยูเครน” ที่ทำเอาประเทศทั้งแถบยุโรปและสหรัฐต่างเดือดเนื้อร้อนใจ พร้อมเฝ้าระวังการบุกเข้าโจมตียูเครนของรัสเซีย

เหตุผลที่ทำให้หลายฝ่ายต่างเป็นกังวลกับการเข้าโจมตีของรัสเซีย เนื่องจากยูเครนถือเป็นดินแดนท่อน้ำเลี้ยงของคนในประเทศแถบยุโรป นอกจากนี้ ยูเครนยังเป็นดินแดนกันชนระหว่างรัสเซีย กับ “ยุโรป” จึงมีความกังวลว่าหากรัสเซียเข้ารุกรานยูเครน การสู้รบอาจไม่จบเพียงเท่านั้น แต่สมรภูมิรบอาจแผ่ขยายต่อมาถึงพื้นที่ในยุโรปด้วย 

แนวโน้มจากข้างต้น ทำให้ “สหรัฐ” ที่เป็นทั้งพันธมิตรของสหภาพยุโรปและคู่ปรับเก่ากับรัสเซียไม่อาจทนนิ่งอยู่ได้ โดยล่าสุดได้มีการส่งอาวุธช่วยเหลือทางยูเครน 

อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งทางการเมืองในสมรภูมินี้อาจส่งผลกระทบต่อคนทั้งโลก จากการเพิ่มสูงขึ้นของราคาอาหารและพลังงาน และความผันผวนที่เพิ่มขึ้นในตลาดการเงินการลงทุน ทั้งหมดนี้คือปัจจัยที่อาจสกัดการเติบโตของเศรษฐกิจโลกปี 2565

  ย้อนชนวนความขัดแย้ง ก่อสมรภูมิ “รัสเซีย-ยูเครน”  

ในอดีตยูเครนถูกผนวกให้เป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย หรือ “สหภาพโซเวียต” แต่ได้แยกตัวออกมาในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ทั้งสองประเทศก็ยังมีความสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น ไม่ว่าจะเป็นทั้งทางการเมือง สังคม และวัฒนธรรม 

อย่างไรก็ตาม ในระยะหลังยูเครนมีความต้องการสลัดตนออกจากอิทธิพลของรัสเซีย จึงนำมาซึ่งการพยายามเป็นพันธมิตรกับมหาอำนาจอื่น อาทิ สหภาพยุโรป (อียู) เพื่อมาคานอำนาจของรัสเซีย ซึ่งท่าทีดังกล่าวล้วนสร้างความไม่พอใจให้กับรัสเซียเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการแสดงความต้องการเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่ม “นาโต้” ที่มีสหรัฐเป็นพี่ใหญ่หนุนหลังอยู่  

รัสเซียแสดงจุดยืนอย่างชัดเจนว่าไม่ต้องการให้ยูเครนเข้าร่วมกลุ่มนาโต้ และมีข้อเรียกร้องที่สำคัญกับทางสหรัฐและสมาชิกกลุ่มนาโต้ว่า ยูเครนต้องไม่ได้รับการตอบรับเข้าเป็นสมาชิก เนื่องด้วยยูเครนถือเป็นพื้นที่ในขอบข่ายอิทธิพลของรัสเซีย แต่ท้ายที่สุดข้อเรียกร้องดังกล่าวก็ถูกปฏิเสธ จนเกิดเป็นชนวนก่อสมรภูมิรัสเซีย-ยูเครนในที่สุด

  คาดราคาอาหารและพลังงานพุ่งขึ้น ซ้ำเติมระดับเงินเฟ้อทั่วโลก  

เจ้าหน้าที่ระดับสูงในหน่วยข่าวกรองชาติตะวันตก ให้ความเห็นกับทางสำนักข่าวบีบีซีโดยไม่ขอเปิดเผยชื่อว่า หากรัสเซียเข้ารุกรานยูเครน สมรภูมิอาจแผ่ขยายเข้ามาในพื้นที่ยุโรปได้ 

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบที่ประเทศในยุโรปต้องเจออาจไม่ใช่แค่การกลายเป็นสมรภูมิรบ แต่ยังอาจต้องเผชิญกับราคาอาหารและราคาพลังงานที่จะปรับเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งการผลกระทบดังกล่าวนี้จะถูกส่งผ่านไปยังประเทศอื่นๆ ด้วย 

ที่เป็นเช่นนี้ เพราะยูเครนนับเป็นประเทศส่งออกพืชผลทางการเกษตรที่สำคัญของโลก โดยคาดว่าในฤดูกาลปี 2564/65 ยูเครนส่งออกข้าวโพดมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก และส่งออกข้าวสาลีเป็นอันดับ 4 ของโลก มากกว่านั้น สมรภูมิรัสเซีย-ยูเครนยังมีผลให้การส่งออกสินค้าจากท่าเรือทะเลดำเกิดความยากลำบาก ซึ่งจะมีผลให้ราคาสินค้า โดยเฉพาะสินค้าเกษตรพุ่งสูง ซ้ำเติมระดับเงินเฟ้อทั่วโลก

นอกจากนี้ ยุโรปยังพึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียเป็นสัดส่วน 35% จากทั้งหมด โดยส่วนใหญ่แล้ว ท่อส่งก๊าซของรัสเซียจะต้องผ่านยูเครน การต่อสู้ในสมรภูมิอาจมีผลให้เกิดความเสียหายกับโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง และการโต้ตอบทางการเมืองระหว่างสหรัฐกับรัสเซียอาจส่งต่อผลมายังยุโรป 

ทั้งหมดที่กล่าวไปจะมีผลให้ซัพพลายของก๊าซธรรมชาติลดลง ผลักให้ระดับราคาพลังงานทุกประเภทเพิ่มสูงขึ้น เมื่อราคาพลังงานสูงขึ้น ก็จะมีผลกระทบต่อเนื่องไปถึงต้นทุนของภาคการผลิตและต้นทุนค่าครองชีพของผู้คน 

ผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่ได้จำกัดวงเพียงแค่ประเทศในยุโรป เนื่องด้วยหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยที่ต้องจำยอมนำเข้าเงินเฟ้อ (Imported inflation) ผ่านราคาสินค้านำเข้าที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะสินค้าพลังงานอย่าง น้ำมัน ที่มีผลต่อการดำรงชีวิตของผู้คน และการดำเนินงานของอุตสาหกรรมต่าง ๆ    

ขณะที่ เจพี มอร์แกน (JPMorgan) คาดการณ์ว่า ราคาน้ำมันดิบอาจปรับตัวขึ้นถึงระดับ 150 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และมองว่าด้วยระดับราคาน้ำมันดังกล่าวจะทำให้เศรษฐกิจโลกในครึ่งปีแรกของ 2565 ขยายตัวต่ำลง 0.9% ขณะเดียวกัน ระดับเงินเฟ้อทั่วโลกจะทะยานขึ้นแตะที่ราว 7.2%

------------------------------------------
อ้างอิง 

บีบีซีไทย

NBC News

Reuters