500องค์กรลดคาร์บอน ขับเคลื่อนพลังงานหมุนเวียน

500องค์กรลดคาร์บอน ขับเคลื่อนพลังงานหมุนเวียน

RE 100 Thailand Club ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นแกนนำในการผลักดันการลดคาร์บอนของภาคเอกชน ซึ่งมีเป้าหมายร่วมขับเคลื่อนแผนพลังงานชาติไปสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality โดยมีสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ประเทศไทยต้องเดินตามข้อตกลงของการประชุม COP26 เพื่อไม่ให้เกิดการถูกกีดกันทางการค้าในรูปแบบที่ไม่ใช่ภาษี โดยประเทศไทยได้กำหนดเป้าหมายมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเหลือศูนย์ภายในปี 2065

ทั้งนี้ ผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมเนื่องจากเป็นผู้ปล่อย ซึ่งเป็นผู้ใช้พลังงานและปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงถึง 70% ในวันนี้จุดยืนของภาคอุตสาหกรรมจะต้องเร่งลดการผลิตที่สร้าง Carbon footprint ให้เร็ว เมื่อประเทศพัฒนาแล้วกว่า 75% ต่างเรียกร้องให้ด้านผู้ผลิตสินค้าเริ่มปฏิบัติจริงเพื่อลดการทำลายสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้รัฐได้กำหนดมาตรการเพื่อมุ่งสู่ทิศทางการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลง ดังนี้ ตั้งเป้าให้ผลิตพลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาดมากกว่า 50% และผลักดันให้เกิดการผลิตพลังงานใหม่ก้าวสู่การเป็น RE100 (Renewable energy 100%) 

รวมทั้งผลักดันยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่ใช้ไฟฟ้าพลังงานสะอาดได้แท้จริงตั้งแต่ต้นทาง การลดปริมาณการใช้พลังงาน ซึ่งทำได้ด้วยการพัฒนาด้านเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ให้เกิดการผลิตที่ประหยัดพลังงานมากกว่าเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ที่ 30%

สำหรับการผลักดันพลังงานสะอาด RE100 จะสร้างจุดขายให้ไทยนอกเหนือจากมาตรการส่งเสริมการลงทุนในด้านอื่นๆ เมื่อนักลงทุนจากต่างชาติที่จะเข้ามาเองมีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่จะเกิดขึ้นเร็วกว่าเป้าหมายระดับชาติ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเกี่ยวกับเทคโนโลยี อาทิ ระบบคลาวด์ , เอไอ , ดาต้า เซ็นเตอร์ , ดิจิทัล , สมาร์ตอิเล็กทรอนิกส์ ที่จำเป็นต้องใช้พลังงานมหาศาล 

ทั้งนี้ หากไทยจ่ายพลังงานงานสะอาดและสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนว่าในอนาคตไทยจะมีการเพิ่มสัดส่วนของพลังงานสะอาดมากขึ้นเพื่อให้โรงงานใช้ในการผลิตและบริการได้ ก็จะเพิ่มโอกาสในการดึงนักลงทุนเข้ามา และมุ่งหวังว่าหลังจากมีอุตสาหกรรมใหม่เข้ามาลงทุนจะทำให้เกิดการต่อยอดโดยเยาวชนไทยและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ส.อ.ท.รู้ถึงความสำคัญของความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปี 2564 และที่ผ่านมาได้มีการดำเนินการหลายอย่างเพื่อรองรับสถานการณ์ดังกล่าวและเพื่อส่งเสริมศักยภาพของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม และสมาชิก ส.อ.ท.ให้ช่วยกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้ ล่าสุดได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือพัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับการซื้อขายคาร์บอนเครดิตของประเทศไทย (Thailand Carbon Credit Exchange Platform) ร่วมกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งคาดว่าจะเริ่มซื้อขายได้จริงครั้งแรก 2 ก.พ.2565

นายวีระเดช เตชะไพบูลย์ รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน ส.อ.ท. และ ประธาน RE100 Thailand Club กล่าวว่า RE100 Thailand Club มีการกำหนดวิสัยทัศน์เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของภาคอุปสงค์และอุปทานของพลังงานหมุนเวียนและคาร์บอนเครดิต ในช่วงการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานหมุนเวียน 100% ในระดับองค์กร

อีกทั้งส่งเสริมให้พลังงานหมุนเวียน (RE) และการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ (EE) เป็นเครื่องมือหลักในการ Decarbonization ผ่านการดำเนินงานของภาครัฐในด้าน Deregulation, Decentralization และ Digitalization มุ่งไปสู่การแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนและรักษาระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย

โดยมีเป้าหมายการใช้พลังงานหมุนเวียนและความเป็นกลางทางคาร์บอน ดังนี้ ใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างน้อย 25% ภายในปี 2025 อย่างน้อย 50% ภายในปี 2030 อย่างน้อย 80% ภายในปี 2035 อย่างน้อย 90% ภายในปี 2040 และถึง 100% ภายในปี 2045

ทั้งนี้ การกำหนดเป้าหมายดังกล่าวของ RE 100 Thailand Club ได้สอดคล้องกับนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ของประเทศไทยให้มีการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 ตามที่นายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้แถลงไว้ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 26 (COP26) ณ เมืองกลาสโกลว์ ประเทศสก๊อตแลนด์

500องค์กรลดคาร์บอน ขับเคลื่อนพลังงานหมุนเวียน RE 100 Thailand Club มีสมาชิกร่วมก่อตั้ง 21 องค์กร และปัจจุบันมีสมาชิก 500 บริษัทรวมบริษัทในเครือของสมาชิก ซึ่งบริษัทสมาชิกร่วมก่อตั้งได้กำหนดเป้าหมายชัดเจน เช่น ส.อ.ท. มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ บมจ.ซุปเปอร์เอนเนอร์ยี่ คอร์เปอเรชั่น บมจ.ปตท บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย กลุ่มเซ็นทรัล สภาสถาปนิก บมจ.สหวิริยาสตีลอินตัสตรี

บริษัท โตโยต้ามอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้มีการกำหนดเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนหรือการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutrality) ในปี 2035 

บริษัท เด็นโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด ได้กำหนดเป้าหมายการใช้พลังงานหมุนเวียน (RE 100) ในสัดส่วน 100% ภายในปี 2025 และกำหนดเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนหรือการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2035 

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีนโยบายมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (EGAT Carbon Neutrality) ภายในปี 2050