ส่อง 5 เมกะเทรนด์อุตสาหกรรมพลังงานปี2565

ส่อง 5 เมกะเทรนด์อุตสาหกรรมพลังงานปี2565

ส.อ.ท.เปิด 5 เมกะเทรนด์อุตสาหกรรมพลังงานปี 2565 ขับเคลื่อนประเทศไทยสู่พลังงานสะอาด ย้ำรัฐบาลต้องมีความชัดเจนด้านกฎหมาย

นายวีระเดช เตชะไพบูลย์ รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และประธาน RE100 Thailand Club กล่าวว่า จากการที่ทั่วโลกต่างมุ่งเป้าหมายลดโลกร้อนด้วยการกำหนดเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ดังนั้น

เทรนด์ในภาคอุตสาหกรรมพลังงานปี 2564 จะเห็นชัดเจนคือ

1. โก คาร์บอน ซึ่งจะเป็นเทรนด์ที่เข้ามาอย่างรุนแรงแน่นอน แต่สิ่งที่กังวลคือกฎเกณฑ์ในประเทศไทยจะปรับตัวได้มากน้อยแค่ไหน ยกตัวอย่างอาทิ ผังเมือง การให้ขายไฟข้ามสายส่ง หรือการรับรีนิวเข้ามาในระบบมากขึ้น โดยจะต้องปรับตัวในเรื่องของเสถียรภาพ การเตรียมตัวในเรื่องของการติดตั้งแบตเตอรี่ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม เทรนด์โลกมุ่งสู่พลังงานสะอาด แต่สิ่งที่เห็นคือการประกาศเจตนารมณ์ทั้งตัวของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หรือแม้แต่นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน แต่ในหลักการดำเนินการยังไม่มีการปรับตัวที่ชัดเจน ซึ่งหลายฝ่ายยังกังวลและกลัวว่าจะไปไม่ถึงเป้าหมายที่วางไว้ ดังนั้น หากมีการปรับตัวกันจริงๆ เพื่อจะไปสู่ Net Zero ตามที่ตั้งเป้าไว้ ในแต่ละปีจะต้องมีการนำเข้าพลังงานหมุนเวียนมาอยู่ในระบบอย่างน้อย 3,000-4,000 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันมีการนำพลังงานหมุนเวียนเข้าระบบเพียงแค่ 100-200 เมกะวัตต์

“และสิ่งที่ยังเป็นปัญหาและอุปสรรคคือ รัฐบาลยังติดปัญหาในเรื่องของคาร์ปาซิตี้ของโรงไฟฟ้าแก๊สและกลุ่มโรงไฟฟ้าถ่านหินที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนปริมาณสูง ส่งผลให้รัฐบาลก็ยังไม่กล้าที่จะปรับลดบริมาณลง”

2. ค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้น สืบเนื่องมาจากถ่านหินกับแก๊สที่มีราคาสูงขึ้นจนรัฐบาลไม่สามารถควบคุมและพยุงราคาไม่ได้ ล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) มีมติให้ปรับค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที) สำหรับการเรียกเก็บค่าไฟฟ้าในรอบเดือนมกราคม-เมษายน 2565 โดยให้เรียกเก็บที่ 1.39 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.78 บาทต่อหน่วย หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.63 จากงวดปัจจุบัน อีกทั้งยังระบุว่ากลุ่มพลังงานหมุนเวียน มีส่วนให้ค่าไฟฟ้าปรับสูงขึ้นกว่า 20 สตางค์ ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตก็มีส่วนส่งผลกระทบ แต่ก็ต้องยอมรับเพื่อให้พลังงานหมุนเวียนเกิดขึ้น และเมื่อเกิดขึ้นมาแล้วจะต้องค่อยๆ ทยอยหมดไปเพราะ Adder จะเริ่มทยอยหมดสัญญา อีกทั้ง ขณะนี้พลังงานหมุนเวียนเริ่มมีราคาที่ถูกกว่า

ส่อง 5 เมกะเทรนด์อุตสาหกรรมพลังงานปี2565 อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้ส่งเสริมให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) หน่วยงานภายใต้กำกับกระทรวงพลังงานเร่งปรับตัวและใช้เทคโนโลยีเข้ามาและปรับเปลี่ยนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำจากเขื่อน (Hydro-floating Solar Hybrid) หรือ โรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริด ที่ตั้งเป้ากำลังผลิตไว้ที่  5,320 เมกะวัตต์ ในปี2036 เพื่อให้ได้พลังงานหมุนเวียนมาใช้อย่างเหมาะสมไม่กระทบต่อการผลิตไฟฟ้า ซึ่งจะทำได้ในกี่ปีอยู่ที่กฟผ.จะขับเคลื่อนอย่างไร

3. ด้านเทคโนโลยี ทั้งนี้ ผ่านมาในเรื่องของไฮโดรเจนจะยังอยู่ในขั้นทดลอง และต้นทุนที่สูง ดังนั้น การดูดซับคาร์บอนด้วยเครื่องจักรจะยังมีราคาที่สูงอยู่ แต่ก็คงจะปฏิเสธไม่ได้ที่จะต้องมีการผลักดันเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาโดยเฉพาะภาคขนส่งระยะไกล เช่น เครื่องบิน หรือเรือเดินสมุทร เพราะหากจะใส่แบตเตอรี่ที่เป็นไฟฟ้าก็คงจะต้องแบกน้ำหนักของแบตเตอรี่ที่มีขนาดใหญ่มาก เกิดการสิ้นเปลืองพลังงานสูง ดังนั้น ผู้ผลิตจะนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาพัฒนาในเรืองของขนาดและน้ำหนักที่เบาแต่สามารถบรรจุพลังงานได้มากขึ้น หรือแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ก็เช่นกัน ส่วนโซลาร์ก็เช่นกัน ผู้ผลิตได้เริ่มใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ต้นทุนถูกลง

4. การปลูกป่า การจะปรับให้ผู้ผลิตหรือประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทันทีคงไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้น การปลูกป่าจะเป็นวิธีที่ช่วยดูดซับปริมาณคาร์บอนได้ดี อีกทั้งการปลูกป่าจะช่วยผลักดันในเรื่องของเศรษฐกิจหมุนเวียน สามารถนำมาทำ Biomass หรือโรงไฟฟ้าชุมชนได้ ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลจะผลักดันเรื่องนี้อย่างไร

5. ด้านกฎหมาย อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เข้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนกฎหมายมีส่วนสำคัญ ยกตัวอย่างเช่น กรมสรรพสามิต กระทรวงการคลังระบุว่าจะออกภาษีคาร์บอน ในกลุ่มธุรกิจพลังงาน ดังนั้น ในเบื้องต้นกลุ่มโรงงานที่ใช้พลังงานสูงจะต้องหาทางลดพลังงานลงเพื่อจะต้องไม่ให้เสียภาษีหรือให้เสียน้อยที่สุด เพราะการใช้เทคโนโลยีการกับเก็บคาร์บอนจะมาทีหลังเพราะยังมาต้นทุนสูง ดังนั้น สิ่งที่ควรทำอันดับแรกไม่ใช่การผลิตพลังงานหมุนเวียน แต่เป็นการประหยัดพลังงานแล้วปล่อยก๊าซคาร์บอนออกมาให้น้อยที่สุด

นอกจากนี้ ในการเตรียมออกมาตรการภาษีคาร์บอน ที่กระทรวงการคลังพยายามคิดวิธีการเก็บภาษีอยู่ว่าจะใช้สูตรไหนที่เหมาะกับประเทศไทยมากที่สุด ทั้ง Carbon Tax หรือ cap and trade ก็ยังไม่มีความชัดเจน ซึ่งถ้าเกิดตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตจะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (Vat) หรือไม่อย่างไร หรือจะต้องเสียภาษีในด้านของกำไรหรือไม่ และถ้าจะส่งเสริมกันจริงๆ ก็จะต้องนำมาคิดให้หมด เหมือนกับสินค้าเกษตร ดังนั้น กฎหมายที่จะออกมาจะต้องเอื้ออำนวยต่อการทำธุรกิจของกลุ่มพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติมด้วยหรือไม่

“กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนพร้อมที่จะปรับตัวเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ดังนั้น รัฐบาลควรออกกฎหมายที่ชัดเจน เพื่อเป็นแรงจูงใจในการมุ่งเข้าสู่ Net Zero ตามเป้าหมายของประเทศไทย”

 

ทั้งนี้ ปัจจุบัน RE100 Thailand Club มีสมาชิกประมาณ 500 บริษัทรวมบริษัทในเครือของสมาชิก ซึ่งบริษัทสมาชิกร่วมก่อตั้ง อาทิ

  • บริษัท โตโยต้ามอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้มีการกำหนดเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนหรือการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutrality) ในปี2035
  • บริษัทเด็นโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด ได้กำหนดเป้าหมายการใช้พลังงานหมุนเวียน(RE100) ในสัดส่วน 100% ภายในปี2025 และกำหนดหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนหรือการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ในปี2035 
  • กฟผ. มีนโยบายมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (EGAT Carbon Neutrality) ภายในปี2050