SCG เผยผลประกอบการปี 64 รายได้โต 33% ผลทรานส์ฟอร์มธุรกิจรับ 3 เมกะเทรนด์

SCG เผยผลประกอบการปี 64 รายได้โต 33% ผลทรานส์ฟอร์มธุรกิจรับ 3 เมกะเทรนด์

เอสซีจี เผยผลประกอบการปี 2564 ธุรกิจแข็งแกร่งต่อเนื่อง ท่ามกลางปัญหาภาวะเงินเฟ้อ ต้นทุนพลังงาน วัตถุดิบพุ่งสูงต่อเนื่อง และวิกฤติโควิด-19 ด้วยการเร่งทรานส์ฟอร์มทุกธุรกิจรับ 3 เมกะเทรนด์ ESG ดิจิทัลทรานส์ฟอร์ม พัฒนานวัตกรรมเพื่อสุขภาพ

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เปิดเผยว่า งบการเงินรวมก่อนตรวจสอบของเอสซีจีประจำปี 2564 มีรายได้จากการขาย 530,112 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 33% จากปีก่อน สาเหตุจากผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นในทุกธุรกิจ ส่วนใหญ่จากราคาและปริมาณขายของสินค้าเคมีภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้น โดยมีกำไร 47,174 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 38% จากปีก่อน จากผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นของธุรกิจเคมิคอลส์ทั้งนี้ กำไรจากดำเนินงานปกติ (Normalized Profit) เท่ากับ 48,979 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 35% จากปีก่อน

โดยเอสซีจี มียอดขายสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม (High Value Added Products & Services- HVA) ปี 2564 อยู่ที่ 182,510 ล้านบาท คิดเป็น 34% ของยอดขายรวม ทั้งนี้ ยังมีสัดส่วนของการพัฒนาสินค้าใหม่ (New Products Development – NPD) คิดเป็น 15% และ Service Solution คิดเป็น 5% ของยอดขายรวม

สำหรับไตรมาส 4 ปี 2564 เอสซีจี มีรายได้จากการขาย 142,666 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8% จากไตรมาสก่อน จากการดำเนินงานที่ดีขึ้นในทุกธุรกิจ โดยมีกำไรสำหรับงวด 8,307 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22% จากไตรมาสก่อน มีกำไรจากการดำเนินงานปกติ (Normalized Profit) 7,813 ล้านบาท ลดลง 14% จากไตรมาสก่อน สาเหตุหลักจากส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมลดลง

รายได้จากการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ รวมการส่งออกจากประเทศไทยในปี 2564 ทั้งสิ้น 242,886 ล้านบาท คิดเป็น 46% ของยอดขายรวม เพิ่มขึ้น 44% จากปีก่อน สินทรัพย์รวมของเอสซีจี ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 มีมูลค่า 861,101 ล้านบาท โดย 45% เป็นสินทรัพย์ในอาเซียน

ผลการดำเนินงานในปี 2564 แยกตามรายธุรกิจ ดังนี้

ธุรกิจเคมิคอลส์ ปี 2564 มีรายได้จากการขาย 238,390 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 62% จากปีก่อน เนื่องจากราคาและปริมาณขายสินค้าสูงขึ้น รวมถึงค่าเงินบาทอ่อนค่าลงโดยมีกำไรสำหรับปี 28,931 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 64% จากปีก่อน

ขณะที่ไตรมาส 4 ปี 2564 มีรายได้จากการขาย 65,983ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% จากไตรมาสก่อนและเพิ่มขึ้น 83% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากราคาและปริมาณขายสินค้าที่สูงขึ้น

โดยมีกำไรสำหรับงวด 4,500 ล้านบาท ลดลง 14% จากไตรมาสก่อน และลดลง 23% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้น ประกอบกับมีกำไรจากการปรับมูลค่าสินค้าคงเหลือและส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมลดลง

ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ปี 2564 มีรายได้จากการขาย 182,529 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% จากปีก่อน โดยมีกำไรสำหรับปี 4,262 ล้านบาท ลดลง 34% จากปีก่อน

ขณะที่ไตรมาส 4 ปี 2564 มีรายได้จากการขาย 45,869 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมียอดการส่งออกสินค้าไปยังตลาดอื่นๆ นอกภูมิภาคอาเซียนและความต้องการสินค้าผลิตภัณฑ์ก่อสร้างภายในประเทศตามงานปรับปรุงและซ่อมแซมที่เพิ่มขึ้น

โดยมีกำไรสำหรับงวด 1,385 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,785 ล้านบาทจากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้น 1,579 ล้านบาทจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 

SCGP ในปี 2564 มีรายได้จากการขายเท่ากับ 124,223 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 34% จากปีก่อนมีกำไรสำหรับปี 8,294 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28% เมื่อเทียบกับปีก่อน มีสาเหตุหลักมาจากการเติบโตของสายธุรกิจบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรในกลุ่มสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภคเป็นหลัก การเพิ่มสัดส่วนรายได้จากธุรกิจบรรจุภัณฑ์อาหารทั้งในประเทศไทยมาเลเซียและสหราชอาณาจักรรวมถึงการขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง

ทั้งในรูปแบบขยายกำลังการผลิต (Organic Expansion) และการควบรวมกิจการ (Merger and Partnership - M&P) ซึ่ง SCGP มีฐานการผลิตในหลายประเทศและผลิตสินค้าเพื่อตอบสนองลูกค้าในหลายอุตสาหกรรมทำให้สามารถกระจายความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากความไม่แน่นอนของปัจจัยภายนอกได้ดี

สำหรับผลประกอบการไตรมาสที่ 4 ปี 2564 SCGP มีรายได้จากการขาย 35,145 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 49% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 10% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน จากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคระบาดของรัฐบาลในอาเซียน ทำให้ประชาชนสามารถดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้มากขึ้น การเตรียมสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภคอาหารแช่แข็งเพื่อรองรับความต้องการซื้อในช่วงวันหยุดเทศกาลปีใหม่

รวมทั้งผลการดำเนินงานของ Go-Pak ผู้ให้บริการโซลูชันบรรจุภัณฑ์อาหารในสหราชอาณาจักรยุโรปและอเมริกาเหนือ, Duy Tan ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบคงรูปรายใหญ่ในประเทศเวียดนาม, Intan Group ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์กล่องลูกฟูกในประเทศอินโดนีเซีย และ Deltalab ผู้ผลิตและจำหน่ายวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์คุณภาพสูงในประเทศสเปน โดยมีกำไรสำหรับงวดเท่ากับ 2,115 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 42% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 19% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน

นายรุ่งโรจน์ กล่าวต่อว่า แม้ว่าในปี 2564 เศรษฐกิจทั่วโลกได้รับผลกระทบจากต้นทุนพลังงาน วัตถุดิบสูง ภาวะเงินเฟ้อและโควิด-19 แต่เอสซีจีได้เร่งทรานส์ฟอร์มธุรกิจอย่างต่อเนื่องจึงสามารถรักษาการเติบโตในปีที่ผ่านมาเป็นที่น่าพอใจ

โดยปรับธุรกิจให้สอดคล้องกับ 3 เมกะเทรนด์ ได้แก่ ชู ESG ในการดำเนินธุรกิจ -ใช้ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันตอบโจทย์ความต้องการลูกค้า - พัฒนานวัตกรรมโซลูชันรับเทรนด์การรักษ์สุขภาพและยกระดับคุณภาพชีวิต

นอกจากนี้ คณะกรรมการบริษัทฯ ได้มีมติให้เสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่ออนุมัติจ่ายเงินปันผลประจำปี 2564 ในอัตราหุ้นละ 18.50 บาท รวมเป็นเงินประมาณ 22,200 ล้านบาท คิดเป็น 47% ของกำไรสำหรับปีตามงบการเงินรวม

ทั้งนี้ บริษัทได้จ่ายเป็นเงินปันผลระหว่างกาลสำหรับครึ่งปีแรกในอัตราหุ้นละ 8.50 บาท เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2564 และจะจ่ายเงินปันผลสำหรับครึ่งปีหลังในอัตราหุ้นละ 10.00 บาท 

อีกทั้ง คณะกรรมการบริษัทฯ ยังได้อนุมัติแผนการออกและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของเอสซีจี เคมิคอลส์ (SCGC) ต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ไม่เกิน 25.2% ของทุนชำระแล้วของเอสซีจี เคมิคอลส์ โดยคาดว่าจะจัดสรรหุ้น IPO ให้แก่ผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ (Pre-emptive Right) ไม่เกิน 15% ของหุ้น IPO ทั้งหมดทั้งนี้เพื่อระดมทุนเดินหน้าขยายธุรกิจศักยภาพสูงสร้างความเติบโตอย่างต่อเนื่องในภูมิภาคอาเซียนตอบโจทย์ตลาดโลก