ประภัตร จี้ Sandbox ปศุสัตว์ จัดโซนเลี้ยงโคเนื้อส่งจีน

ประภัตร จี้ Sandbox ปศุสัตว์ จัดโซนเลี้ยงโคเนื้อส่งจีน

ประภัตร เร่ง Sandbox ปศุสัตว์ จัดโซนปลอดโรค คุมเข้ม ป้องกัน นำร่อง เลี้ยงโคเนื้อ 5 จังหวัด หวังส่งจีน ขณะเชื่อมโยงบริการ นำเข้า-ส่งออกอาหารสัตว์และวัตถุอันตราย เบ็ดเสร็จด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ในวันเดียว

นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้ เร่งขับเคลื่อนโครงการ Sandbox ปศุสัตว์ ตามที่พลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พิจารณาความเป็นไปได้และแนวทางการขับเคลื่อน Sandbox ปศุสัตว์ โดยนำร่องส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อเพื่อจำหน่ายไปยังประเทศลาวและจีน ทั้งนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับเกษตรกร สถาบันเกษตรกร ผู้ประกอบการด้านปศุสัตว์ ซึ่งจะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

ประภัตร จี้ Sandbox ปศุสัตว์ จัดโซนเลี้ยงโคเนื้อส่งจีน

            ทั้งนี้ได้มอบหมายให้กรมปศุสัตว์เร่งดำเนินการขับเคลื่อน Sandbox ปศุสัตว์ นำร่องชนิดสัตว์โคเนื้อเป็นลำดับแรก โดย Sandbox ปศุสัตว์ หมายถึง “เขตพื้นที่ควบคุมพิเศษเพื่อนำร่องส่งเสริมการผลิตและส่งออกสินค้าปศุสัตว์” เป็นการกำหนดมาตรฐานต่างๆ ขึ้นมาเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล และตามความต้องการประเทศคู่ค้า มีองค์ประกอบสำคัญในการจัดทำ Sandbox ปศุสัตว์ ประกอบด้วย 3 โซนพื้นที่ควบคุม หรือโซนปลอดโรค  มีคอกกักเพื่อการส่งออก  โซนคุมเข้ม และโซนป้องกัน

ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตลอดห่วงโซ่การผลิต เช่น ภาคเอกชน เกษตรกร เจ้าหน้าที่ภาครัฐ ภาคการเงิน การค้าขายระหว่างประเทศ ภาคการขนส่ง ฯลฯ พื้นที่นำร่อง 5 พื้นที่ ได้แก่ จังหวัดเชียงราย หนองคาย นครพนม/มุกดาหาร พื้นที่ปศุสัตว์เขต 2 และพื้นที่ปศุสัตว์เขต 8,9 พร้อมมาตรการเตรียมผลักดันสู่ Smart Port เชื่อมโยงการค้าขายปศุสัตว์ไทย-ลาว-จีน คือ

1. การเพิ่มปริมาณโคเนื้อและยกระดับสายเลือดโคเนื้อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพผลผลิตในกลุ่มผลิตโคต้นน้ำ

                2. การส่งเสริมเพื่อให้มี Central Feedlot เป็นแหล่งเรียนรู้และผลิตอาหารสัตว์คุณภาพดี ราคาเหมาะสมในการเลี้ยงสัตว์เพื่อให้มีความปลอดภัย ลดต้นทุนการผลิต

            3. ส่งเสริมและกำหนดแนวทางการผลิตโคขุน ทั้งการขุนระยะสั้นเพื่อผลิตเนื้อแดง สร้างรายได้ระยะสั้น และการขุนระยะยาวเพื่อผลิตเนื้อไขมันแทรกในกลุ่มผู้เลี้ยงโคขุน

            4. ส่งเสริม ผลักดันการรับรองมาตรฐานคอกกักเพื่อการส่งออกให้กับภาคเอกชนที่มีความพร้อม

            5. การส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนภายใต้ระยะเวลาการปล่อยเงินกู้และอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมให้กับเกษตรกร องค์กรเกษตรกร ผู้ประกอบการ เพื่อส่งเสริม พัฒนา และต่อยอดการผลิตตลอดห่วงโซ่

            6 .  ส่งเสริมการผลิตโคเนื้อทั้งระบบตามบทบาทภารกิจ ตั้งแต่การขึ้นทะเบียน การทำเครื่องหมายประจำตัวสัตว์ (NID, RFID) การใช้ Platform ในการซื้อ-ขายโคเนื้อ การควบคุมการเคลื่อนย้ายและการขนส่ง การฉีดวัคซีนควบคุมป้องกันโรค (FMD, LSD) การรับรองฟาร์มปลอดโรค (FMD) การเฝ้าระวังการใช้สารเร่งเนื้อแดง การตรวจรับรองมาตรฐาน GFM, GAP

ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์ ได้เตรียมการเรื่องนี้ และดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งเร่งรัดให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องดำเนินการขับเคลื่อนโครงการ Sandbox ปศุสัตว์ เพื่อเป็นการช่วยเพิ่มช่องทางรายได้ สร้างความมั่นคง ยั่งยืนให้กับเกษตรกร และสร้างโอกาสทางการตลาดแก่อุตสาหกรรมโคเนื้อของประเทศไทย

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์  กล่าวว่า กรมปศุสัตว์เปิดตัวนำร่องการใช้งานระบบบริการอิเล็กทรอนิกส์เต็มรูปแบบการนำเข้า-ส่งออก ด้านอาหารสัตว์และวัตถุอันตรายด้านการปศุสัตว์ โดยบริการทุกขั้นตอนเบ็ดเสร็จเชื่อมโยงหนึ่งเดียว ลดความซ้ำซ้อน ลดขั้นตอน และระยะเวลาในการให้บริการ ทุกอย่างทำได้ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ตั้งแต่การยื่นคำขออนุญาต การตรวจสอบผ่านระบบอัติโนมัติ (Automated service) การจ่ายเงิน (e-Payment) การลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-Signature) ใบอนุญาตอิเล็กทรอนิกส์ (e-License) ภายใน 1 วันทำการ ทำให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว ไม่ต้องเดินทางมารับบริการด้วยตัวเอง ลดการใช้กระดาษ (Paperless) ตลอดจนสร้างความโปร่งใสตรวจสอบได้ สอดคล้องกับนโยบายภาครัฐ 4.0

กรมปศุสัตว์เป็นหน่วยงานภาครัฐ 4.0 ที่มุ่งอำนวยความสะดวกและให้บริการแก่ประชาชนตลอดมา ได้ประยุกต์นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่มาปรับปรุงและพัฒนากระบวนงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยพัฒนาและปรับปรุงระบบบริการอิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้บริการด้านทะเบียนใบอนุญาตอาหารสัตว์และวัตถุอันตรายด้านการปศุสัตว์ มาตั้งแต่ปี 2559 ซึ่งรองรับงานบริการด้านการอนุญาตนำเข้า-ส่งออก การผลิต การขาย การออกหนังสือรับรอง Health Certificate ของอาหารสัตว์และวัตถุอันตรายด้านการปศุสัตว์ ต่อมาได้มีการพัฒนาการชำระเงินผ่านระบบ e-Payment และได้เชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น

 

กรมศุลกากร และสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ เป็นต้น โดยล่าสุดในปี 2564 ได้มีการพัฒนาระบบการตรวจสอบอัตโนมัติ (Automated service) เพื่อช่วยเจ้าหน้าที่ตรวจสอบเอกสาร อีกทั้งยังมีระบบการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-Signature) ซึ่งเป็นการบริการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์เต็มรูปแบบ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไป สามารถเข้าถึงบริการของภาครัฐได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว รองรับการดำเนินชีวิตวิถีถัดไป (Next normal) และการขยายตลาดด้านอาหารสัตว์ในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น

 

เนื่องจากประชาชนมีการใช้บริการต่างๆ ผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น นอกจากนี้ยังสามารถตรวจสอบย้อนกลับ ผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์และวัตถุอันตรายด้านการปศุสัตว์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างความโปร่งใสในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ตลอดจนสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคและประเทศคู่ค้า

 

ซึ่งปัจจุบันการส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงและอาหารปศุสัตว์ไปยังต่างประเทศมีมูลค่ารวมปีละมากกว่า 6 หมื่นล้านบาท โดยมีการเปิดการใช้งานอย่างเป็นทางการของระบบทะเบียนใบอนุญาตอาหารสัตว์ และวัตถุอันตรายด้านการปศุสัตว์พร้อมกับการฝึกอบรมการลงลายมือชื่อในระบบอิเล็กทรอนิกส์และออกใบอนุญาตอิเล็กทรอนิกส์ไปแล้ว 

 

 

 การบริการทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ด้านอาหารสัตว์และวัตถุอันตรายด้านการปศุสัตว์รูปแบบใหม่เป็นการให้บริการเบ็ดเสร็จเชื่อมโยงในหนึ่งเดียว เป็นช่องทางการให้บริการมิติใหม่แบบไร้พรมแดน ซึ่งปัจจุบันมีการใช้บริการแล้วมากกว่า 100,000 ครั้งต่อปี และเมื่อเปิดใช้งานระบบบริการอิเล็กทรอนิกส์แบบเต็มรูปแบบ จะสามารถตรวจสอบและอนุมัติได้ทันทีเมื่อเอกสารถูกต้องครบถ้วน ภายใน 1 วันทำการ

 

และผู้ประกอบการสามารถดาวน์โหลดใบอนุญาตเพื่อนำไปใช้งานได้ โดยไม่ต้องเดินทางมารับเอกสารด้วยตนเอง ลดความซ้ำซ้อนในกระบวนการ ลดขั้นตอน ลดระยะเวลา ลดการใช้กระดาษ และสามารถอำนวยความสะดวกในการนำเข้า-ส่งออกด้านอาหารสัตว์และวัตถุอันตรายด้านการปศุสัตว์แก่ผู้มารับบริการได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทำให้สะดวกและพึงพอใจทั้งผู้ให้และผู้รับบริการด้วย