สกัด "โอมิครอน" ป่วน เศรษฐกิจต้องไปต่อ

สกัด "โอมิครอน" ป่วน เศรษฐกิจต้องไปต่อ

โจทย์ที่ยากของการสกัด "โอมิครอน" คือ อย่าทำให้ระบบเศรษฐกิจหยุดชะงัก ต้องให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเดินต่อได้ ภายใต้มาตรการกำกับดูแล ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือและความรับผิดชอบของทุกคน ทุกฝ่าย 

แม้ “โอมิครอน” จะมีพิษสงไม่มากเท่าสายพันธุ์ก่อนหน้า เหมือนอย่างที่องค์การอนามัยโลก ออกมาระบุ มีหลักฐานมากขึ้นว่าโควิดสายพันธุ์โอมิครอนส่งผลต่อทางเดินหายใจสวนบน เป็นเหตุให้อาการน้อยกว่าสายพันธุ์ก่อนหน้า บางพื้นที่จึงมีอัตราติดเชื้อพุ่งแต่อัตราเสียชีวิตต่ำ แต่ชีวิตต้องตั้งอยู่ในความไม่ประมาท แม้เชื้อจะไม่รุนแรงแต่การแพร่ระบาดเป็นไปอย่างรวดเร็ว ทวีคูณ ไม่ควรชะล่าใจ การ์ดต้องยกให้สูง ความรับผิดชอบต่อตัวเอง และสังคมยังต้องมี 

นับตั้งแต่ที่โอมิครอนถูกตรวจพบครั้งแรกเดือน พ.ย. 2564 ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกชี้ว่า โอมิครอนแพร่กระจายได้เร็วและเกิดขึ้นใน 128 ประเทศเป็นอย่างน้อย สร้างความยากลำบากให้หลายชาติ รวมถึงประชาชนที่พยายามพลิกฟื้นเศรษฐกิจ และกลับมาใช้ชีวิตปกติหลังจากปั่นป่วนเพราะโควิด-19ไปกว่าสองปี แต่แม้จำนวนผู้ติดเชื้อพุ่งขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ แต่อัตราการเข้าโรงพยาบาลและเสียชีวิตกลับต่ำกว่าการระบาดระลอกอื่น ๆ

ในประเทศไทย โอมิครอนเริ่มสร้างผลกระทบในวงกว้าง และสร้างความหวาดหวั่นให้กับผู้คนที่เริ่มกลับมาใช้ชีวิต แม้ทุกคนจะยังคงมาตรการป้องกันตัวเองที่เข้มงวด เคร่งครัด แต่เพราะเชื้อที่ระบาดได้เร็ว และติดเชื้อง่าย จึงไม่รู้ว่าระหว่างทาง จะมีจุดที่เผอเรอเปิดช่องโหว่ให้โอมิครอนแทรกซึมเข้าสู่ร่างกายได้แบบไม่รู้ตัวตอนไหน

ดังนั้น การเข้มงวดป้องกันตัวเองไว้ก่อนยังเป็นสิ่งที่ดี ไม่เพียงแค่ผลกระทบต่อบุคคลเท่านั้น แต่ในมุมธุรกิจที่เป็นภาพใหญ่ของประเทศเริ่มระส่ำระสาย โดยเฉพาะการท่องเที่ยวที่เมื่อระงับ Test & Go นานขึ้นย่อมกระทบต่อผู้ประกอบการเป็นลูกโซ่ กระทบถึงรายได้ประเทศช่วงที่เศรษฐกิจต้องการแรงพลิกฟื้น

ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ออกมาคาดการณ์ว่า ไม่เกิน 1 สัปดาห์นี้ ไทยจะพบการติดเชื้อใหม่ทะลุหมื่นราย และภายในปลายเดือนมกราคม จะเห็นตัวเลขวันละ 2-3 หมื่นราย เป็นการกลับไปสู่การมีผู้ติดเชื้อแตะหลักหมื่นเหมือนเมื่อครั้งโควิด-19 ระบาดอย่างรุนแรง  เราเห็นว่าระบบสาธารณสุขโดยภาพรวม คงต้องเตรียมพร้อมกลับมารับมือให้ได้ 

ขณะที่ ต้องจับตาวันที่ 7 ม.ค.นี้ ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.ชุดใหญ่จะประชุมพิจารณามาตรการคุมการระบาดโอมิครอน เช่น ปรับพื้นที่สีตามสถานการณ์สำคัญ การจำกัดจำนวนคน จำกัดการรวมกลุ่ม จำกัดการทำกิจกรรม การดื่มสุราในร้านอาหาร เราเห็นว่า รัฐบาล สาธารณสุข หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งภาคธุรกิจต้องผนึกกำลังร่วมกันสกัดการ ‘ป่วน’ ของโอมิครอนลงให้ได้ โจทย์ที่ยาก คือ อย่าทำให้ระบบเศรษฐกิจหยุดชะงัก ต้องให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเดินต่อได้ ภายใต้มาตรการกำกับดูแล ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือและความรับผิดชอบของทุกคน ทุกฝ่าย