ผ่าสูตร "Airbnb" รับมือดิสรัป เกาะเทรนด์ใหม่ท่องเที่ยวโลก!

ผ่าสูตร "Airbnb" รับมือดิสรัป เกาะเทรนด์ใหม่ท่องเที่ยวโลก!

นับตั้งแต่แพลตฟอร์มท่องเที่ยวออนไลน์ชื่อดังระดับโลก “แอร์บีเอ็นบี” (Airbnb) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2550 ได้สร้างปรากฏการณ์ดิสรัปตลาดที่พักนักท่องเที่ยว สามารถเติบโตด้วยจำนวนผู้ให้บริการที่พัก (โฮสต์) กว่า 4 ล้านคนในปัจจุบัน

ต้อนรับแขกผู้เข้าพักมากกว่า 1 พันล้านคนในเกือบทุกประเทศทั่วโลก แต่เมื่อวิกฤติโควิด-19 มาเยือน! แอร์บีเอ็นบี ต้องปรับตัวอย่างหนักรอบด้าน โดยเฉพาะเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยและสุขอนามัยที่นักเดินทางกังวล!!

ดวงขวัญ สินสัตยกูล ผู้จัดการประจำตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ฮ่องกง ไต้หวัน แอร์บีเอ็นบี กล่าวในงานสัมมนาออนไลน์เจาะลึกทางรอดประเทศไทยด้วยภาคธุรกิจบริการ “LINE Hospitality Tech 2021: The Next in The New Era ท่องเที่ยว สุขภาพ พลิกฟื้นประเทศไทย” ว่า แม้ว่าเกือบ 2 ปีที่ผ่านมาภาคการท่องเที่ยวจะได้รับผลกระทบอย่างหนัก แต่ความปรารถนาที่จะออกเดินทางของผู้คนไม่เคยหายไป! แอร์บีเอ็นบีจึงได้เห็นเทรนด์ความต้องการใหม่ๆ ด้านการท่องเที่ยวที่เกิดขึ้นทั้งในไทยและทั่วโลก

อย่างแรก “ความสามารถในการใช้ชีวิตและทำงานที่ใดก็ได้ในโลก” โดยไม่ต้องอยู่ที่บ้านหรือสำนักงาน เพราะการเดินทางในรูปแบบที่เราเคยเข้าใจได้เปลี่ยนไปแล้ว เส้นแบ่งระหว่างการใช้ชีวิต การท่องเที่ยว พักผ่อน และทำงาน ไม่ชัดเจนอีกต่อไป! ผู้คนจึงเริ่มมองหาการเดินทางที่มีความหมายมากขึ้นและสร้างประสบการณ์แปลกใหม่ โดยแอร์บีเอ็นบีได้จัดทำโพลบน YouGov เมื่อไม่นานมานี้ พบว่า กว่า 90% ของผู้ตอบแบบสอบถามชาวไทยเชื่อว่าพวกเขาคงจะใช้ชีวิตทำงานและท่องเที่ยวในรูปแบบที่เปลี่ยนไป หากงานของพวกเขามีความยืดหยุ่นมากขึ้น

เมื่อ “ความยืดหยุ่น” เป็นอีกเทรนด์สำคัญ หลังพบว่ามากกว่า 40% ของยอดการค้นหาในแอร์บีเอ็นบี โดยเฉพาะช่วงเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา มีแนวโน้มที่จะยืดหยุ่นเรื่องโลเกชั่นและวันเดินทางมากขึ้น ดังนั้นในเดือน พ.ค. แอร์บีเอ็นบีจึงเปิดตัว “Flexibility Feature” เพื่อตอบโจทย์ผู้ที่มีความยืดหยุ่นในเงื่อนไขการเดินทาง แต่ให้ความสำคัญกับการเข้าพักในสถานที่ที่แปลกใหม่ มากกว่าการให้ความสำคัญว่าจะเดินทางไปที่ไหน

อีกเทรนด์ที่ตามมาคือ “การพำนักระยะยาว” (Long-term Stay) โดยมากกว่า 50% ของยอดการจองในไทยเดือน ก.ย. เป็นลูกค้ากลุ่มพำนักระยะยาวซึ่งพักมากกว่า 28 วัน สะท้อนชัดว่าผู้คนมีความยืดหยุ่นเรื่องการเดินทางและการทำงานมากขึ้น

สำหรับมาตรการด้าน “ความปลอดภัยและสุขอนามัย” ถือเป็นสิ่งที่แอร์บีเอ็นบีให้ความสำคัญอย่างมากเช่นกัน เมื่อปี 2563 ได้เปิดตัว “Enhanced Cleaning Protocol” ซึ่งเป็นไกด์ไลน์การทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคที่อิงตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO)

นอกจากนี้ แอร์บีเอ็นบี ยังได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญในแต่ละประเทศ โดยในประเทศไทยไกด์ไลน์ดังกล่าวได้รับการรับรองโดยกระทรวงสาธารณสุข และยังได้รับคำแนะนำจากมหาวิทยาลัยมหิดลและโรงพยาบาลศิริราชอีกด้วย

ดวงขวัญ เล่าต่อว่า วิกฤติโควิด-19 ได้มอบ “บทเรียน” สำคัญแก่แอร์บีเอ็นบี เรื่องแรก ธุรกิจต้องไม่กลัวที่จะปรับตัวและริเริ่มการทำสิ่งใหม่ อีกเรื่องคือความสำคัญของการฟังเสียงผู้บริโภคและสร้างความสัมพันธ์กับพวกเขา

“ธุรกิจที่จะไปรอดได้ในสถานการณ์แบบนี้ คือ ธุรกิจที่ฟังผู้บริโภคและพร้อมปรับตัวอย่างรวดเร็ว ย้อนไปยังตอนที่เริ่มเจอวิกฤติโควิด-19 ได้ราว 2 เดือน ตอนนั้นเราตัดสินใจที่จะหยุดให้บริการประสบการณ์แบบ in-person เพราะเหตุผลด้านความปลอดภัย แต่หลังจากนั้นเรามีการพูดคุยกับโฮสต์ทั้งชาวไทยและทั่วโลก พบว่าพวกเขายังอยากต้อนรับนักท่องเที่ยว และอยากมอบประสบการณ์ออนไลน์ให้ผู้ที่สนใจ เราจึงจัดทำโปรดักท์ด้านประสบการณ์ออนไลน์ขึ้นมาภายใน 14 วัน ให้ผู้คนทั่วโลกได้สัมผัสผ่าน Online Experience Product ของแอร์บีเอ็นบี”

ด้วยความที่แอร์บีเอ็นบีเป็นบริษัทเทคโนโลยี ทำให้ตลอดปี 2564 ได้เตรียมผลิตภัณฑ์ ควบคู่กับการเตรียมความพร้อมของโฮสต์ให้พร้อมรับมือกับการกลับมาของการท่องเที่ยว เฉพาะปีนี้ปีเดียว แอร์บีเอ็นบี เปิดตัวผลิตภัณฑ์และบริการมากกว่า 150 รายการ เพื่อให้ทั้งโฮสต์และผู้ใช้บริการพร้อมกลับมาเดินทางท่องเที่ยวกันอีกครั้ง!

นอกจากนี้ แอร์บีเอ็นบี ทราบดีว่าผู้ใช้บริการให้ความสำคัญกับสัญญาณไวไฟ (WiFi) อย่างมาก เพราะอยากทำงานไปเที่ยวไปได้ โดยปีนี้มีการเสิร์ชหา WiFi ในฟิลเตอร์การค้นหาที่พักของแอร์บีเอ็นบีกว่า 280 ล้านครั้ง จึงได้ออกเครื่องมือใหม่อย่าง “Verified WiFi” เมื่อเดือน พ.ย. เครื่องมือนี้จะช่วยให้โฮสต์สามารถทดสอบสัญญาณอินเทอร์เน็ตของตัวเองโดยตรงจากแอพพลิเคชั่นของแอร์บีเอ็นบี และความเร็วอินเทอร์เน็ตของพวกเขาจะถูกแจ้งใน Listing โดยอัตโนมัติ ทำให้ผู้ที่ต้องการจองที่พักทราบได้ก่อนว่าพวกเขาจะสามารถทำงานหรือประชุมในที่พักนี้ได้หรือไม่

ในเดือน พ.ย.เช่นเดียวกัน ได้เปิดตัวอีกหนึ่งเครื่องมือ “Translation Engine” ซึ่งวิศวกรของแอร์บีเอ็นบีได้พัฒนาขึ้นมา โดยใช้เครื่องมือการแปลแบบ Machine Learning ช่วยลดขั้นตอนการแปลภาษาแก่ผู้ใช้งาน ไม่ต้องเสียเวลาคลิกเพื่อแปลภาษาบนแพลตฟอร์มอื่น โดยจะแปลภาษาในคำบรรยาย Listing ให้ทันที ปัจจุบันแปลได้ถึง 60 ภาษารวมถึงภาษาไทย

นี่คือสิ่งที่เราได้ปรับตัวตามทิศทางของโลก!