‘ผ่อนคลาย’ ให้ ‘เศรษฐกิจ’ ขยับ

‘ผ่อนคลาย’ ให้ ‘เศรษฐกิจ’ ขยับ

รัฐฯ เล็งผ่อนคลาย “มาตรการโควิด-19“ ลดระดับเตือนภัยจากระดับ 4 เหลือระดับ 3 หวังให้ “เศรษฐกิจ” เดินหน้าต่อได้

สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศ (ดูเหมือน) มีแนวโน้มดีขึ้น “รัฐบาล” พยายามหาทางผ่อนคลายกฎเกณฑ์ต่างๆ ลง เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจได้ขับเคลื่อน ภาคท่องเที่ยวได้ฟื้นตัว วันนี้ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ “ศบค.” ประชุมหารือกำหนดมาตรการผ่อนคลายเพิ่มเติม เรื่องหลักๆ คือ การเปิดเทสต์แอนด์โก มีผลให้ทุกประเทศเดินทางเข้าไทยได้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 

มีการปรับโซนสีของพื้นที่ต่างๆ คือ 1. คงพื้นที่สีฟ้าเดิม 8 จังหวัด 2. ลดพื้นที่สีส้มจาก 69 จังหวัด เหลือ 40-42 จังหวัด 3. เพิ่มพื้นที่สีเหลือง 24-27 จังหวัด รวมถึงให้สามารถนั่งดื่มแอลกอฮอล์ได้ในร้านอาหารกึ่งผับบาร์ได้จากเดิมไม่เกิน 21.00 เป็น 23.00 น. 

พร้อมทั้งลดระดับการเตือนภัยโควิด19 จากระดับ 4 เหลือระดับ 3 โดยต้องพิจารณาหลายอย่าง เนื่องจากหากมีการติดเชื้อแล้วการระบาดมาก จะทำให้เกิดปัญหา ซึ่งตามหลักวิชาการโอมิครอนต้องดู 4 รอบการติดเชื้อหรืออย่างน้อย 28 วัน ถึงสามารถคำนวณตัวเลขทางสถิติได้ ปัจจุบันไทยมีการติดเชื้อโอมิครอนสะสมราวหมื่นราย คิดเป็นสัดส่วน 60% ของเชื้อที่ระบาดในประเทศไทย โดย 95-96% อาการน้อย ส่วนที่มีอาการมากประมาณ 2-3% กรณีเสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัว

มาตรการผ่อนคลายที่รัฐจะเคาะจากนี้ เชื่อว่ารัฐเองยังคงไม่ไว้ใจการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดว่า จะเบาบางลงได้จริง เพราะอย่าลืมว่าอัตราการฉีดวัคซีนในประเทศแม้เข็มที่ 1 เข็ม 2 สัดส่วนการฉีดจะมาก แต่เข็มบูสเตอร์ทั้งเข็ม 3 รวมถึงเข็ม 4 นั้นอัตราการฉีดยังมีไม่มากดังนั้นการตัดสินใจคลายล็อกครั้งนี้ อาจอยู่บนพื้นฐานที่ต้องการให้เศรษฐกิจที่อยู่ในภาวะชะงักงันขยับเดินหน้าต่อ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่ถูกแช่แข็ง ต้องเร่งฟื้นกลับคืนมา การรีเทิร์นเทสต์แอนด์โก ก็เป็นหนึ่งทางออกที่พอจะพยุงเศรษฐกิจเอาไว้ได้

ขณะที่ องค์กรอนามัยโลก หรือ WHO ยังออกมาเตือนว่า การแพร่ระบาดโควิด-19 ยังไม่มีทีท่าว่าใกล้จะจบลงแต่อย่างใด

นายทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก บอกว่า โอมิครอนเป็นสาเหตุให้มีการติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นถึง 18 ล้านคนเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา และแม้ว่ามันดูเหมือนจะทำให้ผู้ติดเชื้อมีอาการไม่มากนัก แต่โอมิครอนยังคงทำให้มีคนเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลและมีผู้เสียชีวิต ระบบสาธารณสุขยังต้องรับผู้ป่วยจำนวนมากการที่มีผู้ติดเชื้อโอมิครอนเพิ่มขึ้น ยังเป็นเหตุให้ไวรัสกลายพันธุ์ใหม่ๆ มีโอกาสเกิดขึ้นตามมา จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมการติดตามตรวจสอบและประเมินผลจึงยังมีความสำคัญอยู่

มาตรการผ่อนคลายในหลายเรื่องจากนี้ เราเห็นว่า ทุกมาตรการควรยังอยู่บนการกำกับดูแลที่เข้มงวด และไม่ประมาท เพราะยังไม่มีอะไรรับประกันได้ 100% ว่าเชื้อโควิดอ่อนแอ หรือเบาบางลงจนไว้วางใจได้ ที่สำคัญอัตราการฉีดวัคซีนในประเทศไทย โดยเฉพาะเข็มบูสเตอร์ยังไม่ได้มีสัดส่วนที่มากพอ แต่เมื่อเราต้องอยู่ร่วมกับโควิดให้ได้ประหนึ่งเป็นโรคประจำถิ่น รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรต้องเร่งระดมฉีดวัคซีนให้ประชาชนเพิ่มมากขึ้น และให้ครอบคลุมมากที่สุด