ขสมก.เจอโจทย์หินลด PM2.5 ลุยปรับรถโดยสารพลังงานสะอาด

ขสมก.เจอโจทย์หินลด PM2.5 ลุยปรับรถโดยสารพลังงานสะอาด

คมนาคมตั้ง KPI มอบโจทย์หิน ขสมก. เร่งแก้ปัญหารถเมล์เก่าสร้าง PM2.5 สั่งคุมเข้มตรวจวัดควันดำ ขอความร่วมมือประชาชนพบรีบแจ้งสายด่วน เตรียมลงดาบผู้บริหารทันที

“กระทรวงคมนาคมเรากำชับให้ ขสมก.ต้องเข้มงวดตรวจวัดค่าควันดำ ป้องกัน PM2.5 อย่างต่อเนื่อง เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องดำเนินการทันที และขณะนี้มีการตั้งเป็นดัชนีชี้วัดความสำเร็จ (KPI) ในการกำกับดูแลผู้บริหารทุกคนที่รับผิดชอบ ประชาชนเจอรถ ขสมก.ควันดำ สามารถแจ้งมาได้ที่สายด่วน” หนึ่งในคำยืนยันแนวทางแก้ไขปัญหา PM2.5 ของระบบขนส่ง “สรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์” รองปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าว

เนื่องด้วยปัญหาค่าฝุ่น PM2.5 ที่มีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงอากาศหนาว สาเหตุจากมวลอากาศเย็นที่แผ่ลงมามีกำลังอ่อนลง ทำให้เกิดลมอ่อนหรือลมสงบ และลมที่พัดมาจะนำฝุ่นละอองจากการเผาในที่โล่งของภาคกลางเข้ามาสะสมในทุกพื้นที่กรุงเทพมหานคร ทำให้เกิดฝุ่น PM2.5 ซึ่งตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาเห็นได้ชัดในพื้นที่กรุงเทพฯ เกิดการสะสมของฝุ่น PM2.5 สูงขึ้น

ขสมก.เจอโจทย์หินลด PM2.5 ลุยปรับรถโดยสารพลังงานสะอาด

แต่อีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้กรุงเทพฯ มีค่าฝุ่นเพิ่มสูงอย่างต่อเนื่อง หลายคนมองว่าระบบขนส่งสาธารณะ ปัญหาการจราจรที่ติดขัดก็เป็นส่วนกระตุ้นให้เกิดฝุ่นและมลภาวะสะสม ซึ่งหนึ่งในรถขนส่งสาธารณะที่ถูกพุ่งเป้าในการก่อมลภาวะมากที่สุด คือ รถโดยสาร หรือ รถเมล์ ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เนื่องจากปัจจุบันรถเมล์ที่นำมาให้บริการ เป็นรถเมล์ร้อนที่ใช้น้ำมันดีเซลจำนวน 2,074 คัน และรถเหล่านี้มีอายุใช้งานเฉลี่ย 26 ปี

ขสมก.เจอโจทย์หินลด PM2.5 ลุยปรับรถโดยสารพลังงานสะอาด

 

 

โดยล่าสุด ขสมก.ได้รับโจทย์ใหญ่จากทางกระทรวงคมนาคมให้เร่งแก้ไขปัญหาก่อมลภาวะจากรถเมล์เพื่อลดปัญหา PM2.5 ส่งผลให้ ขสมก.คลอดมาตรการลดมลภาวะ PM 2.5 ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ประกอบด้วย

  1. ขสมก. ต้องดำเนินการปรับปรุงเครื่องยนต์ดีเซลรถโดยสารทุกคันให้สามารถใช้น้ำมันดีเซล B20 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  2. ขสมก.โดยเขตการเดินรถที่ 1 - 8 ต้องตรวจวัดค่าไอเสียรถโดยสารเครื่องยนต์ดีเซลทุกคัน ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานก่อนนำรถออกวิ่งให้บริการประชาชน
  3. ขสมก.ต้องงดให้บริการรถโดยสาร กรณีที่ตรวจพบรถโดยสารมีค่าไอเสียเกินค่ามาตรฐาน และนำรถเข้าซ่อมบำรุงเพื่อปรับปรุงแก้ไขจนกว่าค่าไอเสียจะอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานก่อนนำรถออกวิ่งให้บริการประชาชน
  4. ขสมก. ต้องดำเนินการเจรจากับบริษัทผู้ให้บริการซ่อมแซมรถให้เข้มงวดในการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง กรองน้ำมัน และกรองอากาศ ก่อนถึงรอบ 12,000 กิโลเมตร เหลือเป็น 6,000 กิโลเมตร ในช่วงที่มีค่าที่ PM 2.5 สูง
  5. ขสมก.ต้องตรวจสอบค่ามลพิษ ท่อไอเสีย ร่วมกับกรมการขนส่งทางบกทุกวัน ทุกคัน ก่อนออกให้บริการ โดยกำหนดค่าอัตราค่าไอเสียไม่เกิน 30% ทุกคัน ต่ำกว่ามาตรฐานของกรมควบคุมมลพิษที่ 45%

และขอเชิญชวนประชาชนร่วมกันสังเกตการณ์รถโดยสารของ ขสมก. หากพบว่ารถคันไหนมีควันดำ สามารถแจ้งมาที่สายด่วนกรมการขนส่งทางบก โทร. 1584 และสายด่วน ขสมก. โทร. 1348 โดยกระทรวงคมนาคมจะดำเนินการพักใช้รถดังกล่าว และตรวจสอบผู้บริหารเขตการเดินรถที่เกี่ยวข้องทันที

ด้านนายกิตติกานต์ จอมดวง จารุวรพลกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ระบุว่า นอกจากการเข้มงวดควบคุมคุณภาพรถโดยสารแล้ว ขณะนี้ ขสมก.ยังมีแผนระยะสั้นจัดหารถใหม่ เน้นใช้รถโดยสารที่เป็นพลังงานสะอาด เพื่อยกระดับบริการของ ขสมก. ลดปัญหาการก่อมลพิษ ซึ่งการจัดหารถใหม่จะทำในลักษณะเช่าเหมาจากเอกชน ระยะสั้น 2 ปี ระหว่างที่รอการพิจารณาแผนฟื้นฟู ขสมก. โดยเรื่องนี้จะดำเนินอย่างด่วนที่สุด เมื่อมีการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ขสมก. จะมีการเสนอแผนให้พิจารณาทันที