BGRIM จ่อปิดดีลซื้อโรงไฟฟ้า 4-5 โครงการปีหน้า บุกยุโรป-สหรัฐ

BGRIM จ่อปิดดีลซื้อโรงไฟฟ้า 4-5 โครงการปีหน้า บุกยุโรป-สหรัฐ

“บี.กริม” กางแผนปี 65 เดินหน้าขยายธุรกิจโรงไฟฟ้าทั้งใน-ต่างประเทศ มองหาโอกาสซื้อกิจการในยุโรป-สหรัฐ เน้นพลังงานทดแทน ตั้งเป้าปีหน้ากำลังการผลิตเพิ่ม 1 พันเมกะวัตต์ หนุนรายได้เติบโต 10-15% อยู่ระหว่างศึกษาสินทรัพย์ดิจิทัลมาต่อยอดธุรกิจ

นายฮาราลด์ ลิงค์ ประธาน บี.กริม และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM เปิดเผยว่า สำหรับทิศทางธุรกิจในปี 2565 บริษัทยังเดินหน้าขยายธุรกิจโรงไฟฟ้าทั้งในและต่างประเทศ โดยในประเทศคาดว่าจะเข้าประมูลตามแผน ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบเชื่อมต่อสายส่ง (Solar Rooftop) และโรงไฟฟ้าลอยน้ำจากพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Floating) ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกของรัฐบาล

ส่วนต่างประเทศจะเดินหน้าขยายการลงทุนทั้งในโครงการที่สร้างเสร็จและมีรายได้แล้ว (Brownfield Project) ผ่านวิธีการควบรวมกิจการ (M&A) และโครงการที่ยังไม่แล้วเสร็จ (Greenfield Project) ซึ่งในปี 2565 นอกจากโรงไฟฟ้าในภูมิภาคที่บริษัทได้เริ่มลงทุนแล้ว BGRIM ยังมีแผนขยายไปยังภูมิภาคใหม่ๆ ได้แก่ ภูมิภาคยุโรป และสหรัฐอเมริกา

ทั้งนี้ บริษัทจะเน้นลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายในการเป็นองค์กรที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ภายในปี 2593 (Net-Zero Carbon Emissions 2050) ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังความร้อนร่วมที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงประมาณ 70% และจากพลังงานทดแทนหรือพลังงานสะอาดประมาณ 30%

สำหรับเป้าหมายในปี 2565 คาดว่ารายได้รวมของบริษัทจะเติบโตประมาณ 10-15% โดยได้ปัจจัยหนุนจากกำลังการผลิตไฟฟ้าที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นราว 1,000 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นกำลังการผลิตจากโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ปีหน้าประมาณ 700 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่าง M&A อีกราว 4-5 โครงการ กำลังการผลิตมากกว่า 500 เมกะวัตต์ ซึ่งคาดว่าจะทยอยเห็นความชัดเจนในปี 2565

ในส่วนของงบลงทุนปีหน้าตั้งเอาไว้ที่ 1 แสนล้านบาท เพื่อใช้ลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง และโครงการโรงไฟฟ้าใหม่ที่จะเข้าซื้อกิจการ โดยแหล่งเงินทุนจะมาจากกระแสเงินสดของบริษัทราว 2.0-2.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งในส่วนนี้บริษัทมีแผนจะออกและเสนอขายหุ้นกู้อีกราว 7-8 พันล้านบาท ส่วนอีก 7.5 หมื่นล้านบาท เป็นวงเงินสินเชื่อเพื่อสนับสนุนโครงการ (Project Backup Finance) จากสถาบันการเงิน 

เมื่อสอบถามถึงกระแสการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัล รวมถึงการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้ประโยชน์ในระบบนิเวศ (Ecosystem) ของบริษัท นายฮาราลด์ กล่าวว่า บริษัทมีความสนใจศึกษาการนำสินทรัพย์ดิจิทัล เช่น โทเคนดิจิทัล (Digital Token) หรือโทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ (Utility Token) มาต่อยอดในโครงการซื้อขายไฟฟ้าด้วยระบบไมโครกริดและระบบสมาร์ทไมโครกริด (Smart Microgrid) ในเฟสถัดไป ภายหลังปัจจุบันอยู่ระหว่างพัฒนาแพลตฟอร์มการซื้อขายไฟฟ้า (Trading Platform) กับลูกค้าโดยตรง