“คอลลิเออร์ส”มองอสังหาฯปีเสือ คอนโดฟื้น-ร่วมทุนเฟื่อง

“คอลลิเออร์ส”มองอสังหาฯปีเสือ คอนโดฟื้น-ร่วมทุนเฟื่อง

“คอลลิเออร์ส”ประเมินอสังหาฯปี 65 ส่งสัญญาณฟื้นตัว คาดซัพพลายคอนโดพลิกกลับมา24,000 ยูนิตเพิ่มขึ้นจาก18,678 ยูนิตหลังซบมากว่า 3 ปีเน้นพัฒนาในพื้นที่กรุงเทพฯชั้นนอก -แนวรถไฟฟ้าสายสีส้ม สีเหลืองและสีชมพู ระบุอสังหาฯไทยเนื้อหอมกระแสร่วมทุนมาแรง

นายภัทรชัย ทวีวงศ์  ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัท คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่าแนวโน้มอสังหาฯปี 2565จะกลับมาคึกคักอีกครั้ง โดยเฉพาะตลาดคอนโดจากปัจจัยบวกการเปิดประเทศและการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศผ่อนปรนมาตรการแอลทีวีชั่วคราว  คาดการณ์ว่า อุปทานเปิดตัวใหม่ในปีหน้าจะกลับมาอยู่ที่24,000 ยูนิตเพิ่มขึ้นจากในปีก่อน 28.5 %  หลังจากที่ตลาดซบเซามากว่า 3 ปี  


โดยในปี2565 ผู้พัฒนาส่วนใหญ่ยังคงเลือกที่จะพัฒนาโครงการคอนโดในพื้นที่กรุงเทพฯชั้นนอกหรือในพื้นที่ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงรามคำแหง – ลำสาลี  รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ถนนลาดพร้าวและศรีนครินทร์ และรถไฟฟ้าสายสีชมพู ถนนรามอินทรา และทำเลย่านบางนา ซึ่งจะเป็นพื้นที่ที่คาดการณ์จะมีการเปิดตัวโครงการคอนโดกันอย่างคึกคัก

สำหรับภาพรวมอุปทานคอนโดเปิดขายใหม่พื้นที่กรุงเทพฯในปี2564 มีทั้งสิ้นจำนวน  47 โครงการ 18,678 ยูนิตมูลค่ากว่า 63,356 ล้านบาท "ลดลง"จากปีก่อน 3,585 ยูนิต คิดเป็น 16.1% ของมูลค่าการพัฒนาปรับตัวลดลง7,516 ล้านบาท หรือ 10.6% จากปีก่อนหน้า ซึ่งพบว่าจากอุปทานที่เปิดขายใหม่ในปี2564 ที่ผ่านมายังคงเป็นตลาดของผู้พัฒนารายใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ถึง 15,534 ยูนิตหรือ83.2% ด้วยมูลค่าการลงทุนรวม55,326 ล้านบาท และผู้พัฒนานอกตลาดหลักทรัพย์ 3,144  ยูนิตหรือ 16.8 %ด้วยมูลค่า 8,030ล้านบาท


นายภัทรชัย  กล่าวว่า ปีหน้าตลาดแนวราบยังคงเป็น "ดาวเด่น" เนื่องจากผู้ประกอบการอสังหาฯรายใหญ่ยังคงเพิ่มสัดส่วนการพัฒนาแนวราบมากขึ้นและมองหาทำเลใหม่เพื่อพัฒนาโครงการอย่างต่อเนื่อง  ทั้งในกรุงเทพฯและจังหวัดที่เป็นยุทธศาสตร์สำคัญโดยเฉพาะพื้นที่อีอีซี และจังหวัดใหญ่ อาทิ เชียงใหม่ ภูเก็ต เป็นต้นแม้ว่าภาวะเศรษฐกิจโดยภาพรวมยังคงชะลอตัว แต่ที่อยู่อาศัยก็ยังคงเป็นปัจจัย 4 ที่คนมีความต้องการอย่างเนื่องจาก  คาดว่า ยอดขายแนวราบในปี 2565 จะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกันในปี 2565 การร่วมทุนระหว่างผู้ประกอบการไทยกับต่างชาติกลับมาคึกคักอีกครั้ง เนื่องจากอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยยังคงได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ต่างชาติทั้งผู้ประกอบการที่เคยเข้ามาร่วมทุนและผู้ประกอบการรายใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะญี่ปุ่น ยังคงให้ความสนใจร่วมทุนกับผู้ประกอบการไทยทั้งในส่วนของคอนโด ตลาดแนวราบ อาคารสำนักงานและพื้นที่ค้าปลีก  


" จากมูลค่าการรวมทุนไตรมาส 4 ปี 2564  ผู้ประกอบการญี่ปุ่นมีส่วนแบ่งตลาดมากที่สุดคิดเป็นสัดส่วน 68.2% ด้วยมูลค่าการร่วมทุนรวมกว่า 4 แสนล้านบาท ตามมาด้วยผู้ประกอบการจากประเทศจีนและฮ่องกงด้วยสัดส่วน 25.5 %และ 13.6%ของมูลค่าการลงทุนรวม2 แสนล้านบาท"