ส่อง “แพ็กเกจลงทุน” ปี65 …   หนุนอีอีซีเติบโตต่อเนื่อง

เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2564 ที่ผ่านมา ที่ประชุมบอร์ดบีโอไอเห็นชอบมาตรการส่งเสริมการลงทุนหลายด้าน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยปี 2565 ซึ่งมีทั้งมาตรการกระตุ้นการลงทุนสำหรับโครงการที่มีการลงทุนจริง 1,000 ล้านบาทขึ้นไป การขยายเวลายื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนในอีอีซี

แพ็กเกจเร่งรัดการลงทุนชุดนี้หลักๆ ประกอบด้วย การขยายมาตรการกระตุ้นการลงทุนในโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ที่จะมีผลในวงกว้างต่อการสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ ครอบคลุมกิจการที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง จากที่สิ้นสุดในปี 2564 เป็นให้ยื่นขอรับการส่งเสริมได้ถึงสิ้นปี 2565 และเป็นโครงการที่มีการลงทุนจริงไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท ภายใน 12 เดือนหลังออกบัตรส่งเสริม โดยได้รับสิทธิประโยชน์ด้วยการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% เพิ่มเติม 5 ปี

การขยายมาตรการส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ออกไปอีก 1 ปีถึงสิ้นปี 2565 ยกเว้นโครงการที่ตั้งในเขตส่งเสริมเพื่อกิจการพิเศษ 5 แห่ง ที่ไม่กำหนดระยะเวลาสิ้นสุด ได้แก่ เมืองการบินภาคตะวันออก (อีอีซีเอ), เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซีไอ), เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (อีอีซีดี) ศูนย์นวัตกรรมการแพทย์ครบวงจร ธรรมศาสตร์ (พัทยา) หรืออีอีซีเอ็มดี และการแพทย์จีโนมิกส์ มหาวิทยาลัยบูรพา (บางแสน) หรืออีอีซีจี

ภายใต้โครงการลงทุนในพื้นที่อีอีซี สามารถขอรับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมได้หากมีการพัฒนาบุคลากรไทยในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยกิจการในกลุ่มที่ได้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5-8 ปี จะได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% เพิ่มเติม 3 ปี และกิจการในกลุ่มเทคโนโลยีเป้าหมายและกิจการสนับสนุน ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติม 2 ปี เป็นต้น

การสนับสนุนพื้นที่ย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี เป็นเขตส่งเสริมการลงทุน เพื่อเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมและการวิจัยทางการแพทย์ เพื่อให้เกิดการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์รวมถึงเทคโนโลยีเชิงลึก (Deep Tech) โดยให้ได้รับสิทธิและประโยชน์ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% เป็นเวลา 5 ปี เพิ่มเติมจากเกณฑ์ปกติ

การกำหนดเขตวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพิ่มเติมอีก 2 แห่ง ได้แก่ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) และอาคารศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีประยุกต์สู่เอสเอ็มอี สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ณ เทคโนธานี โดยให้ได้รับสิทธิและประโยชน์ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% เป็นเวลา 5 ปี เพิ่มเติมจากเกณฑ์ปกติ หรือเลือกยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 2 ปีก็ได้

คาดว่า บีโอไอคงต้องการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนจริงโดยเร็วโดยชี้ให้เห็นถึงโอกาสจากนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่จะได้รับ รวมทั้งต้องการสนับสนุนการลงทุนด้านการวิจัยพัฒนาและการเชื่อมโยงระหว่างภาคอุตสาหกรรมและภาคการวิจัย อาทิ การผลิตชิ้นส่วนระบบราง ชิ้นส่วนยานยนต์สมัยใหม่ อาหารแห่งอนาคต เกษตรสมัยใหม่ รวมถึงพลังงานและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนจูงใจนักลงทุนต่างชาติที่ต้องการย้ายฐานการผลิตเข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะพื้นที่อีอีซีซึ่งเป็นฐานที่มั่นรองรับอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสูง และหลบภัยจากสงครามการค้า

มาตรการส่งเสริมการลงทุนปี 2565 ของบีโอไอชุดใหม่นี้ คาดว่าจะช่วยเพิ่มแรงจูงใจการลงทุนและสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ทั้งในระยะสั้นที่จะช่วยประคับประคองเศรษฐกิจไทยฝ่าวิกฤตโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ขณะที่ระยะยาว เม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศจะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจไทยและยกระดับเทคโนโลยีให้สูงขึ้น ทั้งนี้ พื้นที่อีอีซีมีแนวโน้มดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามามากขึ้น โดยอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์น่าจะเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ “ไทยแลนด์ 4.0” อาทิ ดิจิทัล บีซีจี ไบโอเทค เมดิคัล สมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์อัจฉริยะ รวมถึงกลุ่มสตาร์ทอัพเพื่อช่วยผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมและการวิจัยในอาเซียนต่อไป