ธอส.เผยลูกค้าร่วมมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ลดฮวบ

ธอส.เผยลูกค้าร่วมมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ลดฮวบ

ธอส.เผยยอดลูกค้าร่วมมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ปรับลดลงอย่างมีนัยสำคัญ สะท้อนผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ลดลง ทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ดีขึ้น ล่าสุดยอดร่วมมาตรการอยู่ที่ 5 หมื่นราย เทียบ 2 ปีก่อนหน้าอยู่ที่กว่า 8 แสนราย

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.)เปิดเผยว่า ขณะนี้ ผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ต่อลูกค้าของธนาคารได้ปรับลดลงอย่างมาก สะท้อนจากจำนวนผู้ที่ขอเข้ารับมาตรการช่วยเหลือจากธนาคารได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

ทั้งนี้ ในปีนี้ ธอส.ได้เปิดให้ลูกค้าสินเชื่อของธนาคารลงทะเบียนรับความช่วยเหลือตามโครงการปรับโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืนของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เพื่อช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 โดยโครงการการดังกล่าวเริ่มให้ลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการ ตั้งแต่วันที่ 24 ธ.ค.2564 ล่าสุดเมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว มีคนเข้าลงทะเบียนร่วมมาตรการเพียง 5.05 หมื่นบัญชี คิดเป็นวงเงินมูลหนี้ 5.32 หมื่นล้านบาท

“ในปีนี้ลูกค้าที่เข้าโครงการช่วยเหลือดังกล่าว ลดลงอย่างเห็นได้ชัด เมื่อเทียบกับช่วงปี 2563 ถึง 2564 ที่มีลูกค้าเข้าร่วมโครงการมากถึง 8.46 แสนบัญชี คิดเป็นมูลหนี้ 9.72 แสนล้านบาท”

อย่างไรก็ดี หากลูกค้ารายใดที่ยังไม่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติและจำเป็นต้องลดค่าใช้จ่ายในระยะยาว สามารถเข้าสู่โครงการปรับโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืนได้ โดยโครงการดังกล่าวจะปิดรับในวันที่ 25 ม.ค.นี้

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 24 ธ.ค.2564 ธปท.ได้ออกประกาศแนวทางให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ทำโครงการปรับโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืนให้กับลูกค้า เนื่องจาก สถาบันการเงินเฉพาะกิจเป็นสถาบันการเงินของรัฐที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้นซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อระบบการเงิน

ทั้งในด้านการดำเนินการตามพันธกิจตามที่กฎหมายจัดตั้งกำหนด การส่งเสริม การเข้าถึงบริการทางการเงิน การสนับสนุนการลงทุน และเป็นแหล่งเงินทุนที่สำคัญแก่ประชาชนทั่วไป ผู้ประกอบธุรกิจ หรือกลุ่มลูกหนี้ที่เป็นเป้าหมายตามนโยบายภาครัฐ

โดยลูกหนี้บางส่วนของสถาบันการเงินเฉพาะกิจเป็นลูกหนี้ที่มีความเปราะบาง จึงมักได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์หรือสถานการณ์ ที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น ภัยธรรมชาติ โรคระบาด เป็นต้น ที่ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจ และความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ ทำให้เกิดปัญหาลูกหนี้เสื่อมคุณภาพ ซึ่งเป็นปัญหาสะสมในระยะยาวได้