ผู้ผลิตอาหารร้องรัฐแก้ ’กระป๋อง’ แพง

สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กังวลราคาแผ่นเหล็กราคาสูงต่อเนื่องกว่า 2 ปีเพิ่มขึ้นร้อยละ 93-112 ส่งผลให้ราคากระป๋องขยับขึ้นร้อยละ 60 หวั่นกระทบต่อผู้ประกอบการต้องแบกรับภาระต้นทุนกระป๋องเพิ่มขึ้นร้อยละ 20-30 พ่วงต่อไปยังผู้บริโภครุนแรง

นายธรรศ ทังสมบัติ นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป (THAI FOOD PROCESSORS' ASSOCIATION-TFPA ) เปิดเผย ผู้ผลิตแผ่นเหล็กในประเทศมีเพียงสองราย มีกำลังการผลิต 50% ของความต้องการใช้ ผู้ผลิตกระป๋องจึงต้องนำเข้าแผ่นเหล็กจากต่างประเทศ เพื่อสร้างความสมดุล และลดการผูกขาดในตลาด โดย จากมาตรการ AD ของกรมการค้าต่างประเทศ สำหรับการนำเข้าแผ่นเหล็กทินเพลทและทินฟรี จะซ้ำเติมต้นทุนของราคากระป๋องให้แพงมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้ต้นทุน ของกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารสูงขึ้น จนอาจต้องปรับขึ้นราคาสินค้า กระทบต่อผู้บริโภคได้ รวมถึงกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมอาหารกระป๋องของไทยในตลาดโลก
        ด้าน นายองอาจ กิตติคุณชัย เลขาธิการสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวว่า ในสภาวการณ์ที่เศรษฐกิจดึงตัว ผู้บริโภคในประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้มีรายได้น้อย ต้องเผชิญกับความยากลำบากจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และพึ่งพาอาหารกระป๋องในการยังชีพ ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารกระป๋องจึงพยายามอย่างเต็มที่ในการบริหารต้นทุนการผลิต เพื่อกระทบต่อผู้บริโภคน้อยที่สุด
         ทั้งนี้ พบว่าราคาแผ่นเหล็กราคาปรับตัวมาโดยตลอดตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 ปี 2563 ไปจนถึงไตรมาสแรกของปี 2565 ร้อยละ 93-112   ส่งผลให้ราคากระป๋องขยับขึ้นร้อยละ 60 ทำให้ผู้ประกอบการต้องแบกรับภาระต้นทุนกระป๋องเพิ่มขึ้นร้อยละ 20-30 ทางสมาคม จึงอยากให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือหาทางออกที่ดีที่สุด เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้บริโภค

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์   ศิลาวงษ์