'ทีดีโอ’ชี้ห้ามคริปโทชำระสินค้า ปิดกั้นพัฒนาอุตฯดิจิทัลแอสเสท

'ทีดีโอ’ชี้ห้ามคริปโทชำระสินค้า  ปิดกั้นพัฒนาอุตฯดิจิทัลแอสเสท

“ทีดีโอ” เตรียมนัดสมาชิก ถกร่างเกณฑ์ห้ามสินทรัพย์ดิจิทัลชำระค่าสินค้าและบริการ ชงข้อเสนอต่อ ก.ล.ต. ชี้หยุดเส้นทางพัฒนาอุตสาหกรรมคริปโทฯ ในระยะยาว “ ซิปเมกซ์” ลั่นปิดโอกาสผู้พัฒนานวัตกรรม -ประสบการณ์คนไทยใช้จ่ายเงินดิจิทัล ด้าน“สตางค์” ล้มแผนให้บริการวอลเล็ทแอพฯ

จากกรณีที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และกระทรวงการคลัง ร่วมหารือร่างหลักเกณฑ์ห้ามไม่ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลให้บริการที่เกี่ยวข้องกับการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ 

นายพีรเดช ตันเรืองพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อัพบิต เอ็กซ์เชนจ์ (ประเทศไทย) จำกัด (Upbit Thailand) ในฐานะของประธานสมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไทย (TDO)  เปิดเผยว่า  ทางสมาคมฯ จะมีการหารือกับบริษัทสมาชิกกรณีที่ธปท. คลัง และ ก.ล.ต.จะออกเกณฑ์ห้ามผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล นำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ

เพื่อรวบรวมข้อคิดเห็น เสนอต่อ ก.ล.ต.ก่อนที่ร่างหลักเกณฑ์นี้จะประกาศบังคับใช้อย่างเป็นทางการ 

       

ทั้งนี้ ส่วนตัว มองว่า หากร่างหลักเกณฑ์ดังกล่าวผ่านออกมา จะกระทบอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลของไทยในระยะยาว เพราะเป็นการหยุดเส้นทางพัฒนาการอุตสาหกรรมฯ ห้ามไม่ให้ไปสู่ในสิ่งที่ทั่วโลกกำลังก้าวไปสู่โลกอนาคตWeb 3.0 ซึ่งเป็น “มาร์เก็ตเพลส คริปโท” ที่มีซื้อขายสินค้าและบริการอยู่แล้ว 

ขณะเดียวกันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ตลอดเวลา และยังมีเม็ดเงินจากบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ของโลก ทำให้ยังมีเม็ดเงินเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมนี้อีกมาก ดังนั้น ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลในไทยยังต้องรับกับการเปลี่ยนแปลงที่เร็วขึ้นทุกปี   

อย่างไรก็ตามผลกระทบในระยะสั้น คาดว่ายังไม่มาก เพราะการใช้จ่ายคริปโทฯชำระค่าสินค้าและบริการในไทยยังไม่แพร่หลาย ดังนั้น หากร่างหลักเกณฑ์นี้มีผลบังคับใช้ มองว่า เป็นการลดจำนวนผู้ใช้เหรียญประเภทหนึ่ง ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ดังกล่าว และทำให้ช่องทางในการรับชำระเงินอีกประเภทหนึ่งหายไป   

ปิดกั้นการสร้างสรรค์นวัตกรรม

นายเอกลาภ  ยิ้มวิไล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้งซิปเม็กซ์ (Zipmex) ประเทศไทย กล่าวว่า ร่างหลักเกณฑ์ดังกล่าวเป็นการปิดกั้นโอกาส และความคิดสร้างสรรค์ของผู้พัฒนานวัตกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลในไทย และปิดโอกาสในการสร้างประสบการณ์การใช้เงินดิจิทัลของคนไทย ซึ่งปัจจุบันคาดว่าคนไทยใช้คริปโทฯ ไม่เกิน 1,000 ล้านบาท ถือว่ายังน้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นการเปิดบัญชีเพื่อการลงทุน

วอลเล็ท เพื่อการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นหลัก  

ดังนั้น ปัจจุบันร่างหลักเกณฑ์ดังกล่าาวยังไม่ได้เป็นกฎหมาย  ในส่วนของซิปแมกซ์ เตรียมเสนอแนวทาง เปิดสนามทดสอบ (แซนบ็อกซ์ธปท.) เป็นสนามทดสอบให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย เข้ามาร่วมกันทดสอบ ภายใต้แนวทางที่ธปท. ควบคุมได้ เพื่อเป็นการศึกษาและทดลองว่าดีไม่ดีอย่างไร ปลอดภัยหรือไม่ เพื่อพัฒนาปรับปรุงหากมีความพร้อมก็ขยายในส่วนนั้นต่อ 

“ส่วนตัวมองว่า การเปิดสนามทดสอบเชิญผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดกันพัฒนา ซึ่งการพัฒนาระบบการชำระเงินด้วยเงินดิจิทัลอาจใช้เวลา 5-10 ปี ยังรอได้ แต่ไม่ควรปิดกั้นไปเลยตั้งแต่วันแรก เพราะสุดท้ายแล้วโลกก็จะก้าวไปสู่Web 3.0 ในเรื่องของเทคโนโลยีเราก็ต้องตามให้ทัน”  

แผนให้บริการชำระราคาด้วยคริปโท ล่ม

นายสรัล ศิริพันธ์โนน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สตางค์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า ตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทสตางค์  บริษัทมีความตั้งใจที่จะให้บริการรับชำระค่าสินค้าและบริการ หรือ วอลเล็ทแอพฯ แต่จากที่เคยหารือกับธปท.ไม่สนับสนุน เพราะอาจจะมองว่าเป็นภัยต่อเงินบาท

สำหรับจากเกณฑ์ที่ ธปท.และก.ล.ต.อยู่ระหว่างการทำเฮียริ่ง ห้ามผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ให้บริการที่เกี่ยวกับการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ นั้น อยากให้มีการออกมีการออกเกณฑ์ที่ชัดเจน ในหลายเรื่อง เพราะ ในปัจจุบัน มีมีการนำสินทรัพย์ดิจิทัล เช่น บิตคอยน์ และ “อีเธอเรียม” มาแลกเปลี่ยน สินค้าใน  Non-Fungible Token ( NFT) , DeFi  และ ในเมตาเวิร์ส  อยู่แล้วนั้น จะตีความเป็นการรับค่าสินค้าและบริการหรือไม่   ผู้ที่ทำธุรกรรมดังกล่าวทำให้มีการทำธุรกรรมน้อยลง เพราะกลัวจะผิดกฎหมาย  และผู้ประกอบการศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล จะมีความผิดหรือไม่  เพราะไม่ว่าธุรกรรมไหนเข้าข่าย หรือไม่เข้าข่าย 

 “ส่วนตัวโอเคร ที่จะมีการควบคุมการทำธุรกรรมสินทรัพย์ดิจิทัล แต่ไม่ควรจำกัด ทั้งหมด เพราะ จะทำให้ผู้ประกอบการไปต่อไม่ได้ ควรที่จะเปิดช่องให้สามารถทำได้บ้าง ”

สำหรับในเรื่องดังกล่าวนั้น ทางสมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไทย จะมีการจัดหารือกับทางสมาชิกเพื่อหารือ และสรุปความเห็นของทางสมาคมฯเสนอไปยังก.ล.ต. ก่อนวันที่ก.ล.ต.จะปิดเฮียริ่ง ในวันที่ 8 ก.พ. 2565

หวังรัฐออกเกณฑ์รับคริปโทชำระค่าบริการ

นายศุภกฤษฎ์ บุญสาตร์ นายกสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย กล่าวว่า จากกรณีที่ภาครัฐสั่งห้ามไม่ให้นำคริปโทฯ ไปใช้ชำระเงินนั้น มองว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ควรออกเกณฑ์รองรับคริปโทฯ ที่นำมาชำระเงินได้เพิ่มเติม เพื่อเปิดพื้นที่ให้เหรียญที่สามารถกักเก็บมูลค่า (Store of Value) เช่น บิตคอยน์ สามารถนำมาชำระราคาได้ เพราะหากห้ามไม่ให้ทำโดยไม่มีช่องทางให้พัฒนาต่อ อาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อการพัฒนาตลาด

นายตฤบดี อรุณานนท์ชัย ที่ปรึกษาด้านสินทรัพย์ดิจิทัล บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG กล่าวว่า ภายหลังบริษัทฯ ทำการศึกษาเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล พบว่าผู้ลงทุนบางส่วนมีความต้องการนำสกุลเงินดิจิทัล (คริปโทเคอร์เรนซี) ออกมาจับจ่ายใช้สอย เช่น ลูกค้าบางรายของ THG ซึ่งไม่มีบัตรเครดิต แต่มีบัญชีคริปโทฯหากหน่วยงานกำกับสั่งห้ามก็อาจเกิดความลำบากในการนำเหรียญออกมาใช้งาน

เพย์โซออกลูชั่น ร้องรัฐถกเอกชนหาทาง

นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ซีอีโอ บริษัทเพย์ โซลูชั่น เอเชีย ผู้ให้บริการเพย์เม้นท์ เกตเวย์ ชั้นนำของไทย และเพิ่งได้เปิดตัวบริการรับชำระสินค้า และบริการผ่านเงินสกุลดิจิทัล หรือ คริปโทเคอร์เรนซี กล่าวว่า หากแบงค์ชาติขอให้หยุดบริการ ในฐานะของ “บริษัท PaySolutions” ผู้ได้รับใบอนุญาติจากธนาคารแห่งประเทศไทย ก็คงต้องปฏิบัติตาม แต่ในฐานะของคนที่อยากพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ คงไม่หยุด แต่ต้องหาประเทศที่มีความพร้อมในการรองรับ และเปิดให้มีการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งการออกไปนอกประเทศ มันจะเป็นการทำให้ธุรกิจเดินออกสู่ Global Market ได้เร็วขึ้น

“รัฐน่าจะมาคุยกับเอกชนและหาทางออกร่วมกัน ทุกอย่างมันมีปัญหาหมด แต่ถ้าเราค่อยๆ คุย วางแผน มีแซนด์บ็อกซ์ มีการค่อยๆ ทำไปด้วยกัน เอกชนนำ รัฐเดินไปด้วยกัน มีอะไรสนับสนุนกัน ติดอะไร กังวลอะไร บอกเอกชน ซึ่งเชื่อว่ามีทางออกนับล้าน ที่เราจะแก้ปัญหาได้ ผมว่าไทยเราน่าจะเป็นแนวหน้าด้านเทคโนโลยี Cryptocurrency ของอาเซียนได้เลย”

อย่างไรก็ตาม บริการของเพย์ โซลูชั่น ที่เปิดตัวไป ค่อนข้างระวังในเรื่องของการให้บริการ ซึ่งแบ่งเป็น 3 ประเด็น 1.ความผันผวนของค่าเงินคริปโท - PaySolutions รับคริปโทเปลี่ยนเป็น Stable Coin สกุลเงินคริปโตที่ความผันผวนน้อยมาก เพราะมันผูกกับเงินดอลล่าร์สหรัฐ แล้วค่อยเปลี่ยนเป็นบาท ที่ Exchange ในไทยตามระเบียบกฏหมาย

2.กลัวเงินฟอกมาจับจ่าย เพย์ โซลูชั่น จำกัดการจ่ายเงินด้วยคริปโทไม่เกิน 2 หมื่นต่อรายการ และกันไว้ให้เกิน 1 แสนบาทต่อเดือน/ร้านค้า และ 3. ถ้าผู้ซื้อมีความน่าสงสัย จะขอการยืนยันตัวตน ด้วย Creden eKYC ทันที ถ้าไม่ทำ ก็ไม่ให้ผ่าน 4. เปิดทดลองให้กับร้านค้าเฉพาะในวงจำกัด ไม่ได้เปิดให้กับร้านค้าใหม่ จะเป็นร้านค้าเดิม ที่ทำการค้าขายอยู่แล้ว มีการยืนยันธุรกิจ (KYM - Know Your Merchant)ตามมาตรฐานของ ปปง.