ธุรกิจขาย “กล่องสุ่ม” ผิดกฎหมายไหม เสียภาษีแบบไหน รู้เพื่อเตรียมวางแผนภาษี

ธุรกิจขาย “กล่องสุ่ม” ผิดกฎหมายไหม เสียภาษีแบบไหน รู้เพื่อเตรียมวางแผนภาษี

ใครที่กำลังทำธุรกิจขาย "กล่องสุ่ม" หรือกำลังคิดจะออกกล่องสุ่มมาขาย ไม่ว่าจะรูปแบบออฟไลน์หรือออนไลน์ จำเป็นต้องวางแผนให้ดี เพราะมีเรื่องกฎหมายและภาษีเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยหลายประเด็น

ธุรกิจฮอตฮิตที่สุดตอนนี้คงหนีไม่พ้นธุรกิจ “กล่องสุ่ม” ซึ่งจริงๆ มีการทำกล่องสุ่มขายกันมาหลายปีแล้ว โดยมีราคาตั้งแต่หลักสิบจนถึงหลักแสน รวมถึงบางธุรกิจทำเป็นของแจกของแถมสมนาคุณให้แก่ลูกค้าที่สนับสนุนกันมายาวนาน

กระทั่งตอนนี้ กล่องสุ่มเกิดเป็นกระแสโด่งดังมีการพูดถึงในหลายแง่มุม พ่อค้าแม่ค้าหันมาขายกล่องสุ่มกันอย่างล้นหลาม รวมถึงเรื่องของกฎหมายและภาษี ทำให้ ณ ตอนนี้ร้านค้า นักคิด นักขาย นักการตลาดทุกสาขา เริ่มตื่นตัวว่าจะต้องเดินไปทิศทางไหน และทำอย่างไรจึงจะถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด

ดังนั้น ใครที่ทำธุรกิจกล่องสุ่มอยู่ หรือคนที่กำลังคิดจะออกกล่องสุ่มมาขาย ไม่ว่าจะรูปแบบออฟไลน์หรือออนไลน์ จำเป็นต้องวางแผนให้ดี เพราะมีเรื่องกฎหมายและภาษีเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยหลายประเด็น ซึ่งถ้าหากคุณพร้อมแล้ว ไปเช็กกันว่า ธุรกิจกล่องสุ่มของตนเองทำถูกต้องตามกฎหมายแล้วหรือไม่ อยู่ในกลุ่มที่ต้องจ่ายภาษีแบบไหน และวางแผนภาษีกล่องสุ่มอย่างไรให้ถูกต้อง ไม่โดนสรรพากรตรวจสอบย้อนหลังกัน

  • กล่องสุ่มคืออะไร

กล่องสุ่ม (Mystery box) คือ กล่องที่มีการนำสินค้าหลายๆ อย่าง คละแบบ/ราคา ใส่ไว้ในกล่อง และมีการนำมาขาย โดยที่ผู้ซื้อไม่ทราบว่าสินค้าในกล่องมีอะไรบ้าง รู้เพียงราคาของกล่องที่ซื้อว่าเท่าไรเท่านั้น ซึ่งตามหลักแล้วถือเป็นกลยุทธ์ในการทำการตลาดแบบหนึ่ง เป็นการจัดโปรโมชั่นเพื่อกระตุ้นยอดขายและทำให้ลูกค้ารู้จักร้านมากขึ้น

ทั้งนี้ กล่องสุ่มในปัจจุบันมีสินค้าอยู่หลายประเภท ขึ้นอยู่กับเทคนิคของแต่ละร้าน เช่น กล่องสุ่มเครื่องครัว เครื่องสำอาง โทรศัพท์ เสื้อผ้า ของเล่น กระเป๋า เบ็ดเตล็ด อาหารทะเล เรื่อยไปจนถึงกล่องสุ่มอาหารตามสั่ง ก็ยังมีให้เลือกซื้อเลือกลุ้นได้ตามชอบใจ

  • ขายกล่องสุ่มผิดกฎหมายหรือไม่

ในการทำกล่องสุ่มขาย หากมีบางรายการสินค้าที่ราคาต่ำหรือสูงกว่ามูลค่ากล่องสุ่ม โดยที่ผู้ซื้อเข้าใจและยินยอมว่าอาจจะได้สินค้าที่ต่ำกว่าหรือสูงกว่ามูลค่ากล่องสุ่ม ลักษณะนี้จะเรียกว่าการ “ชิงโชค”

ดังนั้น ทางด้านกฎหมายจะถือว่าเข้าข่ายเป็นการพนัน ซึ่งการขายในรูปแบบนี้ จะต้องขออนุญาตจากกรมการปกครอง หรือเจ้าพนักงาน กระทรวงมหาดไทยก่อน จนได้รับใบอนุญาตและมีการประกาศล่วงหน้าให้ประชาชนทราบ จึงจะสามารถทำการขายกล่องสุ่มได้ ไม่เช่นนั้นจะถือว่าผิดกฎหมายการพนัน

ส่วนทางด้านที่เกี่ยวข้องกับภาษี ในลักษณะที่เป็นกล่องสุ่มชิงโชค เมื่อผู้ขายให้สินค้าที่มีมูลค่าเกินกว่าราคาที่จ่าย เช่น สินค้าในกล่องหลายๆ ชิ้นรวมกันมูลค่า 1,000 บาท ตามมูลค่ากล่องสุ่ม จะต้องเสีย VAT 7% เป็นรอบที่หนึ่ง และสินค้าที่เหลือเช่น ทอง รถยนต์ ที่มีมูลค่าเกินมูลค่ากล่องสุ่ม ก็จะต้องเสีย VAT อีกหนึ่งรอบ เพราะถือเป็นเรื่องของการชิงโชค รวมถึงผู้ขายจะต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ 5% ด้วย เพราะเป็นการชิงโชคนั่นเอง

  • ภาษีกล่องสุ่มที่เป็น “ของขาย” ไม่ใช่ “ของแถม”

หากมองเรื่อง “กล่องสุ่ม” ในมุมของภาษี ยังมีอยู่หลายประเด็นที่ร้านค้าไม่ควรมองข้าม ถ้ากล่องสุ่มเป็น “ของขาย” (ร้านค้า ขายสินค้าที่เป็น กล่องสุ่ม โดยตรง)

การขายสินค้า ทำให้ร้านค้ามีรายได้เกิดขึ้น และแน่นอนว่ารายได้นั้น ต้องนำไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตามรูปแบบธุรกิจของกิจการที่ขาย และหากรายได้ต่อปีเกิน 1.8 ล้านบาท กิจการก็ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และเสียภาษีมูลค่าเพิ่มรายเดือนให้ถูกต้องด้วย

อีกเรื่องที่ต้องพิจารณา คือ เรื่องของการขายที่ต่ำกว่าราคาตลาด อย่างเช่นมูลค่ากล่องสุ่ม 1,000 บาท แต่สินค้าในกล่องมีมูลค่า 2,000 บาท กฎหมายได้กำหนดไว้ว่าห้ามขายต่ำกว่าตลาด ซึ่งหากขายต่ำกว่าตลาดโดยไม่มีเหตุอันสมควร มูลค่าของฐานภาษีให้ถือตามราคาตลาดของสินค้า (เจ้าพนักงานสรรพากรมีอำนาจตามกฎหมาย สามารถประเมินรายได้เพิ่มขึ้นให้เป็นไปตามราคาตลาด ทำให้กิจการต้องเสียภาษีเพิ่ม)

แต่หาก ผู้ขายสามารถอธิบายเหตุผลอันสมควรกับสรรพากรได้ เช่นเป็นการทำโปรโมชั่นไม่ได้จงใจเพื่อทำให้ธุรกิจขาดทุน หรือมีแนวทางที่เป็นกำไรซ่อนอยู่ในนั้น (ภาพรวมยังคงกำไร) เจ้าหน้าที่อาจพิจารณาว่าเป็นเหตุอันสมควรได้

  • ภาษีกล่องสุ่มที่เป็น “ของแถม” ไม่ใช่ “ของขาย”

ส่วนกล่องสุ่มที่เป็น “ของแถม” เช่นการซื้อของปกติแต่มีกล่องสุ่มแถมไป หรือซื้อกล่องสุ่มซึ่งในกล่องสุ่มมีสินค้า 1 ชิ้น และมีสินค้าอื่นแถมไปด้วย หากผู้ขายทำกล่องสุ่มรูปแบบนี้ จะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ในส่วนที่เป็นของแถมด้วย

แต่ก็มีข้อยกเว้นของแถมที่ไม่คิด VAT คือต้องเป็นการแถมพร้อมกับการขายสินค้า ที่มูลค่าของสินค้าที่แถมจะต้องไม่เกินมูลค่าของสินค้า ถ้าของแถมมีมูลค่ามากกว่าสินค้าต้องคิด VAT ของแถมตามราคาตลาดนอกจากนี้ผู้ขายจะต้องออกใบกำกับภาษี โดยกฎหมายกำหนดว่าต้องมีการระบุชนิด ประเภท และปริมาณสินค้าที่แถมไว้ในใบกำกับภาษีฉบับเดียวกันด้วย

ส่วนการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับกล่องสุ่มที่มีมูลค่าสินค้าของแถมเกินกว่ามูลค่ากล่องสุ่ม จะต้องนำมูลค่าของแถมบวกรวมกับมูลค่าเงินที่ได้รับ (มูลค่ากล่องสุ่ม) แล้วคิด VAT 7% นำส่งสรรพากร

  • แนวทางวางแผนภาษีกล่องสุ่ม

- เลือกว่าจะทำกล่องสุ่มในรูปแบบไหน ชิงโชค ขาย หรือเป็นของแถม เพื่อให้จัดการเรื่องกฎหมายและภาษีได้ถูกต้อง

- หากเลือกเป็นการชิงโชค ต้องขออนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อออกใบอนุญาต และมีการประกาศล่วงหน้าให้ประชาชนทราบ จึงจะสามารถทำการขายกล่องสุ่มได้

- ภาษีสำหรับกล่องสุ่มแบบชิงโชค ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 2 ต่อ คือ 1) เสีย VAT ตามมูลค่ากล่องสุ่ม และ 2) เสีย VAT สินค้าที่มีมูลค่าเกินมูลค่ากล่องสุ่ม รวมถึงต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย 5% ด้วย

- หากทำกล่องสุ่มเป็นลักษณะการขายสินค้า สินค้าที่อยู่ในกล่องจะถือว่าเป็นสินค้าทั้งสิ้น รวมถึงต้องออกใบกำกับภาษีให้ครบถ้วน

- ราคาขายไม่ควรต่ำกว่าราคาตลาด หรือหากต่ำกว่าราคาตลาด ต้องมีเหตุอันสมควร ซึ่งสามารถชี้แจงกับสรรพากรได้

- หากทำกล่องสุ่มเป็นลักษณะของแถม อยากทำโปรโมชั่น หรือทำการตลาดที่มีของแถมไปด้วย อย่าให้ของแถมเกินกว่าราคาสินค้าที่ขาย และมีการระบุไว้ในใบกำกับภาษีอย่างชัดเจนว่าเป็นของแถม มีมูลค่าเท่าไร เพื่อป้องกันเมื่อสรรพากรตรวจสอบ

- หากของแถมมีมูลค่าสูงกว่ามูลค่ากล่องสุ่ม ต้องนำมูลค่าของแถม + มูลค่ากล่องสุ่ม แล้วคิด VAT 7%

ดังนั้น ผู้ขายต้องวางแผนให้รอบคอบก่อน ว่าจะขายของ/ทำโปรโมชั่นกล่องสุ่มในรูปแบบไหน และยื่นภาษีให้ถูกต้องครบถ้วนตามกฎหมายกำหนด ปัญหาเรื่องกฎหมายและภาษีก็จะไม่ตามมาแน่นอน

-----------------------------------
Source :
 Inflow Accounting
อ่านบทความน่ารู้เกี่ยวกับภาษีเพิ่มเติม คลิกที่นี่