รัฐอุดหนุนซื้อ EV คันละ 1.5 แสน ‘สุพัฒนพงษ์’ ชง ครม.เคาะ 28 ธ.ค.นี้

รัฐอุดหนุนซื้อ EV คันละ 1.5 แสน ‘สุพัฒนพงษ์’ ชง ครม.เคาะ 28 ธ.ค.นี้

“สุพัฒนพงษ์” ชง ครม.เคาะมาตรการหนุนอีวีสัปดาห์หน้ามั่นใจบูมตลาด ตั้งงบ 4 ปี 4 หมื่นล้าน คันละ 1.5 แสน ให้รถราคาไม่เกิน 2 ล้าน ลดภาษีสรรพสามิต2% ลดภาษีนำเข้า บีบราคาเท่ารถสันดาป ช่วยลงทุนตั้งจุดชาร์จ “คณิศ” มั่นใจค่ายรถเร่งผลิตอีวี ส.อ.ท.แนะส่งเสริมผู้ผลิตในไทย

ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่การยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) เพื่อให้ไทยเป็นฐานการผลิตอีวีอันดับ 1 ของอาเซียน และสร้าง Product Champion ตัวใหม่ ซึ่งเริ่มจากสร้างตลาดในประเทศผ่านมาตรการที่กำลังจะประกาศใช้

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า คณะกรรมการนโยบายยานยนต์แห่งชาติ จะเสนอมาตรการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในวันที่ 28 ธ.ค.2564 หากไม่ทันจะเสนอ ครม.ในช่วงหลังหยุดเทศกาลปีใหม่ เพื่อจะประกาศมาตรการในต้นปี 2565 

ขณะนี้เตรียมข้อมูลหลายๆ ด้านอย่างรอบคอบ แต่รับรองว่าประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุดและต้องบูมแน่นนอน ส่วนจะสนับสนุนและมอบสิทธิพิเศษอย่างไรบ้างนั้น ยังไม่อยากบอกตอนนี้ ขอให้อดใจรออีกนิดเดียว ซึ่งตอนนี้ก็ได้เร่งดำเนินการอย่างเต็มที่แล้ว

เรื่องลดคาร์บอนต้องบรรจุเข้าแผนพลังงานชาติ โดยเฉพาะยานยนต์ไฟฟ้าที่ต้องชัดเจนขึ้น โดยอีก 9 ปีจะต้องผลิตอีวีเป็น 30% เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตของอาเซียนด้วย รวมถึงอีโคซิสเต็มของระบบสถานีประจุไฟฟ้าจะต้องเพิ่มเติมและต้องทำงานร่วมกันทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยสนับสนุนให้สถานีชาร์จไฟฟ้าทั้งในบ้านและนอกบ้าน” นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ กล่าวว่า การกำหนดมาตรการส่งเสริมอีวีจะครอบคลุมทั้งผู้ใช้รถ ผู้ผลิตรถและสถานีชาร์จไฟฟ้า โดยการประชุม ครม.สัปดาห์หน้า จะมีการเสนอมาตรการส่งเสริมการใช้รถอีวี โดยเฉพาะในเรื่องของการลดภาษีสรรพสามิตและภาษีศุลกากร ส่วนสิทธิพิเศษในเรื่องของการติดตั้งสถานีชาร์จอีวีจะยังไม่นำเสนอเข้า ครม.ในสัปดาห์หน้า เพราะยังอยู่ระหว่างการหารือรายละเอียดเพิ่มเติม

ชงงบหนุน4หมื่นล้าน

สำหรับรายละเอียดมาตรการส่งเสริมตลาดอีวีประกอบด้วยการลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์อีวี ลดภาษีนำเข้าศุลกากร (อากรขาเข้า) และการคืนเงินให้ผู้ซื้ออีวี โดยจะมีผลในไตรมาส 1 ปี 2565 และมีอายุมาตรการ 4 ปี แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ

1.กลุ่มรถอีวีราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท จะได้รับการอุดหนุนค่ารถคันละ 150,000 บาท รวมกับการลดภาษีสรรพสามิตเหลือ 2% ซึ่งมูลค่าภาษีที่ลดลงได้ขึ้นกับราคาของตัวรถ รวมแล้วมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่คันละ 50,000 บาท และกรณีเป็นอีวีนำเข้าจะได้รับการลดภาษีนำเข้าด้วย แต่มีเงื่อนไขให้บริษัทรถผู้นำเข้ามีแผนผลิตอีวีในประเทศภายใน 3 ปี

สำหรับวงเงินที่จะใช้อุดหนุนราคาอีวีในช่วง 4 ปี ตั้งไว้ที่ 40,000 ล้านบาท โดยในปีที่ 1 คาดว่าจะใช้วงเงินไม่มากเพราะอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการกระตุ้น ซึ่งกระทรวงการคลังและสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จะมีการลงรายละเอียดเพิ่มเติม

“แนวทางนี้จะทำให้ราคารถอีวีใกล้เคียงกับรถยนต์สันดาปภายในหลังจากที่ราคาลดลงประมาณ 20% โดยการอุดหนุนจะทำผ่านบริษัทรถที่รับเงินอุดหนุนไปเพื่อทำโปรโมชั่นราคา ซึ่งจะเป็นการสร้างแรงจูงใจผู้ที่มีแผนซื้อรถยนต์สันดาปภายในให้มาซื้อรถอีวี” แหล่งข่าว กล่าว 

ลดภาษีหนุนอีวี2-7ล้าน

2.กลุ่มราคารถอีวี 2 ล้านบาทขึ้นไป เพื่อกระตุ้นกลุ่มที่มีกำลังซื้อ โดยจะมีการลดภาษีสรรพสามิตเหลือ 2% และลดภาษีนำเข้า แต่จะมีการกำหนดเพดานราคารถที่ได้รับสิทธิที่คันละ 2-7 ล้านบาท เนื่องจากมีผลต่อการตัดสินใจของกลุ่มที่ซื้อรถราคาสูงไม่มาก รวมทั้งกลุ่มนี้จะไม่ได้รับเงินอุดหนุนคันละ 150,000 บาท เพราะเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้ออยู่แล้ว

ทั้งนี้ หากมีการประกาศใช้มาตรการส่งเสริมตลาดอีวีดังกล่าวจะทำให้ไทยเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่มีการอุดหนุนราคาอีวีเพื่อจูงใจให้ซื้อรถ ซึ่งที่ผ่านมามีประเทศที่ใช้มาตรการนี้ เช่น จีน เกาหลีใต้ รวมถึงหลายประเทศในทวีปยุโรป

รวมทั้งที่ผ่านมาคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ได้พยายามหาแนวทางที่จะส่งเสริมตลาดอีวีจึงได้พิจารณาแนวทางที่ทำให้ราคาอีวีใกล้เคียงกับราคารถยนต์สันดาปดังกล่าว ซึ่งเป็นการพิจารณาจากต้นทุนรวมในการเป็นเจ้าของ (Total cost of ownership : TCO) ที่เห็นค่าเฉลี่ยของส่วนต่างราคาอีวีและรถยนต์สันดาปที่ 200,000 บาท จึงเป็นที่มาของการลดภาษีสรรพสามิต ภาษีนำเข้าและการจ่ายเงินอุดหนุน

เล็งมาตรการหนุนตั้งจุดชาร์จ

แหล่งข่าว กล่าวว่า สำหรับมาตรการส่งเสริมการลงทุนสถานีชาร์จด้วย แต่ส่วนนี้อาจไม่ทันเสนอ ครม.วันที่ 28 ธ.ค.นี้ โดยมาตรการส่งเสริมการลงทุนสถานีชาร์จครอบคลุม 2 ส่วน คือ 1.การกำหนดอัตาค่าไฟฟ้าที่จูงใจการลงทุน 2.การอำนวยความสะดวกการติดตั้งจุดชาร์จ

ทั้งนี้ สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องการ คือ อัตราค่าไฟที่มีราคาถูก และอาจขยายมาตรการสนับสนุนการติดตั้ง แต่ปัญหาของผู้ประกอบการอยู่ที่เงินทุนในช่วงแรกที่ต้องลงทุนในช่วงที่มีผู้ใช้อีวีไม่มาก จึงมีข้อเสนอที่จะสนับสนุนให้ประชาชนมีรถอีวีก่อนแล้วจะทำให้มีสถานีชาร์จเพิ่มเข้ามา ในขณะที่การอัดประจุไฟจะส่งเสริมทั้งผู้ประกอบการ และมีแนวทางสนับสนุนการติดตั้งตามบ้าน

ที่ผ่านมาคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) มีมาตรการส่งเสริมการลงทุนสถานีชาร์จที่ดี แต่ต้องอาศัยองค์ประกอบหลายด้านเพื่อผลักดันให้เกิดจุดชาร์จมากขึ้น ซึ่งสิ่งสำคัญสุดที่ผู้ประกอบการและประชาชนต้องการมากที่สุด คือ ค่าไฟที่มีราคาถูก ซึ่งปัจจุบันเอกชนได้ราคาขายส่งไฟฟ้า แต่จะมีการบวกค่าบริการขายปลีก และถ้ามีการส่งเสริมปริมาณรถมากขึ้นจะทำให้สถานีชาร์จเพิ่มขึ้นอัตโนมัติ” แหล่งข่าว กล่าว

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ในการประชุม ครม.สัปดาห์หน้าอาจจยังไม่มีการพิจารณาในเรื่องนี้ ส่วนเม็ดเงินที่จะใช้ในการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อรถยนต์แก่ประชาชนนั้น ทางสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จะเป็นผู้พิจารณา

เผยค่ายรถปรับไลน์ผลิตอีวี

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวว่า ขณะนี้ได้เห็นแพ็คเกจ มาตรการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศแล้วเป็นแพคเกจที่ดีมาก และเชื่อว่าจะจูงใจให้คนหันมาใช้รถอีวี รวมทั้งดึงดูดให้ค่ายรถยนต์หันมาลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น ซึ่งจะมีการเสนอ ครม.ในอีกไม่นาน

“นโยบายส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าของไทยมีความคืบหน้าและมาได้ไกลมาก ซึ่งขณะนี้ในพื้นที่อีอีซี เริ่มมีการติดตั้งที่ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าแล้ว คาดในช่วงกลางปี 2565 จะมีไม่ต่ำกว่า 300 แห่ง ขณะที่การผลิตรถยนต์ในไทยจากปัจจุบันที่ 2 ล้านคันต่อปี ก็จะถูกปรับสัดส่วนให้ครึ่งหนึ่ง หรือ 1 ล้านคัน เป็นการผลิตรถยนต์อีวีภายใน 5 ปี”

นายคณิศ กล่าวว่า ขณะนี้ค่ายรถยนต์ยุโรป อย่าง เมอร์เซเดส-เบนซ์ ก็ได้ยืนยันแล้วว่าจะปรับสายการผลิตไปสู่รถอีวีทั้งหมด ซึ่งสะท้อนว่า รถยนต์อีวีไม่ใช่รถยนต์ทางเลือก

ขณะที่ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นเริ่มมีแผนที่จะปรับสายการผลิตเป็นรถอีวี รวมทั้งจีน ซึ่งเป็นผู้เล่นรายใหม่ ก็จะเข้ามาผลิตรถอีวีในไทยด้วยเช่นกัน ซึ่งในระยะแรกจะเป็นการนำเข้าโดยใช้ประโยชน์จากมาตรการทางภาษี แต่หลังจากนั้นจะต้องเข้ามาตั้งฐานผลิตในไทย ซึ่งถือเป็นข้อผูกมัดในมาตรการที่ไทยจะส่งเสริม

ส.อ.ท.ชี้หนุนเฉพาะรถนำเข้า

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า แพ็คเกจที่ออกมาเห็นได้ชัดว่าช่วยเหลือรถนำเข้าเป็นส่วนใหญ่ 

ในขณะที่ยอดขายรถในเดือน ม.ค.-พ.ย.2564 เป็นรถยนต์ไฟฟ้า 1,800 กว่าคัน โดยในจำนวนดังกล่าว 90% เป็นรถยนต์นำเข้า ดังนั้น จึงอยากให้เน้นส่งเสริมการผลิตชิ้นส่วนและรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ซึ่งในปี 2563 เคยมีการนำเสนอโครงการนำรถยนต์เก่ามาแลกรถยนต์ไฟฟ้า และมีเงื่อนไขว่าต้องเป็นรถยนต์ที่ผลิตในประเทศไทยเท่านั้น ดังนั้น จึงอยากเห็นความชัดเจนของมาตรการสนับสนุนผู้ใช้รถอีวีด้วยเช่นกัน

“ไม่เข้าใจว่าทำไมรัฐบาลไม่กระตุ้นให้มีการผลิตในไทยในเมื่อบอกว่ามีวงเงินสนับสนุนกว่า 40,000 ล้านบาท ก็ควรจะกระตุ้นสนับสนุนกลุ่มโรงงาน ตอนนี้คนที่ซื้อคือกลุ่มคนมีเงิน ไม่ลดเขาก็ซื้ออยู่แล้ว เพราะ 95% เป็นรถนำเข้าอีก 6% เป็นรถที่ผลิตในไทยที่มีเพียงยี่ห้อเดียว และราคาก็ถูกที่คันละ 6-7 แสนบาท แต่คนก็ยังซื้อน้อย เพราะต้องการรถที่มีขนาดใหญ่วิ่งได้ระยะทางที่ไกล” นายสุรพงษ์ กล่าว

แนะเร่งหนุนผู้ผลิตในไทย

ในขณะที่รถนำเข้ามีราคาคันละ 2-3 ล้านบาท ถือเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อที่ต้องการซื้ออยู่แล้วจะไปกระตุ้นตรงกลุ่มนี้ทำไม จึงเห็นว่าไปกระตุ้นให้มีการผลิตในประเทศไทยจะดีกว่า ซึ่งในปีที่แล้วมีการทำโครงการการเปลี่ยนรถยนต์ใช้น้ำมันมาเป็นรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงมีการการอบรมให้ความรู้ที่เรียนในวิทยาลัยอาชีวศึกษา และมีหลายบริษัทเข้าร่วมเพื่อให้นำรถกระบะมาเปลี่ยนเป็นรถยนต์ไฟฟ้า แต่ปัญหาแบตเตอรี่ไม่เพียงพอ

นอกจากนี้บริษัท 13 แห่ง ที่ได้ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ เพื่อตั้งโรงงานผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้าก็ไม่ทราบว่าตอนนี้ได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนหรือยัง ซึ่งควรจะไปกระตุ้นกลุ่มผู้ผลิตสนับสนุนงบประมาณจัดตั้งโรงงานดีกว่านำเงินไปสนับสนุนกลุ่มผู้ซื้อและยังเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงและสนับสนุนผู้ผลิตต่างประเทศ

“ผลดีตกกับคนมีเงินแทนที่จะซื้อ 2-3 ล้านบาท ก็ใช้เงินล้านกว่า ซึ่งยังไม่เห็นรายละเอียดของแพ็คเกจที่จะออกมาจึงอยากรู้ว่าจะสนับสนุนอย่างไร ครม.จะอนุมัติหรือไม่ก็ไม่รู้ ขณะนี้คนใช้ยังไม่มากและรัฐบาลมีเวลาในการสนับสนุนกลุ่มผู้ผลิตตั้งโรงงานครบวงจรตั้งปีนี้ และปีถัดไปก็ช่วยลดราคาคันละเท่าไหร่ก็ว่าไป ของเราเจอโควิด แรงงานขาดหายไป ทำไมไม่สร้างงาน สร้างเม็ดเงินลงทุนในไทยให้เป็นศูนย์กลางการผลิตอีวี” นายสุรพงษ์ กล่าว