“สภาพัฒน์”แนะไทยเร่งเชื่อมรถไฟไทยกับไฮสปีดลาว-จีน สร้างประโยชน์เศรษฐกิจ

“สภาพัฒน์”แนะไทยเร่งเชื่อมรถไฟไทยกับไฮสปีดลาว-จีน สร้างประโยชน์เศรษฐกิจ

สศช.แนะรัฐบาลเร่งทำความตกลงเชื่อมเส้นทางรถไฟไทยกับ ไฮสปีดของจีน-สปป.ลาว ที่เวียงจันทร์ด่วน หวั่นตกขบวนหลังเตรียมเปิดบริการธ.ค.นี้ ชี้โอกาสทางเศรษฐกิจรออยู่อีกมาก หากไม่ทำเสียโอกาสการค้า-ลงทุนมาก

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า ประเทศไทยควรเร่งหาทางจัดทำความตกลงว่าด้วยการเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟระหว่างหนองคาย-เวียงจันทน์ ซึ่งเป็นความร่วมมือ 3 ประเทศ ระหว่างประเทศจีน ไทย และสปป.ลาว เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการเปิดให้บริการรถไฟจีน-สปป.ลาว ที่จะเปิดให้บริการในเดือนธ.ค.2564 นี้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจและการขยายการลงทุน ทำให้เกิดการพัฒนาเชิงพื้นที่และคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะการช่วยส่งเสริมการค้า การท่องเที่ยว และการลงทุน โดยคาดว่าผู้ประกอบการจีนจะเข้ามาประกอบธุรกิจในไทยเพิ่มขึ้น ส่งผลให้การนำเข้า-ส่งออกสินค้าของทั้ง 3 ประเทศ ขยายตัวเพิ่มขึ้นด้วย

สำหรับการเร่งการเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟนั้น ปัจจุบันการเดินทางและขนส่งสินค้าของไทยด้วยโครงข่ายทางรถไฟจะใช้ขนาดทาง 1 เมตร สามารถเดินรถไฟจากสถานีรถไฟหนองคายถึงสถานีรถไฟ ท่านาแล้ง ของสปป.ลาว ผ่านสะพานมิตรภาพ แห่งที่ 1 โดยที่ผ่านมาสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (เนด้า) ได้สนับสนุนการดำเนินโครงการก่อสร้างทางรถไฟ สายท่านาแล้ง-เวียงจันทน์ ระยะทาง 5.35 กิโลเมตร ซึ่งมีความคืบหน้าการก่อสร้างแล้วประมาณ 70%

ทั้งนี้เมื่อโครงการฯ แล้วเสร็จจะทำให้สามารถเชื่อมต่อการเดินทางและขนส่งสินค้า ทางรถไฟจากสถานีเวียงจันทน์มายังระบบรถไฟ ขนาดทาง 1 เมตรของไทยได้ แต่อย่างไรก็ตาม สถานีเวียงจันทน์ภายใต้โครงการนี้ ตั้งอยู่คนละพื้นที่กับ จุดสิ้นสุดของรถไฟความเร็วสูงสายจีน-สปป.ลาว ซึ่งตั้งอยู่บริเวณเวียงจันทน์ใต้ ทำให้เกิดปัญหาด้านการเชื่อมต่อการขนส่งสินค้าและการเดินทางระหว่างจีน สปป.ลาว และไทย จึงจำเป็นต้องเร่งหาทางจัดทำความตกลงว่าด้วยการเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟระหว่างกันต่อไป

อย่างไรก็ตามในการเตรียมความพร้อมรองรับการเปิดให้บริการนั้น ล่าสุดคณะกรรมการพัฒนาระบบการบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการของ ประเทศ (กบส.) ได้กำหนดกรอบแนวทางการเตรียมความพร้อ โดยให้กระทรวงคมนาคม กรมทางหลวง สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือสนข. การรถไฟแห่งประเทศไทย หรือรฟท. กรมศุลกากร และ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง หรือสตม. ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น การบริหารจัดการการใช้สะพานและทางรถไฟ การจัดเตรียมความพร้อมกระบวนการและพิธีการศุลกากร การขยายพื้นที่อำนวยความสะดวกด้านพิธีการเข้าเมือง การพัฒนาพื้นที่บริเวณหนองสองห้อง และการพัฒนาพื้นที่บริเวณสถานีรถไฟหนองคาย

นอกจากนี้ในระยะถัดไปต้องพิจารณาถึงแนวทางการพัฒนา และปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน สิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อรองรับ การขนส่งสินค้าและการเดินทางของผู้โดยสาร โดยการเชื่อมโยง รถไฟขนาดทาง 1.435 เมตร มายังบริเวณนาทาเพื่อเปลี่ยนถ่าย เป็นรางขนาด 1 เมตร ซึ่งเป็นระบบรางหลักของประเทศไทย ส่วนระยะยาว การพิจารณาความเหมาะสมการพัฒนาบริเวณ นาทาเพื่อให้เป็นศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าหลัก และเชื่อมโยงเส้นทางการขนส่ง พัฒนาโครงข่ายการเชื่อมโยง ระหว่างประเทศและในประเทศโดยเฉพาะพื้นที่การพัฒนาพิเศษ ทั้งเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ หรือเอสอีซีด้วย