'สมาคมกุ้ง' เคาะส่งออกปีนี้วูบ 11% มูลค่าแตะ 1.5 แสนตัน

'สมาคมกุ้ง' เคาะส่งออกปีนี้วูบ 11% มูลค่าแตะ 1.5 แสนตัน

สมาคมกุ้งไทย คาดปีนี้ส่งออกได้ 1.5 แสนตัน ลดลง 11% เหตุผลผลิตมีน้อย มูลค่า 5.5 หมื่นล้านบาท ปีหน้าตั้งเป้าเพิ่ม 20% วอนรัฐแก้เงินบาทแข็ง

นายสมศักดิ์ ปณีตัธยาศัย นายกสมาคมกุ้งไทย เปิดเผยว่า ในปีนี้มีผลผลิตกุ้ง คาดว่าจะผลิตได้ 2.9 แสนตัน เท่าปีที่แล้ว ต่ำกว่าเป้าที่กำหนดไว้ 3 แสนตัน โดยเป็นผลผลิตกุ้งจากภาคใต้ตอนล่าง 34% จากภาคตะวันออก 30% จากภาคใต้ตอนบน 25% และจากภาคกลาง 12% เนื่องจากยังมีปัญหาโรคต่างๆ แม้เกษตรกรจะสามารถรับมือ จัดการกับสถานการณ์โรคได้ดีขึ้น แต่ด้วยสภาพอากาศแปรปรวน และราคากุ้งที่ไม่จูงใจ ตกต่ำ ทำให้ตัดสินใจไม่ลงลูกกุ้งเพิ่ม

ส่วนข้อมูลการส่งออกกุ้งเดือน ม.ค. – ต.ค. ปีนี้ ปริมาณ 135,249 ตัน ลดลง 6% มูลค่า 40,185 ล้านบาท ลดลง 12% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ที่ส่งออกปริมาณ 143,129 ตัน มูลค่า 45,545 ล้านบาท เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวอันเนื่องมาจากสงครามทางการค้าระหว่าง สหรัฐฯกับจีน

และเงินบาทแข็งค่ากว่า 10% ทำให้ราคากุ้งที่หายไปกว่ากิโลกรัมละ 10-20 บาท ซึ่งปัญหาเงินบาทแข็งนี้ ทำให้ยากต่อการแข่งขันกับประเทศผู้ผลิตรายอื่นมีเงินอ่อนค่าลง โดยอินเดีย อ่อนค่าลงกว่า 11% อินโดนีเซีย 4% เวียดนาม 2%

โดยไทยยังมีตลาดที่สำคัญคือ เอเชีย 81,623 ตัน มูลค่า 22,297 ล้านบาท แยกเป็น จีน 22,034 ตัน เพิ่มขึ้น 55.14% มูลค่า 5,977 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 36.12% ญี่ปุ่น 32,816 ล้านบาท ลดลง 4.59 % มูลค่า 1,048 ล้านบาท ลดลง 9.03%

สหรัฐฯ 36,740 ตัน ลดลง 9.77% มูลค่า 12,550 ล้านบาท ลดลง 13.72% สหภาพยุโรป หรืออียู 4,987 ตัน ลดลง 10.08% มูลค่า 1,705 ล้านบาท ลดลง 15.17% ออสเตรเลีย 4,434 ตัน ลดลง 30.61% มูลค่า 1,429 ล้านบาท ลดลง 38.25% เป็นต้น

157614508840

 

 

 

ทั้งนี้คาดว่าภาพรวมทั้งปีไทยจะส่งออกกุ้งได้ 1.5-1.6 แสนตัน ลดลง 11% มูลค่า 5-5.5 หมื่นล้านบาทลดลง 5% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ในขณะที่ปี 2563 คาดว่าจะมีผลผลิตเพิ่มขึ้น 3.5 แสนตัน เพิ่มขึ้น 20% และส่งออกเพิ่มขึ้น 20% หรือประมาณ 6 หมื่นล้านบาท ในกรณีที่เงินบาทอยู่ที่ 30 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากคาดว่าจากสถานการณ์กุ้งที่เลวร้ายมากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จะเริ่มดีขึ้น

รวมทั้งเกษตรกรได้เรียนรู้จัดการกับปัญหาโรคต่างๆ ได้ดีขึ้น ส่วนสงครามทางการค้า จะมีทิศทางที่ชัดเจน และค่าเงินบาทอยากเห็นเสถียรภาพที่ 30 บาทต่อดอลลาร์

อย่างไรก็ตาม อยากให้รัฐบาล แก้ปัญหาเรื่องค่าเงินบาทที่แข็งเกินไป สนับสนุนส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาในอุตสาหกรรมการเลี้ยงกุ้งไทยอย่างจริงจังและต่อเนื่อง มีการเจรจากับตลาดคู่ค้าเพื่อเปิดตลาดใหม่ๆ เพื่ออุตสาหกรรมกุ้งไทยที่ยั่งยืน และที่สำคัญต้องเจรจาเรื่อง FTA เพื่อเปิดตลาด อียู ให้กุ้งจากไทยสามารถกลับมาแข่งขันได้

รวมถึงการประชาสัมพันธ์เชิงรุก การให้โอกาสเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งรายย่อยเข้าถึงแหล่งทุน การเสริมสภาพคล่อง การเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ให้กับภาคการผลิต ภาคการส่งออก และส่วนเกี่ยวข้องต่างๆ ฯลฯ เพื่อให้อุตสาหกรรมกุ้งของประเทศอยู่รอด

“FAO ระบุว่า กุ้งยังเป็นที่ต้องการของตลาดโลกอย่างมาก ในปริมาณที่สูงขึ้น เพราะผลผลิตสัตว์น้ำที่จับจากทะเลมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น แม้มีหลายประเทศหันมาเลี้ยงกุ้งกันมากขึ้น แต่ศักยภาพที่เคยผลิตและส่งออกกุ้งมากที่สุดในโลกในหลายปีติดต่อกันมา"

ประกอบกับตลาดนำเข้ากุ้งสำคัญ เช่น สหรัฐฯ ยุโรป จีน ก็ยังให้เครดิต และเชื่อมั่นในสินค้ากุ้งไทยว่าคุณภาพดี ปลอดภัยที่สุด ขอให้เกษตรกรผลิตได้มากพอและสม่ำเสมอ ในราคาที่สามารถแข่งขันได้เท่านั้น