พาณิชย์คาด ส่งออกต่อเนื่อง ดัน ตั้งธุรกิจใหม่ในอีอีซีปี 65 กว่า 6,500 ราย

พาณิชย์คาด ส่งออกต่อเนื่อง  ดัน ตั้งธุรกิจใหม่ในอีอีซีปี 65 กว่า 6,500 ราย

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ชี้ ส่งออกโตต่อเนื่อง ค่าเงินบาทอ่อน โอมิครอนไม่แรง ส่งผลดีต่อการจัดตั้งธุรกิจใหม่ในอีอีซีปี 65 เผย ยอดปี 64 จัดตั้งธุรกิจใหม่ในอีอีซี 6,698 ราย โต 9.73% ครองแชมป์ จัดตั้งธุรกิจใหม่มากสุด ขณะที่ญี่ปุ่นเป็นต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในอีอีซีมากที่สุด

นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า  กรมได้คาดการณ์ การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจในพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี ใน 3 จังหวัด คือ จ.ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง  ปี 2565 อยู่ที่ 6,500 – 6,800 ราย ซึ่งใกล้เคียงกับยอดธุรกิจจัดตั้งใหม่ในอีอีซีปี 2564  โดยปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลต่อการลงทุนในพื้นที่อีอีซีได้แก่ ภาคการส่งออกมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งตามทิศทางของเศรษฐกิจโลก  ซึ่งในปี 2564 การส่งออกมีมูลค่า 8,542,102.67 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.91% จากปี 2563 ประกอบกับ สถานการณ์ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลง เนื่องจากมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยจากธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา

นอกจากนั้น การลดการอัดฉีดสภาพคล่องในเศรษฐกิจ (QE) จะสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนได้มากยิ่งขึ้น อีกทั้งการขับเคลื่อนแผนการลงทุนระยะที่ 2ของเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เช่น รถไฟความเร็วสูง และท่าเรือมาบตาพุดและแหลมฉบัง ระยะที่ 3

พาณิชย์คาด ส่งออกต่อเนื่อง  ดัน ตั้งธุรกิจใหม่ในอีอีซีปี 65 กว่า 6,500 ราย  

ขณะเดียวกันยังต้องติดตามประเด็น การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ในประเทศ ที่ยังเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการทั้งในประเทศและนักลงทุนต่างประเทศในพื้นที่เป็นอย่างสูง โดยมีการคาดการณ์สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ว่าจะมีจำนวนผู้ติดเชื้อลดลงอย่างชัดเจนภายในไตรมาสที่ 1 ของปี 2565 มีการคาดการณ์ว่าจะสามารถกลายเป็นโรคประจำถิ่นได้ภายในปีนี้ 

สำหรับการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจอีอีซี ใน 3 จังหวัด คือ จ.ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ในปี 2564  มียอดการจัดตั้งธุรกิจใหม่ รวม 6,698 ราย ทุนจดทะเบียน 19,153.08 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเดือน ม.ค.-ธ.ค. 2563 จำนวน 6,104 ราย เติบโตเพิ่มขึ้นคิดเป็น 9.73% และมูลค่าทุนจดทะเบียนเพิ่มขึ้นจาก 17,533.54 ล้านบาท คิดเป็น 9.24% โดยจังหวัดชลบุรีมีการจัดตั้งธุรกิจใหม่มากที่สุดจำนวนจำนวน 4,659 ราย  คิดเป็น 69.55%  

ธุรกิจตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่  ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 891 ราย เพิ่ม 13.30 % ทุนจดทะเบียน 3,461 ล้านบาท เพิ่ม 18.07  %  ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป  609  ราย เพิ่ม 9.09 % ทุนจดทะเบียน 1,376  ล้านบาท เพิ่ม 7.19 %  ธุรกิจขนส่ง ขนถ่ายสินค้า รวมถึงผู้โดยสาร 279 ราย เพิ่ม 4.17 % ทุนจดทะเบียน 378   ล้านบาท เพิ่ม 1.97 %  

ปัจจุบันพื้นที่ 3 จังหวัดในอีอีซี มีนิติบุคคลคงอยู่ณ 31 ธ.ค. 2564 จำนวน 76,142 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 1.51 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น  จ.ชลบุรี 55,140 ราย คิดเป็น 72.42%  จ.ระยอง 14,653 ราย คิดเป็น 19.24%  และ จ.ฉะเชิงเทรา 6,349 ราย คิดเป็น 8.34% ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจบริการ คิดเป็น 60.38% รองลงมาคือการขายส่งขายปลีก คิดเป็น 24.63% และการผลิตคิดเป็น 14.99%

ทั้งนี้มีการลงทุนของคนต่างชาติในนิติบุคคลไทย มีมูลค่า 825,358 ล้านบาท คิดเป็น 54.32% ของทุนทั้งหมด โดยสัญชาติญี่ปุ่นมีสัดส่วนมากที่สุด คิดเป็น 46.60% มีมูลค่าทุน 384 ,642 ล้านบาท รองลงมาคือ จีน มีสัดส่วนคิดเป็น 12.75% มีมูลค่าทุน 105,195 ล้านบาท และสิงคโปร์ สัดส่วนคิดเป็น 5.59%  มูลค่าทุน 46,104  โดยมีการลงทุน ในจังหวัดระยองสูงสุดคิดเป็น 51.97% มูลค่า 428,935 ล้านบาท รองลงมาคือชลบุรี  38.05  %มูลค่า 314,042  ล้านบาท และฉะเชิงเทรา  9.98 % มูลค่า 82,379  ล้านบาท  

โดยนักลงทุนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ลงทุนในธุรกิจผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์เสริมอื่นๆสำหรับยานยนต์ มูลค่าการลงทุน 80,098 ล้านบาท ธุรกิจผลิตอะลูมิเนียมและผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียมมูลค่าการลงทุน 38,722 ล้านบาท และธุรกิจผลิตยางล้อและยางในมูลค่าการลงทุน 31,797 ล้านบาท