เสียงสะท้อน ‘โบรกเกอร์’ หลังตลท.ปรับหลักเกณฑ์ดูแลสมาชิก

เสียงสะท้อน ‘โบรกเกอร์’ หลังตลท.ปรับหลักเกณฑ์ดูแลสมาชิก

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ร่อนหนังสือเวียนไปยังบริษัทหลักทรัพย์ (โบรกเกอร์) ถึงการปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับสมาชิก

โดยใจความสำคัญมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์การพ้นจากสมาชิกภาพในกรณีที่หยุดประกอบกิจการเป็นระยะเวลาครบ 3 เดือน จากเดิมให้สมาชิกแก้ไขเพื่อกลับมาประกอบกิจการภายในระยะเวลา 6 เดือน ปรับเป็นภายในระยะเวลา 5 ปี โดยนับตั้งแต่วันที่สมาชิกมีการดำเนินงานซึ่งแสดงให้เห็นว่าไม่ได้มีความตั้งใจจริงในการประกอบธุรกิจ

ถัดมาเป็นการปรับปรุงหลักเกณฑ์เพิ่มเติมเกี่ยวกับการรายงานเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ (NC และ NCR) เมื่อสมาชิกดำรงเงินกองทุนน้อยกว่า หรือ เท่ากับ 3 เท่าของหลักเกณฑ์ขั้นต่ำที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กำหนด หรือไม่สามารถดำรงเงินกองทุนได้ตามหลักเกณฑ์ขั้นต่ำที่สำนักงาน ก.ล.ต. กำหนด

รวมทั้ง ตลท. ยังได้เพิ่มมาตรการกำกับดูแลสมาชิก โดยให้คณะกรรมการ (บอร์ด) ตลาดหลักทรัพย์ฯ พิจารณาสั่งระงับบริษัทสมาชิกนั้นซื้อหรือขายหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือ ดำเนินการอื่นใดกับสมาชิกในกรณีที่สมาชิกรายนั้นถูกระงับธุรกิจอื่นที่มีนัยสำคัญ หรือ มีการดำเนินงาน หรือ ฐานะการเงินที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ สมาชิกรายอื่น ผู้ลงทุน หรือประชาชน

ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ใหม่ที่ปรับปรุงได้ผ่านความเห็นชอบจาก.ล.ต.แล้ว จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.2565 เป็นต้นไป

“ภากร ปีตธวัชชัย” กรรมการและผู้จัดการ ตลท. มองว่า การปรับปรุงเกณฑ์เกี่ยวกับสมาชิกเพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแล ซึ่งปกติตลาดหลักทรัพย์ฯ หากจะมีการออกเกณฑ์อะไรออกมานั้น ก็จะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็น (เฮียริ่ง) กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอยู่แล้ว

 

ข้ามฟากมาที่ผู้ร่วมอุตสาหกรรม “พิเชษฐ สิทธิอำนวย” กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) บัวหลวง ในฐานะนายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย (ASCO) กล่าวว่า ในส่วนของการให้อำนาจบอร์ดตลาดหลักทรัพย์ฯ พิจารณาให้สมาชิกสิ้นสุดสมาชิกภาพนั้น เป็นผลจากที่ปัจจุบันมีบริษัทหลักทรัพย์บางแห่งต่ออายุใบอนุญาต (ไล่เซ่นส์) โบรกเกอร์ต่อเนื่อง ทั้งที่ไม่มีแผนประกอบธุรกิจ ซึ่ง ตลท.และสมาคมฯ มองว่าไม่เหมาะสม แต่อย่างไรก็ดี หลักเกณฑ์ดังกล่าวยังเปิดโอกาสให้บริษัทหลักทรัพย์แสดงว่ามีความตั้งใจกลับมาดำเนินธุรกิจภายในระยะเวลา 5 ปีก่อนสั่งให้สิ้นสุดสมาชิกภาพ

“สุชาย สุทัศน์ธรรมกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) มองว่า การปรับปรุงหลักเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะช่วยรักษาเสถียรภาพของตลาดทุนไทย ขณะที่ผลกระทบต่อผู้ร่วมตลาดมองว่าอาจทำให้เกิดภาระเพิ่มขึ้นในการนำส่งข้อมูล เช่น ข้อมูลการดำรงเงินกองทุน NC และ NCR เป็นต้น

ในส่วนของอำนาจในการให้สมาชิกพ้นจากสมาชิกภาพนั้น มองว่า เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น จากในอดีตที่ ตลท. และ ก.ล.ต. มีการสอบถามไปยังโบรกเกอร์ที่อาจไม่ได้มีความตั้งใจประกอบธุรกิจอย่างเป็นประจำอยู่แล้ว ซึ่ง บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี ก็เคยเจอกรณีดังกล่าวในช่วงที่กลุ่มบริษัทมีการเปลี่ยนแปลงภายใน โดยหน่วยงานกำกับดูแลมีการสอบถามมายังบริษัทเกี่ยวกับแผนการดำเนินงานในระยะข้างหน้า ภายหลังถือไลเซ่นส์เอาไว้แต่ไม่มีการดำเนินธุรกิจ

“ชญานี โปขันเงิน” กรรมการผู้จัดการอาวุโส บล.คิงส์ฟอร์ด กล่าวว่า การปรับปรุงหลักเกณฑ์ดังกล่าวมองเป็นผลบวกต่ออุตฯ แต่ในส่วนที่ให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีอำนาจระงับการซื้อขายหุ้นนั้น อาจส่งผลกระทบต่อโบรกเกอร์ ในอดีตเคยมีกรณีที่ ตลท. สั่งระงับการซื้อขายชั่วคราวเพื่อตรวจสอบโบรกฯ ที่ถูกกล่าวหาว่าปั่นหุ้น แม้ภายหลังพบว่าข้อกล่าวหาไม่เป็นความจริง แต่ส่งผลให้บริษัทหลักทรัพย์ดังกล่าวขาดรายได้และต้องปิดกิจการไปในที่สุด

ขณะที่ “แหล่งข่าวตลาดทุน” กล่าวว่า ในส่วนที่ให้บอร์ดตลาดหลักทรัพย์ฯ สามารถพิจารณาระงับการซื้อขายหุ้นได้นั้น มองเป็นการให้อำนาจบอร์ดมากเกินไป อีกทั้งมองว่าไม่เหมาะสม เพราะมีเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of Interest) จากที่บอร์ดตลาดหลักทรัพย์ฯ มีโบรกเกอร์นั่งอยู่ 4 ราย โดยแนะนำให้ ตลท. กำหนดหลักเกณฑ์ในการสั่งระงับการซื้อขายหุ้นให้ชัดเจนมากกว่าใช้ดุลพินิจ