SMD 4Q64 ได้แรงหนุนจากการจำหน่าย ATK พร้อมปรับประมาณการขึ้น

SMD 4Q64 ได้แรงหนุนจากการจำหน่าย ATK พร้อมปรับประมาณการขึ้น

คาดรายงานกำไร 4Q64 ที่ 76 ลบ. เติบโต 101%YoY แต่หดตัว 60%QoQ : คาดรายได้ 4Q64 อ่อนตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้าสู่ 415 ลบ. -41%QoQ แต่บวก +82%YoY เนื่องจากการแพร่ระบาด COVID-19 ที่ควบคุมได้

ทำให้คำสั่งซื้อในสินค้ากลุ่มเวชบำบัดวิกฤต และกลุ่มการช่วยหายใจและเวชศาสตร์การนอนหลับเริ่มชะลอตัว อย่างไรก็ตามมีการรับรู้รายได้จากการจำหน่ายชุดตรวจ COVID-19 ผ่าน 7-11 ช่วยหนุนรายได้ ขณะที่คาดว่าอัตรากำไรขั้นต้นจะปรับตัวลงจาก 43.6% ใน 3Q64 สู่ 36-37% ใน 4Q64 เนื่องจากอัตรากำไรขั้นต้นของชุดตรวจ COVID-19 ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ด้านอัตราค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารต่อยอดขายปรับตัวขึ้นจาก 8.7% ใน 3Q64 สู่ 12.1% เนื่องจากรายได้ปรับตัวลงเร็วกว่าค่าใช้จ่าย แต่เมื่อพิจารณาเป็นตัวเงินลดลงราว 9 ลบ.จาก 3Q64 สู่ 52 ลบ.  ทั้งนี้ เราคาดว่าบริษัทมีกำไร 4Q64 ที่ 76 ลบ. เติบโต 101%YoY แต่หดตัว 60%YoY 

- ปรับเพิ่มประมาณการรายได้และกำไรปี 64 สู่ 1.60 พันลบ. และ 341 ลบ. เพิ่มขึ้น 10% และ 11% ตามลำดับ : ฝ่ายวิจัยปรับประมาณการรายได้และกำไรเพิ่มขึ้นจากประมาณการเดิม 10% และ 11% ตามลำดับ หลังยังได้รับโมเมนตัมเชิงบวกจากการขายชุดตรวจ COVID-19 ในไตรมาส 4 อย่างไรก็ตามเราปรับลดสมมติฐานอัตรากำไรขั้นต้นจาก 42.5% สู่ระดับ 41.1% เนื่องจากอัตรากำไรขั้นต้นของชุดตรวจ COVID-19 ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย โดยคาดว่ารายได้ที่เพิ่มขึ้นสามารถชดเชยกำไรสุทธิที่ปรับตัวลงได้ส่งผลให้เราปรับเพิ่มประมาณการรายได้และกำไรปี 64 จาก 1,454 ลบ. และ 308 ลบ. สู่ 1,600 ลบ. และ 341 ลบ. เติบโต 10% และ 11% ตามลำดับ
 

 

 

- ปรับเพิ่มประมาณการรายได้และกำไรปี 65 สู่ 1.44 พันลบ. และ 290 ลบ. เพิ่มขึ้น  32% และ 49% ตามลำดับ : เราปรับเพิ่มประมาณการรายได้จาก 1.09 พันลบ.สู่ 1.44 พันลบ. เพิ่มขึ้น 32%YoY โดยได้รับแรงหนุนจากคำสั่งซื้อในสินค้ากลุ่มเวชบำบัดวิกฤต และกลุ่มการช่วยหายใจและเวชศาสตร์การนอนหลับจากภาครัฐที่ต่อเนื่อง และมีรายได้จากการจำหน่ายชุดตรวจ COVID-19 ผ่าน 7-11 เต็มปี นอกจากนี้ยังได้รับแรงหนุนจากกระทรวงมหาดไทยกำหนดให้อาคารสูงกว่า 8 ชั้นต้องมีเครื่องกระตุกหัวใจอัตโนมัติ (AED) ขณะที่เราคงสมมติฐานอัตรากำไรขั้นต้นที่ 41% เนื่องจากการบริหารต้นทุนสินค้าของบริษัทมีประสิทธิภาพมากขึ้น และปรับเพิ่มประมาณการค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารจาก 193 ลบ. เป็น 218 ลบ. เพราะคาดว่าค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารจะเพิ่มขึ้นจากการขยายตลาด Smart Hospital ทั้งนี้ เราปรับประมาณการกำไรปี 65 เพิ่มขึ้น 49% จาก 195  ลบ. สู่ 290 ลบ. แต่หดตัว 15% จากปี 64 ที่เป็นฐานสูง 

-  คงคำแนะนำ “ซื้อ” พร้อมเพิ่มราคาเหมาะสมปี 65 สู่ 20.80 บาท : ฝ่ายวิจัยประเมินมูลค่าด้วยวิธี Prospective P/E โดยอ้างอิง P/E Ratio เฉลี่ยย้อนหลัง 1 ปีพร้อมปรับลดด้วย 0.6 S.D. (เนื่องจากในปัจจุบันเป็นการเติบโตที่สูงกว่าปกติจาก COVID-19) ได้ค่า P/E Ratio ที่ 15.4 เท่า และคาดการณ์กำไรต่อหุ้นปี 65 ที่ 1.35 บาทต่อหุ้น ได้ราคาเหมาะสมปี 65 เพิ่มขึ้นจาก 20.40 บาทสู่ 20.80 บาท ซึ่งราคาเหมาะสมใหม่ที่ประเมินได้สูงกว่าราคาปิดล่าสุดจึง คงคำแนะนำ “ซื้อ”
 

ปัจจัยเสี่ยง

i)    ส่งมอบสินค้าล่าช้าเนื่องจากผู้ผลิตทยอยส่งมอบเพราะมีความต้องการสูงทั่วโลก
ii)    เงินบาทอ่อนส่งผลกระทบต่อต้นทุนการนำเข้าสินค้า
iii)    สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในไทยกลับสู่ภาวะปกติ