ปศุสัตว์ MOU ธกส. – แม็คโคร-พรีเมียม บีฟ พัฒนาโคนมเป็นโคเนื้อ เล็งส่งอาเซียน

ปศุสัตว์ MOU   ธกส. – แม็คโคร-พรีเมียม บีฟ  พัฒนาโคนมเป็นโคเนื้อ เล็งส่งอาเซียน

กรมปศุสัตว์ ร่วมกับ ธ.ก.ส. บริษัท พรีเมียม บีฟ และ บริษัท สยามแม็คโคร ลงนาม MOU โครงการสร้างโคเนื้อคุณภาพสูงจากโคนม ตั้งเป้าส่งออกตลาดอาเซียน หลังความต้องการตลาดเพิ่มขึ้น

นาย เฉลิมชัย ศรีอ่อน  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่าจากข้อมูลสถิติโคเนื้อของประเทศไทยที่ผ่านมา  ปี2564   ซึ่งเป็นข้อมูลที่กรมปศุสัตว์สำรวจนั้น มีจำนวนโคเนื้อกว่า 7.6 ล้านตัว เกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อ ประมาณ 1.1 ล้านราย คิดเป็นเนื้อโค 200,000 ตัน  ผลผลิตเนื้อโคที่ได้ส่วนใหญ่จะบริโภคภายในประเทศ และมีการนำเข้าเนื้อโคจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยที่ผ่านมากรมปศุสัตว์ ได้มีโครงการส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อต่างๆ  เช่น โครงการโคเนื้อสร้างอาชีพ โครงการโคเนื้อต้นแบบธนาคารโค-กระบือ โครงการไทยนิยมยั่งยืน เป็นต้น

                          กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย กรมปศุสัตว์ ได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความเข้าใจ (MOU) โครงการสร้างโคเนื้อคุณภาพสูงจากฝูงโคนม ระหว่าง กรมปศุสัตว์  บริษัทพรีเมี่ยม บีฟ จํากัด  บริษัท สยามแม็คโคร จํากัด (มหาชน)  และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ( ธ.ก.ส.) ซึ่งวัตถุประสงค์ของการลงนามฯ  ในครั้งนี้ คือ ความร่วมมือดำเนินโครงการสร้างโคเนื้อคุณภาพสูงจากโคนมในการส่งเสริมการผลิตโคเนื้อคุณภาพสูง

             โดยขยายการผลิตจากฝูงโคนมสาวท้องที่ให้ปริมาณผลผลิตต่ำ ใช้โคนมสาวมาเป็นฐานในการผลิตโคเนื้อคุณภาพสูง  โดยการผสมเทียมโคนมเหล่านี้ด้วยน้ำเชื้อที่เป็น ที่ต้องการของตลาด เช่น  สายพันธุ์ลูกผสมวากิว  ลูกผสมแองกัส  บีฟมาสเตอร์ ชาร์โลเลส์ เป็นต้น

 

  เพื่อเพิ่มจำนวนโคขุนคุณภาพสูงตามที่ตลาดต้องการและลดปัญหาโคนมล้นตลาด สร้างรายได้เพิ่มในการผลิตโคต้นน้ำให้กับสหกรณ์โคนม กลุ่มเกษตรกรหรือวิสาหกิจชุมชนตลอดจนสามารถเลี้ยงควบคู่ระหว่างโคนมและโคเนื้อ โดยตลอดการดำเนินการโครงการฯ  เกษตรกรจะได้รับความรู้  คำแนะนำ  ด้านการลงทุน  และการจัดทำแผนธุรกิจให้เป็นไปตามที่กำหนดรวมทั้งสนับสนุนด้านการตลาดตลอดห่วงโซ่

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์  กล่าวว่า  เนื่องจากปัจจุบันการบริโภคเนื้อโคของไทยเฉลี่ย 2.89 กิโลกรัม/คน/ปี ซึ่งมีปริมาณน้อยมากเมื่อเทียบการการบริโภคเนื้อโปรตีนจากสัตว์ชนิดอื่นและยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ ทั้งนี้  จึงเป็นโอกาสที่ดีของประเทศไทยที่จะผลิตโคเนื้อคุณภาพดีเพื่อให้เพียงพอต่อการบริโภคและเพื่อการส่งออก ยังเป็นลดการนำเข้าเนื้อโคจากต่างประเทศอีกด้วย

นางสาวธีราพร ธีรทีป ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารสินค้าอาหารสด บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน)  กล่าวว่า ปัจจุบันแนวโน้มการบริโภคเนื้อวัวคุณภาพสูงมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งในกลุ่มผู้ประกอบการร้านอาหาร กลุ่มลูกค้าทั่วไป ต่างให้ความไว้วางใจกับการเลือกซื้อเนื้อวัวที่วางจำหน่ายในสาขาของแม็คโคร เพราะคุณภาพและความหลากหลาย โดยเฉพาะเนื้อโคขุนจากเกษตรกรไทยที่ได้รับการยอมรับไม่แพ้เนื้อนำเข้าจากต่างประเทศ และตลาดยังมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง

ปศุสัตว์ MOU   ธกส. – แม็คโคร-พรีเมียม บีฟ  พัฒนาโคนมเป็นโคเนื้อ เล็งส่งอาเซียน

ด้วยเหตุนี้ แม็คโคร จึงร่วมกับ กรมปศุสัตว์  พัฒนาเนื้อโคขุนหลากหลายสายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง รวมถึงพัฒนาเนื้อวัวคุณภาพสูงจากฝูงโคนม โดยได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความเข้าใจ (MOU) ร่วมกัน พร้อมด้วย บริษัท พรีเมี่ยมบีฟ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ซึ่งเป็นการผนึกกำลังช่วยเหลือส่งเสริมเกษตรกรไทยให้มีอาชีพที่มั่นคงและมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น

“โครงการนี้เป็นการเพิ่มขีดความสามารถให้กับกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม และกลุ่มเอสเอ็มอีผู้ผลิตอย่าง พรีเมี่ยมบีฟ ในการพัฒนาโคเนื้อคุณภาพสูงให้เพียงพอต่อความต้องการบริโภคภายในประเทศ รวมถึงส่งออกไปยังภูมิภาคอาเซียน โดยผ่านกระบวนการเลี้ยงขุนในฟาร์มและผลิตในโรงงานผลิตที่ได้รับรองมาตรฐานจากกรมปศุสัตว์ รวมถึงการทำการตลาด เพิ่มช่องทางการจำหน่ายให้กับเกษตรกร ผ่านสาขาของแม็คโคร ซึ่งจะทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงวัวมีรายได้เพิ่มขึ้น เฉลี่ย 10,000-20,000 บาทต่อตัว”

 

นปัจจุบันการเลี้ยงโคนมประสบปัญหา เรื่องการเกิดใหม่ของลูกวัวเพศผู้ ที่ไม่สามารถให้นมได้ รวมถึงโคนมเพศเมียที่มีปัญหาเรื่องการให้นมน้อยกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ทำให้เกษตรกรหยุดเลี้ยงและขายออกให้พ่อค้าคนกลาง หรือตลาดล่างในราคาที่ต่ำ

ซึ่งโครงการนี้จะเข้าไปพัฒนาคุณภาพเนื้อวัวคุณภาพสูงจากฝูงโคนม โดยนำคุณลักษณะเด่นของโคนมที่มีเลือดสายพันธุ์เมืองหนาวสูง (สายพันธุ์โฮลสไตน์ฟรีเซี่ยน) ทำให้เนื้อวัวมีความละเอียดหอมนุ่มเป็นธรรมชาติตามคุณลักษณะของสายพันธุ์เมืองหนาว เมื่อนำมาพัฒนาต่อยอดด้วยการเลี้ยงแบบขุนด้วยธัญพืชที่มีคุณภาพ จะช่วยพัฒนาเนื้อจากโคนมให้มีคุณภาพดี มีมูลค่าเพิ่มขึ้น

 

“สิ่งที่ผู้บริโภคนิยมเนื้อโคขุนไทยมากขึ้นและกลายเป็นกระแสดังในโลกออนไลน์ เนื่องจากมีกลิ่นหอม และรสชาติที่เข้มข้น นิยมนำมาบริโภคในหลายเมนู อาทิ  สเต๊ก บาบีคิว สตูว์ ปิ้งย่าง ชาบู ซึ่งแม็คโครได้สนับสนุนและพัฒนาผลผลิตจากเกษตรกรผู้เลี้ยงโคขุน 5 สายพันธุ์ ประกอบด้วย บราห์มัน, ลูกผสมชาโรเลย์, วัวนมขุน, ลูกผสมไทย-แองกัส, และลูกผสม ไทย-วากิว ภายใต้แบรนด์ ‘โปรบุชเชอร์’ ครอบคลุมเกษตรกรผู้เลี้ยงโคขุนไทยมากกว่า 10,000 ครัวเรือน ตอกย้ำการเป็น Beef destination ที่ลูกค้าพูดถึงเรา”

 

นอกจากนี้ สัตวแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย  ได้จัดประชุมวิชาการนานาชาติทางสัตวแพทย์และการเลี้ยงสัตว์ในปีนี้ (ICVS 2021) เป็นการประชุมเนื่องในโอกาสครบรอบ 72 ปี โดยอาศัยความร่วมมือจากสาขาวิชาชีพต่าง ๆ ทั้งจากองค์กรภาครัฐและภาคเอกชนระดับชาติและนานาชาติ เพื่อเป็นเวทีให้สัตวแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัย ในสาขาวิชาชีพต่างๆ

รวมทั้งผู้ประกอบธุรกิจด้านการดูแลสัตว์เลี้ยงและการผลิตสัตว์เชิงอุตสาหกรรม ในระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติได้แลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการ ประสบการณ์ทางวิชาชีพ ที่มุ่งเน้นประสานความร่วมมือกันในการเพิ่มขีดศักยภาพความสามารถของวิชาชีพสัตวแพทย์ในการขับเคลื่อนประเทศไทย โดยเน้นการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนช่วยในการพัฒนาด้านการเลี้ยงสัตว์และเพื่อนำเสนอผลงานทางวิชาการ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและสร้างความร่วมมือให้เกิดขึ้นในระดับภูมิภาคอาเซียนและนานาชาติอย่างเป็นรูปธรรม

จากการพัฒนาศักยภาพและการขับเคลื่อนงานวิชาชีพสัตวแพทย์ในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ทำให้วงการสัตวแพทย์ของไทยมีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก ก้าวขึ้นเป็นผู้นำในระดับภูมิภาคอาเซียน มีการสร้างความร่วมมือในด้านวิจัยและนวัตกรรมในระดับนานาชาติ อีกทั้งมีส่วนร่วมในการสร้างเสริมความเข้มแข็งของประเทศในหลายๆ ด้าน เช่น ด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงทางด้านอาหารของประเทศ ระบบอุตสาหกรรมการผลิตสัตว์

 

รวมถึงด้านสาธารณสุขในระบบการเฝ้าระวัง ควบคุมและป้องกันโรคทั้งในสัตว์และมนุษย์ การรักษาสุขภาพสัตว์เลี้ยงของพี่น้องประชาชน รวมถึงการมีบทบาทหน้าที่สำคัญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐานอาหารปลอดภัย และสอดคล้องกับข้อกำหนดระหว่างประเทศและสากล ซึ่งประเทศคู่ค้าต่างๆ ให้ความเชื่อมั่น ส่งผลให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ส่งออกผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์เป็นอันดับหนึ่งในภูมิภาคอาเซียนและผู้นำในอันดับโลก ซึ่งวิชาชีพสัตวแพทย์ถือเป็นบทบาทที่ท้าทายในการควบคุมผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดโลก โดยปัจจุบันประเทศไทยได้ส่งออกผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์รวมมีมูลค่าแล้วมากกว่า 240,000 ล้านบาท ซึ่งแสดงถึงความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน