ดีเดย์เก็บค่า “เหยียบแผ่นดิน” เม.ย.นี้  ลุ้นนักท่องเที่ยวเข้าไทย 15 ล้านคน

ดีเดย์เก็บค่า “เหยียบแผ่นดิน” เม.ย.นี้  ลุ้นนักท่องเที่ยวเข้าไทย 15 ล้านคน

รัฐบาลเดินหน้าเก็บค่าเหยียบแผ่นดิน นักท่องเที่ยวเข้าไทย 300 บาทต่อคน เริ่มเดือน เม.ย.นี้ แจงนำเเงินไปทำประกันให้นักท่องเที่ยว ปรับปรุงสถานที่ท่องเที่ยว คาดนักท่องเที่ยวปีนี้ 5 - 15 ล้านคน ตามสถานการณ์ของการระบาดของโควิด-19 ยันรัฐบาลหนุนเที่ยวในประเทศต่อเนื่อง

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม  เดินหน้าแผนส่งเสริมการท่องเที่ยวในปีนี้ ซึ่งเป็นปีท่องเที่ยวไทย โดยกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กำหนดโปรโมทการท่องเที่ยวไทยภายใต้แนวคิด “อะเมซิ่ง ไทยแลนด์ นิว แชปเตอร์” (Amazing Thailand New Chapter) จุดขายใหม่ด้านการท่องเที่ยวของไทย ภายในเดือนมกราคม นี้ รวมถึงเดินหน้าจัดทำเส้นทางท่องเที่ยวสีขาว สอดคล้องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (BCG) ในภาคการท่องเที่ยว ที่จะช่วยให้เกิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนและปลอดภัยขึ้น 

ในช่วงไตรมาส 2 ช่วงเดือนเมษายน วางแผนจะเก็บเงินจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้าไทย 300 บาทต่อคน หรือเรียกกันว่า "ค่าเหยียบแผ่นดิน"  เพื่อนำเงินที่ได้รับไปพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในไทย และทำประกันให้แก่นักท่องเที่ยว กรณีประสบอุบัติเหตุ หรือเสียชีวิต ก็จะได้รับวงเงินสูงสุด 1 ล้านบาท หรือ ค่ารักษาพยาบาล ได้รับสูงสุด 5 แสนบาท เป็นต้น โดยวางแผนเก็บรวมกับค่าตั๋วเครื่องบินกรณีเดินทางทางอากาศ และอยู่ระหว่างการพิจารณาวิธีการเรียกเก็บจากการเดินทางทางบก 

สำหรับเป้าหมายการท่องเที่ยวในปีนี้กระทรวงการท่องเที่ยวฯ คาดว่าไทยจะมีรายได้จากการท่องเที่ยวอยู่ที่ราว 1.3-1.8 ล้านล้านบาท คาดว่าจะมีต่างชาติเที่ยวไทย อยู่ที่ระหว่าง 5-15 ล้านคน สร้างรายได้ราว 8 แสนล้านบาท

โดยประเมินว่าหากสถานการณ์ยังเป็นเหมือนปกติทั่วไป หากมีนักท่องเที่ยวจากยุโรปและสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก ไทยน่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ 5 ล้านคน

ถ้ามีอินเดียเพิ่มเข้ามา ก็จะได้ถึง 7 ล้านคน

และหากจีนเปิดให้คนออกนอกประเทศได้ หลังกลางปีนี้ไปแล้ว ก็น่าจะมีประมาณ 9 ล้านคน

นอกจากนี้หากมีการเปิดชายแดนให้เที่ยวได้ ซึ่งจะมี เมียนมา ลาว มาเลเซีย ซึ่งน่าจะได้ถึง 15 ล้านคน

ส่วนการเดินทางเที่ยวในประเทศ คาดว่าจะอยู่ที่ 160 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ราว 7 แสนล้าน

ซึ่งในปีนี้ภาครัฐยังเดินหน้าโครงการกระตุ้นไทยเที่ยวไทยอย่างต่อเนื่อง  ทั้งนี้แม้จะมีโอมิครอน แต่การคาดการณ์ท่องเที่ยวในปี 65 จะยังคงยืนเป้าหมายนี้ไว้อยู่เพื่อเป็นเป้าหมายสำหรับการทำงานต่อไป 

แม้จะมีการแพร่ระบาดของโอมิครอน แต่ล่าสุดหลายประเทศในแถบยุโรป และสหรัฐอเมริกา ก็ได้เลิกล็อกดาวน์แล้วเพราะได้รับการฉีดวัคซีน และแม้โอมิครอนจะแพร่กระจายเชื้อเร็ว แต่ความรุนแรงของอาการน้อยกว่าเดลต้า

 นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานติดตามประเมินสถานการณ์ทั้งภายในประเทศ และศึกษากรณีของต่างประเทศอย่างใกล้ชิด เพื่อวางแผนเดินหน้าฟื้นประเทศภายใต้การรักษาสมดุลทางเศรษฐกิจและสาธารณสุขต่อไป ในส่วนของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ได้มีการเตรียมพร้อมรองรับสถานการณ์ซึ่งทุกโครงการจะดำเนินการตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด” นายธนกรฯ กล่าว