ธุรกิจร้านสะดวกซักบูม อัลไลแอนซ์ ลอนดรี้ฯ เดินเกมรักษาแชมป์

ธุรกิจร้านสะดวกซักบูม  อัลไลแอนซ์ ลอนดรี้ฯ เดินเกมรักษาแชมป์

ธุรกิจร้านสะดวกซักเนื้อหอม ผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรมชอบหยอดเหรียญซักผ้า ร้านค้า หันลงทุนเป็นเจ้าของกิจการ หนุน "อัลไลแอนซ์ ลอนดรี้" โตแรง ปี 65 จัดทัพรุกหนัก ชิงแชร์ 3 ปีแตะ 80% รักษาบัลลังก์ผู้นำ เล็งควักงบ "พันล้าน" ขยายโรงงานเฟสใหม่ เพิ่มกำลังผลิตเครื่องซักผ้า

ธุรกิจร้านซักผ้าหยอดเหรียญ หรือ “ร้านสะดวกซัก” มีผู้ประกอบการหลายแบรนด์ทำตลาดอยู่ เช่น อ๊อตเทริ วอช แอนด์ ดราย, ลอนดรี้บาร์ ลอนดรี้ ยู วันเดอร์ วอช เค-เน็กซ์ คอร์ปอเรชั่น และซินไฉฮั้ว ซักอบแห้ง ฯ แต่เบื้องหลังมี “เครื่องซักผ้า” แบรนด์ดังเช่น Speed Queen Huebsch Ipso ฯ ของยักษ์ใหญ่เบอร์ 1 ของโลก “ อย่าง “อัลไลแอนซ์ ลอนดรี้ ซิสเต็มส์ แอลแอลซี” คอยหนุน ติดอาวุธช่วยทำตลาด

สุกรี กีไร ผู้จัดการฝ่ายขายอาวุโสประจำภูมิภาคอินโดไชน่า บริษัท อัลไลแอนซ์ ลอนดรี้ ซิสเต็มส์ แอลแอลซี ผู้นำด้านการผลิตและจำหน่ายเครื่องซักผ้าอบผ้าอุตสาหกรรมระดับโลก เล่าจุดเริ่มต้นธุรกิจที่สหรัฐฯ โดยผลิตเครื่องซักผ้าเพื่ออุตสหากรรมเพียงอย่างเดียว ทำตลาดถึง 114 ปีแล้ว ขณะที่ไทยเพิ่งบุกเบิกปี 2561 เพราะเห็นแนวโน้มธุรกิจร้านสะดวกซักมีโอกาสเติบโต จากเทรนด์ของประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สิงคโปร์ ที่ทำตลาดอยู่ก่อน

การรุกธุรกิจร้านสะดวกซักในไทย บริษัทเดิมพันเล่นเกมใหญ่ ด้วยการทุ่มเงินลงทุน 1,500 ล้านบาท สร้างโรงงานผลิตสินค้า พร้อมแล็บวิจัยและพัฒนาสินค้าที่นิคมอุตสากรรมดับบลิวเอชเอ ชลบุรี 2 ซึ่งไทยถือเป็น “ฐานทัพ” การผลิตแห่งที่ 4 ของโลก นอกเหนือจากสหรัฐ สาธารณรัฐเช็ก และประเทศจีน ไทยยังเป็นหมุดหมายที่ 2 ที่มีแล็บวิจัยและพัฒนาสินค้าด้วย

ทั้งนี้ 4 ปีที่บุกตลาดในไทย บริษัทสร้างการเติบโตแบบก้าวกระโดด ปีแรกมีตัวแทนหรือดิสทริบิวเตอร์ เปิดร้านสะดวกซัก 6 แห่ง ปี 2562 มีร้านเพิ่มเป็น 264 แห่ง ปี 2563 เพิ่มเป็น 843 แห่ง และปี 2564 เพิ่มเป็น 1,535 แห่ง ขณะที่ภาพรวมตลาดคึกคักเติบโตเช่นกัน ปี 2561 มีร้าน 225 แห่ง ปี 2562 เพิ่มเป็น 553 แห่ง ปี 2563 เพิ่มเป็น 1425 แห่ง และปี 2564 มีร้าน 2,406 แห่ง

ธุรกิจร้านสะดวกซักบูม  อัลไลแอนซ์ ลอนดรี้ฯ เดินเกมรักษาแชมป์ สถานการณ์ดังกล่าว สะท้อนการแข่งขันที่มากขึ้น ไม่เพียงแบรนด์เครื่องซักผ้าเข้ามาทำตลาดหลักสิบราย ทั้งแบรนด์จากสหรัฐ จีน และไทย แต่ตัวแทนยังขยายร้านรูปแบบแฟรนไชส์จนมีร้านจำนวนมาก แนวโน้มตลาดยังโตต่อ สุกรี คาดการณ์ปี 6-7 ปีข้างหน้า ไทยจะมีร้านสะดวกซักแตะ 8,000 แห่ง มูลค่าทะยานสู่ 10,000 ล้านบาท จากปี 2564 อยู่ที่ 7,000 ล้านบาท

ปัจจัยทำให้ตลาดโต ได้แก่ เทรนด์ผู้บริโภคมีครอบครัวเล็กลง อาศัยอยู่ในคอนโดมิเนียม นิยมใช้บริการร้านสะดวกซักมากขึ้น ขณะเดียวกัน ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ผู้คนได้รับผลกระทบจาก “วิกฤติโควิด-19” ทำให้ตกงาน จึงหันมา “ลงทุน” เป็นเจ้าของกิจการมากขึ้น ซึ่ง “ร้านสะดวกซัก” มักติด 1 ใน 5 และ 1 ใน 10 ของธุรกิจที่น่าลงทุน

“โชคดีที่ธุรกิจร้านสะดวกซักมีการเติบโตสวนกระแสธุรกิจอื่นที่ได้รับผลกระทบจากโควิด นอกจากผู้บริโภคนิยมใช้บริการร้านสะดวกซักเพิ่ม โรคโควิด-19 ทำให้การตระหนักถึงเรื่องสุขอนามัยมากขึ้น และการซักผ้าที่ร้านใช้น้ำร้อน และอบแห้ง ทำให้ตอบโจทย์เรื่องสุขภาพได้ด้วย นอกจากนี้ ประชาชนสนใจทำธุรกิจร้านสะดวกซักจำนวนมาก เพื่อกระจายความเสี่ยงจากการเป็นไรเดอร์”

สำหรับร้านสะดวกซักมีทั้งแฟรนไชส์จากดิสทริบิวเตอร์ และไม่ใช่แฟรนไชส์สัดส่วน 50% เท่ากัน ขณะที่บริษัทมีโมเดลการลงทุน 3 ขนาด ตั้งแต่เล็ก กลาง ใหญ่ ใช้งบเริ่มต้น 2.5-4 ล้านบาท ขนาดเล็กมีเครื่องซักผ้า 4 เครื่อง เครื่องอบแห้ง 3 เครื่อง เป็นต้น โดยระยะเวลาคืนทุนอยู่ที่ 3 ปี

“ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ร้านสะดวกซักประสบความสำเร็จ มี 3 ข้อ คือ1.การใช้เครื่องซักผ้า ซึ่งเป็นต้นทุนหลักถึง 60% โดยเครื่องซักผ้าที่ต้องใช้ผลิตมาเพื่ออุตสาหกรรม เพราะต้องใช้บริการตลอด 24 ชั่วโมง แต่ภพรวมตลาดยังมีการนำเครื่องซักผ้าในครัวเรือนมาเปิดร้าน แม้การลงทุนหลักแสน แต่ผลลัพธ์การลงทุนต่างกัน 2.ดิสทริบิวเตอร์ที่น่าเชื่อถือ ซึ่งบริษัทจะตรวจสอบเข้มผู้ที่จะเป็นตัวแทนทั้งเรื่องเครดิตเงินทุน แผนธุรกิจ ทีมงาน เป็นต้น และ3.ทำเลที่ตั้งต้องมีกลุ่มเป้าหมายมาซักผ้า 6,000-8,000 คน”

ธุรกิจร้านสะดวกซักบูม  อัลไลแอนซ์ ลอนดรี้ฯ เดินเกมรักษาแชมป์ ดิสทริบิวเตอร์ร้านสะดวกซักแบรนด์ดัง พันธมิตร "อัลไลแอนซ์ ลอนดรี้"

 เมื่อทิศทางร้านสะดวกซักมาแรง ปี 2566 บริษัทจึงเตรียมควักงบหลัก “พันล้านบาท” เพื่อขยายการลงทุน เพิ่มกำลังการผลิตเครื่องซักผ้า รองรับการขยายตลาดสู่ประเทศเพื่อนบ้านทั้งเวียดนาม เมียนมา กัมพูชาและลาว รวมถึงส่งออกสินค้าไปยังตลาดออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฯ จากเดิมประเทศเหล่านั้นนำเข้าเครื่องซักผ้าจากประเทศเช็ก

อย่างไรก็ตาม แผนดังกล่าว บริษัทคาดว่าจะผลักดันยอดขายปี 2565 แตะ 1,000 ล้านบาท จากปี 2564 รายได้ 965 ล้านบาท เติบโต 76%

“4 ปีที่ทำตลาดในไทย เรามีส่วนแบ่งทางการตลาด 63% ภายใน 3 ปีข้างหน้าเราตั้งเป้าเพิ่มส่วนแบ่งตลาดเป็น 80% ส่วนรายได้ปีนี้เราตั้งเป้า 1,000 ล้านบาท แต่ไตรมาส 2 จะทบทวนเป้าหมายอีกครั้ง หากภาพรวมเศรษฐกิจ โรคระบาดมีการปรับตัวดีขึ้น”