เปิดประเทศ 42 วันทัวริสต์ทะลุ 1.5 แสน "แอตต้า" ลุ้นจีนรีเทิร์นเที่ยวไทยปี 65

เปิดประเทศ 42 วันทัวริสต์ทะลุ 1.5 แสน  "แอตต้า" ลุ้นจีนรีเทิร์นเที่ยวไทยปี 65

วานนี้ (13 ธ.ค.) ในงานสัมมนาอุตสาหกรรมการบินของไทยประจำปี 2564 จัดโดยสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ได้เชิญผู้บริหารจากองค์กรภาครัฐและเอกชนด้านท่องเที่ยวและสายการบินชั้นนำของประเทศไทยมาร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์

และโอกาสของภาคท่องเที่ยวไทยในปัจจุบัน รวมถึงทิศทางในปี 2565 ซึ่งยังโอบล้อมไปด้วยความไม่แน่นอน!

ศิริปกรณ์ เชี่ยวสมุทร รองผู้ว่าการด้านสื่อสารการตลาด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวบนเวทีเสวนาภายใต้หัวข้อ “เดินหน้าพร้อมเปิดประเทศ บริบทใหม่ของการท่องเที่ยว และโอกาสของอุตสาหกรรมการบิน” ว่า จากสถิติสะสม 42 วันแรก ตั้งแต่ “เปิดประเทศ” 1 พ.ย.-12 ธ.ค.2564 พบว่าเฉพาะนักท่องเที่ยวภายใต้เกณฑ์ Test & Go ที่เดินทางมาจาก 63 ประเทศที่รัฐบาลไทยกำหนด มียอดรวมกว่า 1.5 แสนคนแล้ว ส่วนใหญ่มาจากตลาดระยะไกล อาทิ เยอรมนี สหรัฐ สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส อิสราเอล และประเทศในกลุ่มตะวันออกกลาง ส่วนนักท่องเที่ยวจากรัสเซียก็เดินทางเข้ามาจำนวนมากผ่านเกณฑ์แซนด์บ็อกซ์

ทั้งนี้มีนักท่องเที่ยวยื่นขอไทยแลนด์พาส (Thailand Pass) สะสมเกือบ 5 แสนคนแล้วในปัจจุบัน โดยอีกกว่า 2 แสนคนน่าจะเดินทางเข้ามาเที่ยวไทยภายในเร็วๆ นี้

โดยนับตั้งแต่รัฐบาลประกาศเปิดประเทศ 1 พ.ย.2564 ได้รับผลตอบรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติดีขึ้นมาก เมื่อเทียบกับโครงการเปิดเมืองนำร่องทางการท่องเที่ยวตั้งแต่ช่วงกลางปีที่ผ่านมา เช่น ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ สมุยพลัสแซนด์บ็อกซ์ และอื่นๆ ซึ่งตลอด 4 เดือนตั้งแต่ ก.ค.-ต.ค.2564 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาเที่ยวผ่านโครงการเหล่านี้รวมประมาณ 6 หมื่นคน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มครอบครัว และในขั้นตอนการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ครั้งแรกเมื่อเดินทางถึงประเทศไทยด้วยวิธี RT-PCR พบผู้ติดเชื้อราว 200 คน คิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.3% ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดที่เดินทางเข้ามาในช่วง 4 เดือนดังกล่าว โดยจากการบริหารข้อมูลนี้เป็นที่มาของการที่ภาครัฐตัดสินใจผ่อนปรนมาตรการรับนักท่องเที่ยวต่างชาติมากขึ้นนั่นเอง

“คาดว่าเร็วๆ นี้ภาครัฐน่าจะมีการพิจารณาผ่อนคลายมาตรการตรวจหาเชื้อโควิด-19 เปลี่ยนวิธีจาก RT-PCR ที่ใช้ในปัจจุบัน มาเป็นวิธีตรวจด้วย ATK ในครั้งแรกแก่นักท่องเที่ยวกลุ่ม Test & Go แทน หลังได้มีการจับตาสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์โอมิครอนมาตลอด 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา”

ศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) กล่าวว่า ปี 2565 ยังต้องลุ้นต่อเนื่องว่าตลาดใหญ่อย่างประเทศจีนจะกลับมาเปิดประเทศอีกครั้ง เพราะเคยส่งออกนักท่องเที่ยวจีนมาไทยเกือบ 11 ล้านคนเมื่อปี 2562 ช่วยเดินเครื่องเศรษฐกิจไทยได้ดีอย่างมากในปีดังกล่าว

โดยจากการได้ประสานงานพูดคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศจีน ระบุว่าปัจจุบันประเทศจีนยังเลือกดำเนินนโยบาย “Zero Covid” อยู่ เพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยงระบาดซ้ำ เนื่องจากเป็นประเทศที่มีประชากรมากถึง 1.4 พันล้านคน จึงกังวลเรื่องอัตราการเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ซึ่งอยู่ที่ 2% หากมีการระบาดซ้ำ อาจเสี่ยงเกิดอัตราการเสียชีวิตถึง 2-5% ของประชากรจีนได้ อย่างไรก็ตาม ยังเชื่อว่าภาพรวมการท่องเที่ยวไทยในปี 2565 จะฟื้นตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีนี้

อุดม ศรีมหาโชตะ ประธานฝ่ายสิ่งแวดล้อม สมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวว่า ภาคท่องเที่ยวไทยต้องรุกทำตลาดความสนใจที่สอดรับกับสถานการณ์โควิด-19 ด้วย เช่น ตลาดท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และสุขภาพ โดยกลุ่มธุรกิจ “สายการบิน” ที่เป็นฟันเฟืองสำคัญในการขนคนเข้ามาท่องเที่ยวจับจ่ายในประเทศ จำเป็นต้องใช้กลยุทธ์การตั้งราคาตั๋วโดยสารที่ไม่สูงหรือต่ำมากจนเกินไป เพื่อให้นักท่องเที่ยวตัดสินใจเดินทางมาเที่ยวไทยได้ง่าย ในขณะเดียวกันก็เพื่อให้สายการบินอยู่ได้ด้วย

ทั้งนี้อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยสนับสนุนสายการบินด้วยการลดค่าธรรมเนียมต่างๆ เพื่อลดต้นทุนแก่สายการบินซึ่งเป็นธุรกิจต้นน้ำในการขนคนเข้าประเทศ ด้านสายการบินเองก็ต้องสร้างมาตรฐานสุขอนามัยเพื่อสร้างความปลอดภัยอย่างเข้มข้นและรัดกุม ให้นักท่องเที่ยวมั่นใจในการออกเดินทางอย่างต่อเนื่อง เพราะที่ผ่านมาจะเห็นว่าผู้โดยสารยังมีอาการ “แพนิค” เมื่อทราบข่าวว่ามีผู้ติดเชื้อบนเที่ยวบินนั้นๆ

พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส กล่าวบนเวทีเสวนาภายใต้หัวข้อ “ถอดบทเรียนโควิด-19 ฝ่าวิกฤติสู่บริบทใหม่ของการเดินทางทางอากาศ” ว่า สำหรับในช่วง 2 ปีนับตั้งแต่เจอวิกฤติโควิด-19 ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับบางกอกแอร์เวย์สคล้ายๆ กับทุกสายการบินในประเทศไทย มีหยุดบิน รายได้ไม่เข้า ต้อง “แบกรับต้นทุน”  โดยเฉพาะต้นทุนเครื่องบิน ซึ่งก่อนเกิดโควิด เครื่องบินเคยเป็นทรัพย์สินที่มีมูลค่า ใครก็อยากได้ แต่พอในยุคโควิดกลายเป็นทรัพย์สินที่มีมูลค่าก็จริง แต่ไม่มีใครอยากได้ รวมถึงต้องแบกรับต้นทุนบุคลากร และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ทำให้ต้องงัดทุกมาตรการที่สามารถทำได้มาควบคุมค่าใช้จ่าย

สันติสุข คล่องใช้ยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยแอร์เอเชีย กล่าวว่า วิกฤติโควิด-19 เหมือนน้ำท่วมใหญ่ สำหรับธุรกิจอื่นๆ น้ำอาจจะลดลงแล้ว แต่ธุรกิจสายการบินพบว่าน้ำท่วมมิดหลังคา มาแรง มาหนัก และมานาน

แม้สถานการณ์ตอนนี้จะท่วมแค่ครึ่งหลังเพราะตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่กลับมา ทำให้สายการบินต่างๆ ต้องหารายได้เสริมในช่วงที่ยังขายตั๋วเครื่องบินหรือขนส่งผู้โดยสารไม่ได้ เช่น ไทยแอร์เอเชียขายชานมไข่มุก ส่วนการบินไทยขายปาท่องโก๋ ควบคู่กับกลยุทธ์หลักอย่างการควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง เช่น เจรจากับเจ้าหนี้และผู้ให้เช่าเครื่องบิน รวมถึงบริหารจัดการบุคลากร โดยก่อนนี้สมาคมสายการบินประเทศไทยได้ยื่นขอสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) วงเงิน 5,000 ล้านบาทจากรัฐบาลเพื่อรักษาการจ้างงาน แต่ยังไม่มีความคืบหน้า