“โรงเพาะฟักตะวันออก” เกมเชนเจอร์ฟื้นอุตฯกุ้งไทย

“โรงเพาะฟักตะวันออก” เกมเชนเจอร์ฟื้นอุตฯกุ้งไทย

แม้การแข่งขันส่งออกกุ้งของไทย จะลดลงจากอันดับ1ของโลกมาหลายปี แต่ด้านการผลิตลูกกุ้งไทยยังครองอันดับ1 ซึ่งแหล่งผลิตที่สำคัญอยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออก กว่า 500 แห่ง หากส่งเสริมธุรกิจนี้อย่างมียุทธศาสตร์จะทำให้ไทยกลับมาเป็นเบอร์ 1 ในอุตสาหรรมกุ้งของโลกได้ต่อไป

บรรจง นิสภวาณิชย์ อุปนายกสมาคมกุ้งไทย และประธานสมาพันธ์การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไทย กล่าวว่า ปัจจุบัน ผู้บริโภค ยังมั่นใจในคุณภาพของกุ้งไทย ที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ตลอดห่วงโซ่ อีกทั้งโรงเพาะฟักลูกกุ้ง ของไทยที่พัฒนา ไปไกลมาก หากได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง คาดว่า จะเป็นจุดพลิกทำให้ไทยกลับมาเป็นผู้ส่งออกกุ้งอันดับ1 ของโลกอีกครั้ง

 

โดยโรงเพาะฟัก ของไทย ปัจจุบันมีทั้งสิ้น 946 แห่ง กำลังการผลิต ปี 2564รวม 3.3 หมื่นล้านตัว เพิ่มขึ้น 4 % เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ในจำนวนนี้ ภาคตะวันออก เป็นแหล่งเพาะเลี้ยงลูกกุ้งที่ใหญ่ที่สุด 511 แห่ง กำลังการผลิต ปี 64 จำนวน 1.1 หมื่นล้านตัว ลดลงจากปีที่ผ่านมา 5 %ที่เหลือ กระจายอยู่ในภาคกลาง 77 แห่ง ภาคใต้ตอนบน 55 แห่ง และภาคใต้ตอนล่าง 303 แห่ง

 

ทั้งนี้การเพาะเลี้ยงลูกกุ้งในปี 2564 ทางโรงเพาะฟักได้ปรับขนาดลูกกุ้งให้ตัวใหญ่ขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงของอัตรารอดในบ่อ อีกทั้งเพื่อลดระยะเวลาการเลี้ยงให้สั้นลง ซึ่งจะลดความเสี่ยงของโรคระบาด ด้วย โดยตลอดปี 2564 การเลี้ยงกุ้งของไทยยังมีปัญหาโรคตัวแดงดวงขาว โรคหัวเหลือง และไมโครสปอริเดีย หรือEHP(อีเอชพี) ด้วย ส่งผลให้ การผลิตกุ้งทั้งปีทำได้เพียง 2.8 แสนตัน ต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ 2.9 แสนตัน

“การเลี้ยงของเกษตรกรในช่วงครึ่งปีแรกเป็นไปตามเป้าหมายมีการลงกุ้งอย่างต่อเนื่อง จากการปรับปรุงความพร้อมของฟาร์ม การปล่อยในจำนวนที่เหมาะสมกับศักยภาพของบ่อและฟาร์มการเลย วางแผนการเลี้ยง ติดตาม ข่าวสาร แลกเปลี่ยนความรู้ด้านการเลี้ยงอย่างใกล้ชิด การนำเครื่องมือและ เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการเลี้ยงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต”

 

อย่างไรก็ตาม การเลี้ยงในช่วงครึ่งปีหลัง เนื่องจากปริมาณฝนที่ตกเพิ่มขึ้นและสภาพอากาศที่ แปรปรวนส่งผลกระทบต่อการเลี้ยงของเกษตรกร โดยเฉพาะโรค อีเอชพี และ ขี้ขาว ซึ่งส่งผลกระทบต่อผลผลิตของเกษตรกรไม่เป็นไปตามเป้าหมาย และมีต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น

นอกจากนี้โรคระบาดโควิด-19 และการล็อคดาวน์ ทำให้ ร้านอาหาร ภัตตาคาร ตลาดสดบางพื้นที่หยุดให้บริการส่งผลกระทบต่อการซื้อขายและบริโภคกุ้ง ทำให้ราคาตกต่ำมากในช่วงกลางปี โดย กุ้งขนาด100 ตัวต่อกิโลกรัม(กก.) ราคา 112 บาทต่อกก. ลดลงจากช่วงเดียวกัน ประมาณ 2 %

ปัจจัยกระทบอุตสาหกรรมกุ้งยังมีเรื่องของการขาดแคลนแรงงาน ในห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่ฟาร์มกุ้ง ห้องเย็นแปรรูป ทำให้อุตสาหกรรมกุ้งมีปัญหา เกษตรกรขาดความมั่นใจ ชะลอการลงกุ้งหรือทยอยปล่อยกุ้งเพียงบางส่วน เพื่อรอดูสถานการณ์ แต่หลังจากที่รัฐบาลผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ และเปิดประเทศตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา ร้านอาหาร ภัตตาคาร ตลาดสดในพื้นที่ เริ่มกลับมาเปิดดำเนินการ การบริโภคเพิ่ม มากขึ้น ปริมาณผลผลิตกุ้งภายในประเทศที่มีไม่มาก ทำให้ราคากุ้งมีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นจากช่วงกลางปีและมีแนวโน้มปรับเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องไปถึงต้นปี 2565

ราคากุ้งที่ลดลง ในขณะที่ห้องเย็นขาดวัตถุดิบ จึงต้องการนำเข้ากุ้งทำให้ อุตสาหกรรมกุ้งทั้งระบบจึงรวมตัวจัดตั้งบอร์ด กุ้ง หรือ Shrimp board และเห็นชอบให้ตั้งราคาประกันรับซื้อกุ้งในประเทศจนถึงเดือน เม.ย. 2565 หากทุกฝ่ายร่วมมืออย่างจริงจังอุตสาหกรรมกุ้งไทยจะไปรอด ปี2565 คาดว่าจะได้ผลผลิตประมาณ 3-3.5 แสนตัน “

 

พัชรินทร์ จินดาพรรณ นายกสมาคมกุ้งตะวันออกไทย กล่าวว่า นอกจากภาคตะวันออกจะเป็นแหล่งผลิตลูกกุ้งที่สำคัญแล้ว ยังมีการเลี้ยงกุ้งที่ได้ผลผลิตในปีนี้ถึง 6.6 หมื่นตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 18 % คาดว่าในปี 2565 จะมีผลผลิตประมาณ 7 หมื่นตัน ทั้งนี้การเลี้ยงกุ้งในภาคตะวันออก ยังพบการเสียหายของโรคตัวแดงดวงขาว โดยเฉพาะ จ.ระยอง จ.จันทบุรี จ.ตราด พบการเสียหายจากโรคหัวเหลืองในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา มากกว่าปีที่ผ่านมา

 

ด้านการส่งเสริมการเลี้ยงกุ้งในภาคตะวันออก ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.)

 

อีอีซีมีศักยภาพการเกษตรสูงมาก โดยมีเป้าหมายเชื่อมสินค้าเกษตรกับภาคอุตสาหกรรมด้วยการนำเทคโนโลยีพัฒนาการผลิตและการตลาด และให้เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) เป็นฐานพัฒนาเทคโนโลยีภาคเกษตรเพื่อเป็นเกษตรสมัยใหม่

 

ทั้งนี้ สกพอ.ได้พัฒนาตลอดห่วงโซ่เพื่อส่งเสริมการเพาะเลี้ยงบ่อกุ้งอัจฉริยะหรือฟาร์ม 2 น้ำ ที่นำไปขยายผลได้และเป็นสินค้ามีโอกาสทางการตลาด โดยในประเทศมีความต้องการเพิ่มขึ้น 10% ต่อปี และแนวโน้มความต้องการเพิ่มขึ้นจากการท่องเที่ยวที่จะกลับมาหลังวิกฤติโควิด-19ซึ่งสอดรับกับสนามบินอู่ตะเภาและเมืองใหม่อัจฉริยะที่จะพัฒนาเสร็จ

 

สำหรับแนวทางการทำงานแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ 1.การยกระดับสินค้า 2.การพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม 3.การพัฒนาตลาดกลางและระบบโลจิสติกส์ที่นำเทคโนโลยีมาใช้ โดย EECi จะเป็นพื้นที่สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาซึ่งอีอีซีจะเป็นต้นแบบและคาดว่าจะเห็นตลาดที่ชัดเจนในปี 2565 ที่จะร่วมกับพัทยาสร้างตลาดในประเทศขึ้นมาและผลักดันให้ส่งออกด้วย

 

สมชาย ฤกษ์โภคี นายกสมาคมกุ้งทะเลไทย และเลขาธิการสมาคมกุ้งไทย กล่าวว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมกุ้งไทย ว่าถึงเวลาที่ทุกส่วนในซัพพลายเชน หรือห่วงโซ่การผลิต ต้องช่วยกัน แบบเพื่อนช่วยเพื่อน เดินไปด้วยกัน เพื่อให้ทุกคนอยู่ได้ อุตสาหกรรมอยู่รอดปลอดภัย และเติบโตอย่างยั่งยืน