ผ่าธุรกิจ “อาคเนย์” ทุนใหญ่ประกันใต้ TGH

ผ่าธุรกิจ “อาคเนย์”   ทุนใหญ่ประกันใต้ TGH

ข่าวใหญ่การงัดข้อระหว่างบริษัทประกันยักษ์ใหญ่กับหน่วยงานกำกับดูแล โดยมีประชาชนเป็นเดิมพัน สร้างผลกระทบในหลายด้านเพราะการฟ้องร้องที่เกิดขึ้นมามาจากกรณีคำสั่งห้ามยกเลิกกรมธรรม์ “เจอ จ่าย จบ ” ทำให้ธุรกิจประกันต้องออกมายื่นคัดค้าน

รายใหญ่ในธุรกิจประกันดังกล่าว บริษัท เครือไทย โฮลดิ้งส์  จำกัด (มหาชน) หรือ TGH  ยื่นร้องต่อศาลปกครองกลางผ่าน บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน)  กับพวก ฟ้องร้อง เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) ไม่ชอบด้วยกฎหมายกรณีประกันโควิด “เจอ จ่าย จบ”

เนื่องจากสมาคมประกันวินาศภัยไทย มีมติเอกฉันท์ยื่นอุทธรณ์ บอร์ด คปภ.พิจารณายกเลิกคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 การใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโดยบริษัทในกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 สำหรับบริษัทประกันวินาศภัย

 

หากออกมามีการสั่งคุ้มครองชั่วคราวคำสั่งของ คปภ. จะกระทบประชาชนที่ถือกรมธรรม์ดังกล่าว 10 ล้านราย  แต่กรณียืนยันตามคำสั่งคปภ. ธุรกิจประกันภัย อาจจะมีความเสี่ยงภาวะล้ม และ ปิดกิจการตามมาในบางบริษัทด้วยเงินกองทุนไม่เพียงพอ  

ด้วยตัวเลขก่อนสิ้นปีเงินกองทุน บริษัทประกันวินาศภัยที่รับประกันภัยโดยรวมนั้นอยู่ที่ประมาณ 132,000 ล้านบาท แต่การเคลมประกันโควิดใกล้ทะลุ 40,000 ล้านบาท คิดเป็น 30% ของเงินกองทุนทั้งหมด ซึ่งอัตรานี้เป็นค่าเฉลี่ยของทุกบริษัท ทำให้อาจมีบางบริษัทที่มีความเสียหายสูงกว่าเงินกองทุนไปแล้วเป็นจำนวนมาก และอาจเพิ่มสูงถึง 60-70% ของเงินกองทุนหากเกิดการระบาดระลอกใหม่

ประเด็นดังกล่าวต้องรอติดตามคือการรับพิจาณาคดีของศาลปกครอง  แต่ทำให้พูดถึง TGH ที่ถือหุ้นใน อาคเนย์ประกันภัย ทำไหมถึงเดินหน้าคัดค้านมติ คปภ.  ยื่นร้องต่อศาลปกครองกลาง  รายใหญ่ในธุรกิจประกันของไทยมีที่มาและที่ไปอย่างไร รวมทั้งสิ่งที่เกิดขึ้นกับบริษัทประกันแห่งนี้ถึงขั้นต้องออกหน้าเสื่อมารับหน้าที่หัวหมู่ทะลวงฟันที่ต้องยอมรับว่าแลกกับความไม่พอใจของประชาชนที่เป็นลูกค้าประกัน

TGH  ดำเนินธุรกิจประกันในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี  2489 หรือ  75 ปี ภายใต้ชื่อ “อาคเนย์” ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่คือปี  2561 ด้วยการรับการรวมธุรกิจจากกลุ่ม  TGH   เพื่อเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมด

ภายใต้ TGH เป็นผู้นำสำคัญในกลุ่มธุรกิจการเงินยักษ์ใหญ่ของ  "ทีซีซี"  ภายใต้เจ้าของและผู้บริหารหลัก คือกลุ่ม “เจ้าสัว เจริญ สิริวัฒนภักดี”  มหาเศรษฐกิจไทยอันดับที่ 3 ปี 2564 จากนิตยสาร Forbes

โดยมีกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ 5 อันดับแรกคือ  1. บริษัท ผลมั่นคงธุรกิจ จำกัด สัดส่วน 45%  ,บริษัท อาคเนย์ แมเนจเม้นท์ จำกัด สัดส่วน  31.40% , บริษัท ไทยสิริวัฒน จำกัด สัดส่วน 4.99% ,บริษัท เพรสทีจ 2015     จำกัด สัดส่วน 4.97%  และ บริษัท สินธนรัตน์ จำกัด    สัดส่วน 4.92%

กลุ่มอาคเนย์ดำเนินธุรกิจประกัน ประกอบไปด้วยธุรกิจประกันชีวิตที่เป็นกำไรหลักของกลุ่ม คือ  “อาคเนย์ประกันชีวิต”  , ธุรกิจประกันวินาศภัย ผ่าน “ อาคเนย์ประกันภัย”   “อินทรประกันภัย” และ” ไทยประกันภัย”  ,    ธุรกิจลิสซิ่ง ผ่าน “ อาคเนย์แคปปิตอล”

โดยมีธุรกิจที่ทำรายได้มากที่สุด  ตามโครงสร้างรายได้ สิ้นปี 2563 อันดับ 1 ธุรกิจประกันชีวิต  41.15 % อันดับ 2  ประกันภัย  37.85%  อันดับ 3 ธุรกิจการเงิน 17.96 %  และอื่นๆ   3.04%

ช่วงระยะเวลาเกือบ 3 ปี  TGH มีฐานะการเงินเปลี่ยนแปลงอย่างทีนัยยะสำคัญ  โดยในปี 2563    มีรายได้   23,299 ล้านบาท   ลดลงจากปีก่อน  3.57 %  แต่มีกำไร 739 ล้านบาทเพิ่มขึ้นถึง  167 %  

ผ่าธุรกิจ “อาคเนย์”   ทุนใหญ่ประกันใต้ TGH

ขณะที่ 9 เดือนแรก ปี 2564 มีรายได้ 27,241 ล้านบาท  เพิ่มขึ้น 63.1%  ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกธุรกิจ  แบ่งเป็นเบี้ยรับประกันชีวิต เพิ่มขึ้น 37 % เบี้ยประกันภัยเพิ่มขึ้น  26 % ธุรกิจการเงินเพิ่มขึ้น 12 %  และอื่นๆเพิ่มขึ้น 145 %

โดยมีผลขาดทุนสุทธิ  224 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้น 791 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีกำไรสุทธิ เท่ากับ 567 ล้านบาท  กำไรสุทธิที่ลดลงมาจาก ธุรกิจประกันชีวิตซึ่งมีกำไรสุทธิลดลงจำนวน 186 ล้านบาท จากรายได้จากเงินลงทุนที่ลดลง

 ธุรกิจประกันภัยมีผลการดำเนินการขาดทุน เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการรับประกันภัย เพิ่มขึ้นจากค่าสินไหมทดแทนของการรับประกัน COVID-19   โดยที่ผลการรับประกันภัยรถยนต์มีการปรับตัวดีขึ้นมาก และธุรกิจการเงินมีกำไรจากการควบคุมค่าใช้จ่าย และต้นทุนทางการเงิน อีกทั้งลดส่วนขาดทุนในการขายรถยนต์หมดสัญญาเช่า

ทั้งนี้ผลกระทบจากช่วงไตรมาส 3  หรือช่วง 9 เดือนแรก ปี 2564 ถือว่าหนักสำหรับธุรกิจประกัน เพราะเผชิญภาวะขาดทุนและยังมีแนวโน้มขาดทุนต่อในไตรมาส 4 ปี 2564 ที่เตรียมประกาศออกมา        ยิ่งมีสายพันธุ์  “โอมิครอน” ที่ติดได้ง่ายทำให้ยอดเคลมประกันมีสิทธิจะปรับตัวสูงขึ้นไปอีก ซึ่งถือว่าเป็นสิทธิของผู้เอาประกันในฐานะที่ซื้อสินค้าและบริการไปแล้ว

ผลพ่วงจากการการระบาดโควิดที่ต่อเนื่องยาวนาน  และการรับมือการระบาดในประเทศที่ไม่ได้ไปในทิศทางเดียวกัน กลายเป็นบทเรียนราคาแพงให้กับคนในแวดวงประกันที่เร่งขายประกัน "เจอจ่ายจบ" และประชาชนที่หวาดผวาซื้อประกันจำนวนมาก จนสุดท้ายยังไม่ใครคาดการณ์ได้ว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจะมากแค่ไหนในอนาคต