เปิดยุทธศาสตร์ “พลังงาน” เดินเครื่องลดคาร์บอนเป็นศูนย์

เปิดยุทธศาสตร์ “พลังงาน” เดินเครื่องลดคาร์บอนเป็นศูนย์

เมื่อ “เทคโนโลยีดิสรัปชั่น” นานาประเทศโดยเฉพาะภาคพลังงานทั่วโลกมีเป้าหมายสู่เป้าหมายพลังงานสีเขียว พร้อมประกาศเจตนารมณ์ “ลดการปล่อยคาร์บอนให้เป็นศูนย์” ซึ่งประเทศไทยจะไม่ตกขบวนเพราะอาจจะนำไปสู่การกีดกันทางการค้าหรือเสียโอกาสทางธุรกิจ

กุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ทุกภาคส่วนได้ตั้งเป้าหมายเพื่อก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ซึ่งหลายประเทศทั่วโลกได้กำหนดเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนไว้ภายในปี 2050 สำหรับประเทศไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญในการลดใช้คาร์บอนไดออกไซด์เช่นกัน

ทั้งนี้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเมื่อวันที่ 4 ส.ค.2564 เห็นชอบกรอบแผนพลังงานชาติ ซึ่งได้กำหนดแนวนโยบายภาคพลังงาน โดยมีเป้าหมายสนับสนุนให้ประเทศไทยมุ่งสู่พลังงานสะอาด และลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ.2065-2070 ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว

อย่างไรก็ตาม ในการลงทุนภาคพลังงานที่ดำเนิดการโดยหน่วยงานภาครัฐและผู้ประกอบการรายใหญ่ เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รวมถึงบริษัทเอกชน โดยเฉพาะในพลังงานสะอาดทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ และอุตสาหกรรมกักเก็บพลังงาน (แบตเตอรี่) ได้เห็นถึงความสำคัญในการช่วยเหลือชุมชนให้ผ่านพ้นวิกฤติโควิด-19 หรือทุกวิกฤติ ซึ่งขณะที่เทคโนโลยีดิสรัปชั่นทำให้ภาคพลังงานโลกมีเป้าหมายผลักดันการใช้พลังงานในรูปแบบฟอสซิลไปสู่พลังงานสีเขียวจากเชื้อเพลิงสะอาดที่มาจากพืชพลังงานหมุนเวียน เพื่อเชื่อมโยงไปสู่การลดการปล่อยคาร์บอนให้เป็นศูนย์

กระทรวงพลังงานได้กำหนดนโยบายเพื่อไปสู่เป้าหมายดังกล่าว ประกอบด้วย การลดใช้ไฟฟ้าจากถ่านหิน, ลงทุนกักเก็บก๊าซคาร์บอน, ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ได้จากโซลาร์ ไม่ว่าจะเป็นโซลาร์ฟาร์ม หรือโซลาร์ลอยน้ำในเขื่อนของกฟผ. โดยตั้งเป้ามีกำลังการผลิตเพิ่มกว่า 5,000 เมกะวัตต์ หวังช่วยลดค่าไฟฟ้าให้ประชาชนในอนาคต และขายพลังงานสะอาดให้นักลงทุน ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์ หรือ คลาวด์ ตามความต้องการของนักลงทุนที่จะรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดเท่านั้น อีกทั้ง จะส่งผลถึงสินค้าส่งออกจจะมีการคุมสินค้าทันที ที่ต้องผลิตจากพลังงานสะอาดเท่านั้น

ทั้งนี้ ตามประกาศแผนพลังงานแห่งชาติ (NEP 2022) เพื่อขับเคลื่อนให้ภาคพลังงานสามารถบรรลุเป้าหมายการมุ่งสู่เศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำนั้น จะมาจากการส่งเสริมการลงทุนพลังงานสีเขียวในภาคพลังงาน อาทิ 

1.เพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าใหม่โดยมีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนไม่น้อยกว่า 50% โดยพิจารณาจากต้นทุน ของระบบกักเก็บพลังงานระยะยาวในปี2583

2.ปรับเปลี่ยนการใช้พลังงานภาคขนส่งเป็นพลังงานไฟฟ้าสีเขียว ด้วยเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV) ตามนโยบาย 30@30 การปรับเปลี่ยนการใช้พลังงานภาคขนส่งมาเป็น EV เป็นแนวทางที่ช่วยในการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อเพิ่มความสามารถในการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) ปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานในภาคขนส่งให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น ช่วยแก้ไขปัญหาสภาพอากาศจากภาวะฝุ่นละออง PM 2.5

3.ปรับเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานมากกว่า 30% ภายในปี 2040 โดยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมการบริหารจัดการพลังงานสมัยใหม่ มาเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการพลังงาน 

4.ปรับโครงสร้างกิจการพลังงานรองรับแนวโน้มการเปลี่ยนผ่านพลังงาน (Energy Transition)

“เป้าหมายการเป็น Carbon Neutrality ของไทยขึ้นกับหลากหลายปัจจัยทั้งการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ความพร้อมทางการเงิน รวมทั้งความร่วมมือสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อร่วมผลักดันสร้างความยั่งยืนและก้าวสู่การเป็นประเทศเป็นกลางทางคาร์บอน ตามกำหนดในปี 2065-2070 รวมทั้งยังได้ผลักดันโมเดลเศรษฐกิจ BCG”

สำหรับกระบวนการจัดทำแผนพลังงานชาตินั้น นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า ได้เปิดรับฟังความเห็นวันที่ 21 ก.ย.2564 ในส่วนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ​และสถาบันต่างๆ จากนั้นจะรับฟังความเห็นจากภาคส่วนอื่นทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชน และสื่อมวลชน และนำมาปรับปรุงแผน 5 ฉบับ ได้แก่ 

1.แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP 2022)

2.แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan)

3.แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP)

4.แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP) 

5.แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan)

ทั้ง 5 แผนจะถูกรวบรวมและจัดทำให้เป็นแผนพลังงานชาติเพียงฉบับเดียว จากนั้นจะรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนในสังคม เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมกำหนดทิศทางให้นโยบายด้านพลังงานของประเทศ จากนั้นเสนอ กบง. และ กพช.พิจารณา​ ซึ่งคาดว่าแผนพลังงานชาติจะเริ่มใช้ได้ในปี 2566

จากข้อมูลกระทรวงพลังงาน พบว่าปี 2563 ไทยปล่อยก๊าซคาร์บอนสู่อากาศและสร้างมลพิษกว่า 225 ล้านตัน แบ่งเป็นจากภาคพลังงาน 90 ล้านตัน หรือ 37% รองลงมาเป็นภาคขนส่ง 70.6 ล้านตัน หรือ 29% และภาคอุตสาหกรรมการผลิต 69 ล้านตัน หรือ 28% ส่งผลให้ไทยต้องสูญเสียเงินถึง 7-8 แสนล้านบาทต่อปี