“TRUE” ผู้นำสมรภูมิการแข่งขัน และ “หุ้นเทิร์น อะราวด์” ในตลาดหลักทรัพย์

“TRUE” ผู้นำสมรภูมิการแข่งขัน  และ “หุ้นเทิร์น อะราวด์” ในตลาดหลักทรัพย์

ดีลประวัติศาตร์ธุรกิจสื่อสาร ระหว่าง "ทรู คอร์ปอเรชั่น" หรือ "TRUE" ควบรวม " โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น" หรือ "DTAC" เกิดแรงบวกต่อธุรกิจด้วยกัน พร้อมๆ กับแรงต้านทานจากการกินรวบตลาดทันทีที่มีการประกาศ

การเข้ามา TRUE ในธุรกิจสื่อสารแบบเต็มตัวปี 2544 ทำเกิดจุดเปลี่ยนกลายเป็นผู้ประกอบการเอกชนจาก 2 รายเป็น 3 ราย และยังเป็นรายใหญ่ทุนหนานาม "เจ้าสัวกลุ่มซีพี" ที่มียุทธศาสตร์ชัดเจนต้องการยืนเป็นเบอร์ 1 ในทุกธุรกิจที่เข้าลงทุน แม้จะต้องทุ่มเงินเพื่อซื้อกิจการแบกหนี้จนหลังแอ่นก็ตาม

จากก้าวแรกในการเข้ามาเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์พื้นฐาน (โทรศัพท์บ้าน) ปี 2533 ภายใต้สัญญาร่วมงานและร่วมลงทุนกับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยหรือปัจจุบันคือ บริษัท ทีโอที หรือ TOT และเข้าตลาดหุ้น ในปี 2536 มีชื่อย่อว่า “TA

จนมีโอกาสเข้าสู่ตลาดที่ใหญ่ขึ้นคือโทรคมนาคม ปี 2544 -2545 จากการซื้อกิจการ “ ไวร์เลส คอมมิวนิเคชั่นส์ เซอร์วิส” ผนึกกำลังกับพันธมิตรสัญชาติชาติฝรั่งเศส “ออเรนจ์เอสเอ” (Orange S.A.) ตั้ง บริษัท ทีเอ ออเร้นจ์ (TA Orange) ขึ้น เพื่อให้บริการโทรศัพท์มือถือภายใต้ชื่อเครือข่าย Orange

การขยายธุรกิจเดินหน้าต่อเนื่องเข้าสู่ธุรกิจอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงแบบไร้สาย หรือ WiFi ทั้งในประเทศและต่างประเทศผ่านการทำการตลาดอย่างหนัก ซึ่งถือว่าสามารถเปิดตัวและทำการตลาดจนประสบความสำเร็จกวาดฐานลูกค้าทั้งรายบุคคลและองค์กรด้วยการเป็นเบอร์ 1 ในธุรกิจนี้มีส่วนแบ่งการตลาดสิ้นปี 2563 อยู่ที่ 36.66 %

ถัดมาในปี 2548 ทรูเริ่มรุกหนักด้วยการเข้าซื้อกิจการ บริษัท ยูไนเต็ด บรอดคาสติ้งคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ UBC 12,000 ล้านบาท และเปิดตัวการให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกในชื่อ UBC-True เป็น True Visions ซึ่งประสบความสำเร็จจากการเป็นผู้ให้บริการแทบจะผูกขาดตลาดที่ไม่มีแรงแข่งขันเลย

สวนทางกับธุรกิจมือถือ Orange แม้จะมีพันธมิตรต่างประเทศแต่เจอปัญหาเครือข่ายสัญญาณไม่คลอบคลุม ลูกค้าลดลงและสุดท้าย Orange S.A. ถอนตัวออกไปด้วยการขายหุ้น 39%หรือ 819 ล้านหุ้น ในราคา 1 บาท จนต้องปรับแผนใหญ่-จัดขบวนทัพใหม่ด้วยตัวเองเพื่อรวมธุรกิจโทรคมนาคมของบริษัทย่อยต่างๆ ให้เป็นแบรนด์เดียว โดยเปลี่ยน เป็น ทรู ออนไลน์ และ Orange เป็น ทรู มูฟเอ

“TRUE” ผู้นำสมรภูมิการแข่งขัน  และ “หุ้นเทิร์น อะราวด์” ในตลาดหลักทรัพย์

TRUE เมื่อขาดพันธมิตรเลือกที่จะโตด้วยตัวเองในวิธีที่เร็วที่สุดและทางลัด ด้วยการซื้อกิจการ ปี 2553 ในกลุ่ม “ฮัทชิสัน ไวร์เลส มัลติมีเดีย โฮลดิ้งส์” ทั้งหมด 4 บริษัท แต่ 3 ใน 4 บริษัท เป็นการซื้อด้วยเงินกู้จากสถาบันการเงิน จำนวนไม่เกิน 6,300 ล้านบาท  

โดยแลกกับเป็นผู้ให้เช่าเครื่องและอุปกรณ์โครงข่ายโทรคมนาคมแก่บริษัท กสท โทรคมนาคม พร้อมทำการตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบ CDMA คลื่นดังกล่าวทำให้ TRUE เข้าสู่การให้บริการ 3G ปี 2554 แบบไม่ต้องเข้าประมูลสัมปทาน และเป็นการจุดสมรภูมิการแข่งขันกันอย่างดุเดือดในธุรกิจสื่อสารของทั้ง 3 ค่ายทันที คือ AIS –DTAC และ TRUE Move H ในฐานะเบอร์ 3 ในตลาดสื่อสาร

ตั้งแต่แพ็กเกจราคา ช่องทางการขาย จนไปถึงการประมูลคลื่น 4G ปี 2558 ที่สู้กันอย่างดุเดือดทำราคาครั้งประวัติศาสตร์ ในการคว้าคลื่นระหว่าง TRUE – AIS ทะลุ 50,000 ล้านบาท ตามมาด้วยประมูลสัมปทาน 5G ปี 2563 แม้จะที่ไม่ร้อนแรงเท่าแต่เจ้าบุญทุ่ม TRUE ยังเดินหน้ากวาดคลื่นในมือ แม้จะเพิ่มหนี้มากขึ้นแต่เกมนี้ “ต้องมี” เพื่ออยู่ในการแข่งขันต่อไป

ปัจจัยดังกล่าวทำให้ TRUE พลิกสถานการณ์กลายเป็นโอเปอเรเตอร์ที่มีส่วนแบ่งการตลาดอันดับ 2 ด้วยกลยุทธ์ทางการตลาดทั้งย้ายค่ายแถมโทรศัพท์ ลดราคาแพ็กเกจ ลดแลกแจกแถมอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ หรือพ่วงแพ็กเกจทรูวิชั่น จนในปี 2563 สามารถขึ้นมีส่วนแบ่งตลาดกลุ่มโทรศัพท์เคลื่อนที่ 32.75% มีฐานลูกค้า 30 ล้านราย เข้าใกล้เบอร์ 1 มากขึ้นที่มีส่วนแบ่งการตลาด 44.35 %

อย่างไรก็ตามผลจากการใช้เม็ดเงินมหาศาลในการลงทุนขยายเครือข่าย บวกกับภาระขาดทุนที่สะสมผ่านการซื้อกิจการที่ผ่านมาทำให้ภาระหนี้กลายเป็นปัญหาหนักสำหรับ TRUE สะท้อนได้จากในรอบ 10 ปีผ่านมา (2554-2563) รายได้เพิ่มขึ้นแต่กำไรผันผวน หนึ้เพิ่มสูงขึ้นทุกปี จน 9 เดือนปี 2564 มีตัวเลขหนี้สินอยู่ที่ 539,941ล้านบาท ขาดทุนสะสม 76,405 ล้านบาท

ดังนั้นเมื่อมีการขาดทุนอย่างต่อเนื่องและเป็นจำนวนเงินที่มาก  ส่วนทุนสูงขึ้นเพื่อหาช่องทางเพิ่มเงินในมือด้วยการเพิ่มทุนจำนวนหุ้นหลักพันล้านหุ้นขยับขึ้นมาเป็นหลักหมื่นล้านหุ้น การเพิ่มทุนครั้งใหญ่ การเข้าถือหุ้น 18% ของ China Mobile International กลุ่ม CP ถือหุ้น อยู่ 60.12% ( 18 มี.ค. 2557) และปัจจุบัน กลุ่ม CP ถือหุ้น อยู่ 49.99% และ China Mobile ถือหุ้น TRUE ในสัดส่วน 18% (15 มี.ค. 2564)

นอกจากเพิ่มทุนแล้วการออกกองทุนโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ดิจิทัล หรือ DIF เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผลการดำเนินงานของ TRUE ในระยะหลังพลิกกลับมาเป็นกำไร และอีกด้านยังสามารถจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นได้อีกด้วย

ปี 2561 -2562 TRUE มีการทยอยขายสินทรัพย์เข้ากองทุนดังกล่าวจำนวนที่สูง โดยในปี 2561 ได้มีการขายสินทรัพยเข้ากองทุนมูลค่า 56,000 ล้านบาท จนทำให้ในปีนั้น TRUE มีกำไรพิเศษและมีผลต่อกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 7,000 ล้านบาท ที่สำคัญ TRUE และประกาศจ่ายปันผลเป็นครั้งแรก

และปี 2563 เกิดปรากฎการณ์ TRUE ขายหน่วยลงทุน DIF 2 ครั้ง มูลค่าถึง 8,000 ล้านบาทราคา 13.50 -14.70 บาท ลดสัดส่วนถือหน่วยลงทุนเหลือ 23.38 % จากเดิม 28.11 % ท่ามกลางกระแสข่าวการขายสินทรัพย์เข้ากองทุนถึงทางตันจากการเร่งขายสินทรัพย์เข้ากองทุน DIF ติดกันๆ เพื่อหนุนราคาหุ้นและปันผล 

ด้านราคาหุ้น TRUE ตอบรับจากประเด็นดังกล่าวด้วยแรงเก็งกำไร จนราคาหุ้นปรับตัวขึ้นมาสูงสุดในช่วงในปี 2557 ที่ 11 บาท เมื่อประเด็นโอกาสจ่ายปันผลน้อยลง กลับมาขาดทุนราคาหุ้นสะท้อนปัจจัยดังกล่าวไปด้วย  เมื่อเครื่องมือทางตลาดทุนเริ่มขยายไม่ได้ ธุรกิจสื่อสารยังไม่สามารถครองเบอร์ 1 หมากสุดท้ายจึงได้เห็นร่วมกับเบอร์ 3 DTAC เกิดขึ้น พร้อมกับคามคาดหวังราคาหุ้นจากโอกาสของ TRUE ขึ้นมาเป็นเบอร์ 1 ในตลาดสื่อสารในไทย

ภาคธุรกิจ TRUE ฝ่าการแข่งขันด้วยสไตล์ทุนใหญ่ไล่ซื้อ - หาทางลัด เพื่อเข้าใกล้เป้าหมาย ซึ่งในด้านตลาดทุนแม้จะไม่ผ่านด้านราคาหุ้น ฐานะการเงิน ผลตอบแทนด้านเงินปันผลที่ไม่สม่ำเสมอ แต่สิ่งที่ตลาดหุ้นให้น้ำหนักคือแนวโน้มอนาคตและ จน TRUE กลายเป็นหุ้น “เทิรน์ อะราวด์” ขาประจำในสายตานักลงทุนโดยปริยาย