ส่องแผนเชื่อมเศรษฐกิจไทยกับรถไฟลาว-จีน แต่ละกระทรวงทำงานคืบหน้าแค่ไหน

ส่องแผนเชื่อมเศรษฐกิจไทยกับรถไฟลาว-จีน แต่ละกระทรวงทำงานคืบหน้าแค่ไหน

โครงการรถไฟไฟจีน – ลาวที่เชื่อมโยงจากตอนใต้ของจีนมาถึงนครหลวงเวียงจันทน์ เมืองหลวงของ สปป.ลาว  ที่เปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 3 ธ.ค.2564 โดยเริ่มมีการขนส่งสินค้าระหว่างกัน 1 ซึ่งต้องมีการเริ่มวางแผนเชื่อมโยงเส้นทางเพื่อให้เกิดประโยชน์กับเศรษฐกิจไทยในระยะยาว

การเริ่มขนส่งคน และสินค้าผ่านรถไฟจีน - ลาว ก็เริ่มมีโอกาสทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย รัฐบาลจึงได้มีการตั้งคณะกรรมการบูรณาการการเชื่อมโยงทางรถไฟระหว่างไทย ลาว และจีน มีมูลค่านำเข้าส่งออกที่ด่านหนองคายเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญหลังจากมีรถไฟลาว - จีนเกิดขึ้น ปัจจุบันมีการเพิ่มรถไฟเป็นจาก 4 ขบวนต่อวันเป็น 14 ขบวนต่อวัน และจากการขนส่งขบวนละ 12 แคร่ เป็น 25 แคร่ ซึ่งจะมีศักยภาพเพิ่มขึ้นประมาณ 8 เท่า แต่ยังมีปริมาณการขนส่งทางรถไฟไม่มากนักเนื่องจากสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19

ทั้งนี้ครม.เห็นชอบแผนการดำเนินการเชื่อมโยงทางรถไฟระหว่างไทย ลาว และจีน  เช่น แผนการก่อสร้างของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูงระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ - นครราชสีมา โครงการรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา - หนองคาย และโครงการรถไฟทางคู่ช่วงขอนแก่น - หนองคาย

             

การบริหารจัดการใช้ทางรถไฟและการใช้สะพาน ได้แก่ การบริหารจัดการสะพานเดิม ระหว่างรอการก่อสร้างสะพานแห่งใหม่ และการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่

 การพัฒนาย่านขนถ่ายสินค้า โดยพื้นที่ด่านศุลกากรหนองคายคาดว่ามีความสามารถในการรองรับรถบรรทุกสูงสุด 650 คันต่อวัน ทั้งนี้ แนวทางพัฒนาย่านขนถ่ายสินค้าของฝั่งไทย - ลาว เพื่อเชื่อมต่ออย่างไร้รองต่อในการขนส่งสินค้าข้ามแดนผ่านทางรถไฟช่วงหนองคาย - เวียงจันทน์ แบ่งเป็น 2 ระยะ ได้แก่  ระยะเร่งด่วน :   การพัฒนาย่านสถานีหนองคายเป็นพื้นที่เปลี่ยนถ่ายสินค้า และระยะยาว : การพัฒนาพื้นที่นาทาเพื่อเป็นศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าและย่านกองเก็บตู้สินค้า (เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าในอนาคต)

นอกจากนี้ในส่วนการกำกับติดตามเพื่อขับเคลื่อนดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป ดังนี้                                       

1.กระทรวงคมนาคม

ได้แก่ กรมทางหลวงที่อยู่ระหว่างดำเนินการพื้นที่สำหรับการตรวจปล่อยสินค้าขาออกบริเวณหนองสองห้อง โดยระยะเร่งด่วนจะดำเนินการปี 2565 วงเงินงบประมาณ 10 ล้านบาท และขอรับงบประมาณในปี 2566 จากพื้นที่ที่ดินสงวนฯ เดิม 87 ไร่ เหลือพื้นที่ที่สามารถดำเนินการได้ประมาณ 80 ไร่ วงเงินงบประมาณ 280 ล้านบาท รองรับรถบรรทุกได้ประมาณ 201 คัน พร้อมห้องน้ำ และจุดพักคอย รถยนต์ส่วนบุคคลทั่วไปได้ 82 คัน ที่จอดรถสำหรับคนพิการ 6 คัน

 

2.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมวิชาการเกษตร กรมประมง กรมปศุสัตว์ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ การยางแห่งประเทศไทย ซึ่งได้มีแนวทางการจัดทำแผนปฏิบัติการระยะสั้น โดยการครอบคลุมเรื่องการลงนามพิธีสารฯ ระหว่างไทย - จีน และการอบรมพัฒนาบุคลากร เตรียมความพร้อมในพื้นที่ด่าน ระยะกลาง

โดยการครอบคลุมการเตรียมความพร้อมที่ด่านและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกในการกักกันและตรวจปล่อยสินค้าเกษตรขาเข้า - ออก รวมถึงแผนการเพิ่มบุคลากรประจำด่าน และการพัฒนาระบบเชื่อมโยงด้าน IT และการออกใบรับรองสุขอนามัยอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น และในระยะยาวอยู่ระหว่างพิจารณาดำเนินการ

3.กระทรวงการคลัง

กรมศุลกากร  ดำเนินโครงการระบบตรวจสอบ Mobile X-Ray ภายในวงเงินไม่เกิน 130 ล้านบาท ตามที่คณะกรรมการพัฒนาระบบการบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการของประเทศ ครั้งที่ 1/2564 มีมติให้ กรมศุลกากรจัดเตรียมความพร้อมในด้านกระบวนการและพิธีศุลกากร ซึ่งด่านศุลกากรหนองคายขอรับการสนับสนุนระบบตรวจสอบตู้สินค้าด้วยเอกซเรย์แบบเคลื่อนที่ได้จำนวน 1 คัน รุ่น MT1213DE โดยสามารถใช้ได้ทั้ง Standard Mode ที่มีขีดความสามารถ 20-25 คัน/ตู้ ต่อชั่วโมง และ Drive-through Mode มีขีดความสามารถที่ 150 คัน/ตู้ ต่อชั่วโมง

4.กระทรวงการต่างประเทศ

ได้มีการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับพัฒนาการในฝั่งลาวเพื่อแลกเปลี่ยนและบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย ใช้ประกอบการวางยุทธศาสตร์เพื่อส่งเสริมการส่งออกของไทย และอำนวยความสะดวกให้ฝ่ายไทย สามารถใช้ประโยชน์จากความเชื่อมโยงในภูมิภาคได้เต็มประสิทธิภาพ

และหยิบยกในการหารือระดับสูงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของลาวและจีน เพื่อติดตามความคืบหน้าและผลักดันการเชื่อมต่อรถไฟลาว - จีน กับระบบรางของไทย เพื่อเพิ่มทางเลือกให้ผู้ประกอบการ และส่งเสริมการส่งออกของไทยผ่านทางรถไฟต่อไป

5.กระทรวงอุตสาหกรรม

 กระทรวงอุตสาหกรรมอยู่ระหว่างดำเนินการนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี โดยมีระบบสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกที่มีมาตรฐาน และศูนย์กระจายสินค้าทางรางเพื่อรองรับรถไฟจากลาวและจีน ซึ่งประเภทอุตสาหกรรมเป้าหมายประกอบด้วย อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตร ผลิตภัณฑ์ยาง อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง และศูนย์กระจายสินค้า เป็นต้น