คลัสเตอร์ “22อปท.” ชลบุรี ศึกษาตั้งโรงไฟฟ้าขยะ 29 เม็ก

คลัสเตอร์ “22อปท.” ชลบุรี  ศึกษาตั้งโรงไฟฟ้าขยะ 29 เม็ก

อปท. 22 แห่ง ตั้งรับแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของปริมาณขยะจากครัวเรือน รวมกลุ่มคลัสเตอร์ตั้ง “ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยเพื่อผลิตพลังงาน” และ “ศูนย์ขนถ่ายขยะมูลฝอย” โดยมีเมืองพัทยารับเป็นเจ้าภาพดำเนินการศึกษา

การขับเคลื่อนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จะทำให้เกิดการขยายตัวของเมือง ภาคอุตสาหกรรม และการย้ายถิ่นฐานเข้ามาประกอบอาชีพของประชาชนจากต่างถิ่นรวมถึงต่างชาติ รวมทั้งภาคการท่องเที่ยวที่จะกลับมาฟื้นตัวใน จ.ชลบุรี ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อปริมาณขยะ ของเหลือทิ้งจากการอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้น

สถานการณ์ดังกล่าวสวนทางกับความสามารถในการจัดการปัญหา “ขยะมูลฝอย” ในปัจจุบัน จากกลุ่มพื้นที่การจัดการขยะมูลฝอย กลุ่มพื้นที่ 2 จ.ชลบุรี ได้แก่ อําเภอศรีราชา อําเภอบางละมุง อําเภอสัตหีบ มีปริมาณขยะมูลฝอยรวมกันโดยประมาณ 1,594.23 ตันต่อวัน และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีกตามการเติบโตของเมืองและเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ เดิมการกําจัดขยะมูลฝอยอยู่ในรูปแบบของการใช้บ่อฝังกลบ (Landfill) ซึ่งไม่สามารถรองรับปริมาณขยะมูลฝอยที่เพิ่มมากขึ้นต่อวันได้ ทั้งยังยังก่อให้เกิดปัญหามลภาวะตามมา หากไม่มีมาตรฐานเพียงพอ อาทิ ปัญหาน้ำชะขยะจากการทับถมและหมักหมมของขยะสู่น้ำใต้ดินปะปนกับน้ำบ่อ น้ำบาดาล คูคลอง ซึ่งเป็นอันตรายต่อคน สัตว์ รวมถึงพืชผลทางการเกษตร เกิดมลภาวะของกลิ่น ส่งผลต่อผู้พักอาศัยบริเวณดังกล่าว 

ประกอบกับการใช้งานบ่อฝังกลบขยะมูลฝอยรองรับขยะได้จํากัดและจะมีระยะเวลาการใช้งานได้อีกไม่นาน จึงมีความจําเป็นต้องปรับเปลี่ยนแนวทางการบริหารจัดการขยะมูลฝอยให้เกิดความยั่งยืนโดยการจัดทําโครงการ “ศูนย์กําจัดขยะมูลฝอยเพื่อผลิตพลังงาน” และ “ศูนย์ขนถ่ายขยะมูลฝอย” เพื่อรองรับปริมาณขณะมูลฝอยใน 3 อำเภอ ดังกล่าว

สนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา กล่าวว่า ภายหลังจากการจัดการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในรัศมี 5 กิโลเมตร รอบพื้นที่ซึ่งผ่านการตรวจสอบการใช้ประโยชน์ที่ดินและหลักเกณฑ์ที่มีความเหมาะสมมากที่สุด โดยเมื่อวันที่ 27 ธ.ค.2564 ที่เป็นการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในครั้งแรกเรื่องการจัดตั้งศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยเพื่อผลิตพลังงาน หรือ โรงไฟฟ้า พบว่าส่วนใหญ่ประชาชนในพื้นที่เห็นด้วยกับการดำเนินโครงการดังกล่าว

รวมทั้งได้มีการสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้ รวมถึงพูดคุยประเด็นปัญขยะที่ยังมีอยู่ทุกวันนี้ อาทิ ขยะตกค้าง การขนถ่ายจากรถขยะ และปัญหาเรื่องกลิ่น จึงเห็นความจำเป็นที่จะต้องมีโครงการนี้เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน เพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ในระยะยาว

องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในอำเภอศรีราชา อำเภอบางละมุงและอำเภอสัตหีบ รวม 22 แห่ง ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการจัดเก็บและกำจัดขยะมูลฝอยเองเห็นชอบต่อการดำเนินโครงการ เพื่อรองรับปริมาณของขยะมูลฝอยที่เพิ่มมากขึ้น

“สำหรับความคืบหน้าในการดำเนินโครงการอยู่ในระหว่างการดำเนินการรับฟังความเห็นเรื่องศูนย์ขนถ่ายขยะมูลฝอย จากเดิมที่จะจัดขึ้นในวันที่ 11 ม.ค.2565 ต้องเลื่อนออกไปก่อน ด้วยสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ต้องเฝ้าระวังมากขึ้น”

ทั้งนี้ จากการศึกษาได้มีการเสนอให้ใช้เทคโนโลยีเตาเผาแบบตะกรับ (Stroker-type Incinerator) เป็นการกำจัดมูลฝอยแบบองค์รวม โดยขยะมูลฝอยจะถูกป้อนเข้าห้องเผาไหม้ และใช้ความร้อนต้มน้ำเพื่อสร้างแรงดันไอน้ำหมุนขับเพลาของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าในการผลิตกระแสไฟ ซึ่งน้ำจะเกิดการวนซ้ำเพื่อใช้งานอย่างเป็นระบบ ส่วนเถ้าหนักที่ได้จากการเผาจะถูกส่งไปกำจัดที่บ่อฝังกลบกากเถ้าตามหลักสุขาภิบาลหรือส่งหน่วยงานกำจัดกากของเสียอุตสาหกรรมที่ได้รับอนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.)

โครงการดังกล่าวตั้งเป้าให้มีการรวมขยะมูลฝอยจาก อปท. 22 แห่ง รวม 1,594.23 ตันต่อวัน มีกำลังการผลิตไฟฟ้า 29.7 เมกะวัตต์ แบ่งขายกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตได้ 24 เมกะวัตต์ และใช้ภายในโรงงาน 5.7 เมกะวัตต์ ซึ่งคาดการณ์ว่าจะใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างโครงการประมาณ 50 เดือน เริ่มเปิดดำเนินงานในเชิงพาณิชย์ภายในวันที่ 1 ม.ค.2570 จนถึง 31 ธ.ค.2589

ทั้งนี้ แบ่งต้นทุนโครงการเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ด้วยต้นทุนการก่อสร้างและปรับปรุงสถานีขนถ่ายทั้ง 3 พื้นที่ งบประมาณ 150 ล้านบาท และต้นทุนการก่อสร้างและติดตั้งระบบกำจัดขยะมูลฝอยและผลิตพลังงานไฟฟ้า มูลค่าลงทุน 6,000 ล้านบาท

ด้านผลตอบแทนโครงการคาดว่าจะสามารถกำจัดขยะมูลฝอยอย่างมีประสิทธิภาพได้ 580,364 ตันต่อปี รวมทั้งทำให้ชุมชนโดยรอบที่ตั้งโครงการได้รับการดูแลคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม ผ่านกิจกรรมมวลชนสัมพันธ์และกองทุนรอบโรงไฟฟ้า 1.68 ล้านบาทต่อปี พร้อมกับที่ยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนที่ร่วมโครงการในการได้รับกำจัดขยะมูลฝอยอย่างยั่งยืน ลดผลกระทบและปัญหาเดิม รวมทั้งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

นอกจากนี้ ได้มีการเสนอให้ประชาชนมีส่วนร่วมเพื่อลดข้อวิตกกังวลและโครงการสามารถดำเนินอยู่ร่วมกับชุมชนได้ โดยใช้กลไกการรับเหตุร้องเรียนจากชุมชนโดยรอบที่ตั้งโครงการ กรณีพบปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมได้โดยสะดวก อีกทั้งการแต่งตั้งคณะกรรมการไตรภาคีจากผู้แทน 3 ฝ่าย สัดส่วนเท่ากัน ได้แก่ อปท. ผู้แทนชุมชน และผู้แทนจากผู้ประกอบการ

สำหรับ อปท.ทั้ง 22 แห่ง ได้แก่

1.พื้นที่อำเภอศรีราชา จำนวน 6 แห่ง คือ เทศบาลนครเจ้าพระยาสุรศักดิ์ , เทศบาลนครแหลมฉบัง , เทศบาลเมืองศรีราชา , เทศบาลตำบลบางพระ , อบต.บ่อวิน และ อบต.หนองขาม

2.พื้นที่อำเภอบางละมุง 8 แห่ง คือ เมืองพัทยา , เทศบาลเมืองหนองปรือ , เทศบาลตำบลตะเคียนเตี้ย , เทศบาลตำบลบางละมุง , เทศบาลตำบลโป่ง , เทศบาลตำบลหนองปลาไหล , เทศบาลตำบลห้วยใหญ่ และ อบต.เขาไม้แก้ว

3.พื้นที่อำเภอสัตหีบ 8 แห่ง คือ เทศบาลเมืองสัตหีบ , เทศบาลตำบลบางเสร่ , เทศบาลตำบลนาจอมเทียน , เทศบาลตำบล เขตรอุดมศักดิ์ , เทศบาลตำบลเกล็ดแก้ว , เทศบาลตำบลเขาชีจรรย์ , อบต.พลูตาหลวง และ อบตแสมสาร