ย้อนไทม์ไลน์ธุรกิจ "TRUE” ทำอะไรมาบ้าง ก่อนเตรียมควบรวม "DTAC" ?

ย้อนไทม์ไลน์ธุรกิจ "TRUE” ทำอะไรมาบ้าง ก่อนเตรียมควบรวม "DTAC" ?

ย้อนไทม์ไลน์ ก่อนจะมาเป็น "TRUE” บริษัทโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ภายใต้เครือ "ซีพี" ที่บริหารโดยตระกูลใหญ่ "เจียรวนนท์" หลังประกาศเตรียมควบรวม "DTAC" ตั้งบริษัทใหม่สู่เทคคอมพานีระดับภูมิภาค

ดีลใหญ่ เขย่าวงการโทรคมนาคมไทย หลัง “TRUE” และ “DTAC” ผนึกกำลังเกิดอภิมหาดีล เตรียมควบรวมกิจการระหว่างทั้ง 2 บริษัท ผ่านการจัดตั้งบริษัทใหม่ รวมถึงประกาศแผนการปรับโครงสร้างสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยี

สำหรับแผนการควบรวมในส่วนของผู้ถือหุ้นนั้น ได้มีการกำหนดอัตราการจัดสรรหุ้น (Swap Ratio) สำหรับการจัดสรรหุ้นในบริษัทใหม่ที่เกิดจากการควบบริษัท หรือ "บริษัทใหม่" ให้แก่ผู้ถือหุ้นของบริษัท และผู้ถือหุ้นของ dtac ในอัตราส่วน 1 หุ้นเดิมในบริษัท ต่อ 2.40072 หุ้นในบริษัทใหม่ และ 1 หุ้นเดิมใน dtac ต่อ 24.53775 หุ้นในบริษัทใหม่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ประเด็นสำคัญๆ ที่สังคมจับตามองจากบิ๊กดีลครั้งนี้ ก็มีตั้งแต่คำถามถึงผลกระทบต่อผู้บริโภคเมื่อในสนามเหลือผู้เล่นรายใหญ่เพียงสองรายจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง แล้วการแข่งขันจะเป็นไปในทิศทางใด สรุปแล้วใครได้หรือเสียประโยชน์บ้าง จากแผนการควบรวมดังกล่าว ฯลฯ

โดยเฉพาะเมื่อพูดถึง "ทรู" (TRUE) ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า แบรนด์นี้มี "เครือซีพี" เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และมีนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และประธานกรรมการ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นผู้บริหาร

โดยรายชื่อ 10 ผู้ถือหุ้นใหญ่ใน "บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)" จากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ประกอบด้วยรายชื่อ ดังนี้  ย้อนไทม์ไลน์ธุรกิจ \"TRUE” ทำอะไรมาบ้าง ก่อนเตรียมควบรวม \"DTAC\" ?

รายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด ณ วันที่ 22 พ.ย. 64 (ที่มา: ตลาดหลักทรัพย์ฯ)

จึงดูเหมือนสปอตไลต์จะจับจ้องที่ค่ายนี้เป็นพิเศษ ว่า ทิศทางต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร?

แต่ระหว่างที่ทั้งหมดยังอยู่ในการวิเคราห์คาดเดา “กรุงเทพธุรกิจออนไลน์” ชวนไปส่องไทม์ไลน์ธุรกิจของทรู ว่า กว่าจะเป็น “TRUE” ในศตวรรษนี้ เคยทำอะไรมาบ้างกว่าจะมาเดินทางมาถึงวันนี้..

ปี 2533 : บริษัทก่อตั้งขึ้นในชื่อ "เทเลคอมเอเซีย คอร์ปอเรชั่น" ในฐานะผู้ให้บริการโทรศัพท์พื้นฐานภายใต้สัญญร่วมการงาน และร่วมลงทุนกับ บมจ.ทีโอที หรือที่รู้จักในนาม “TOT”

ปี 2536 :  เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในชื่อ บริษัท เทเลคอมเอเชีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในช่วงเดือนธันวาคม มีชื่อย่อหลักทรัพย์ว่า “TA

ปี 2544 : เข้าถือหุ้นใน บริษัท กรุงเทพ อินเตอร์เทเลเทค จำกัด (มหาชน) หรือ “BITCO” ที่ถือหุ้นใน บริษัท ทีเอ ออเร้นจ์ จำกัด เป็นจุดเริ่มต้นเข้าสู่ธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่

ปี 2545 : เปิดตัว “TA Orange” หรือที่ทุกคนรู้จักในชื่อ “ออเร้นจ์” (Orange) เครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยให้บริการอย่างเต็มรูปแบบในเดือนมีนาคมปีเดียวกัน

ปี 2546 : บริษัทได้เปิดให้บริการ ทรูมันนี่ (บริษัททรู มันนี่ จำกัด) เพื่อให้บริการธุรกรรมทางการเงินแบบออนไลน์สำหรับกลุ่มทรู 

ปี 2547 :  เริ่มรีแบรนด์ครั้งใหญ่จาก เทเลคอมเอเชีย คอร์ปอเรชั่น เป็นบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) มีชื่อย่อหลักทรัพย์ว่า “TRUE” (ทรู) ส่วน ทีเอ ออเร้นจ์ เปลี่ยนเป็น “TRUE MOVE” (ทรู มูฟ)

ปี 2549 : บริษัทได้เข้าซื้อหุ้น "ยูบีซี" (UBC)จาก MIH ทั้งหมด และต่อมาได้เข้าซื้อหุ้นสามัญจากรายย่อย ทำให้บริษัทมีสัดส่วนการถือหุ้นทางอ้อมในยูบีซี 91.8% จากก็มีการเข้าซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นรายย่อย

ปี 2550 : ในช่วงต้นปี มีการเปลี่ยนชื่อยูบีซี เป็น "ทรูวิชั่นส์" (True Visions)

ปี 2552 : บริษัท ทรูมันนี่ ได้รับใบอนุญาตจากคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ให้เป็นผู้ให้บริการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นระยะเวลา 10 ปี

ปี 2554 :  เริ่มให้บริการและขยายบริการ 3G (บริการอินเทอร์เน็ตไร้สายความเร็วสูง) หลังเข้าซื้อกิจการโทรศัพท์มือถือระบบซีดีเอ็มเอของบริษัท ฮัทชิสัน ซีเอที ไวร์เลส จำกัด หรือ ฮัทช์ ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือซีดีเอ็มเอในภาคกลางและ กทม. 25 จังหวัด โดยลงนามเข้าซื้อกิจการ วันที่ 27 ม.ค.2554 

ปี 2564 : (22 พ.ย.64) บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) และ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์เกี่ยวกับการศึกษาความเป็นไปได้ในการควบรวมบริษัท รวมถึงมีแผนจัดตั้งบริษัทใหม่หนุนกองทุนกว่า 200 ล้านดอลลาร์สำหรับลงทุนสตาร์ทอัพบนแพลตฟอร์มดิจิทัล ซึ่งถือเป็นมหาดีลส่งท้ายปีที่สั่นสะเทือนวงการโทรคมนาคมรวมถึงแวดวงเทคฯ เมืองไทย

จึงน่าจับตาต่อว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้จะนำไปสู่ปรากฏการณ์ใดเกิดขึ้นในแวดวงธุรกิจหรือส่งผลกระทบต่อผู้ใช้บริการในมิติใดบ้างหรือไม่

โดยปัจจุบัน บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กลายเป็นผู้ให้บริการและโซลูชั่นด้านการสื่อสารโทรคมนาคมอย่างครบวงจร ธุรกิจหลักของทรูแบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่

"ทรูออนไลน์" บริการโทรศัพท์พื้นฐาน และบริการเสริมต่างๆ เช่น บริการโทรศัพท์สาธารณะ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังรวมถึงบริการอินเทอร์เน็ตและบรอดแบนด์ บริการโครงข่ายข้อมูล และบริการ WE PCT

"ทรูมูฟ" นำเสนอนวัตกรรมและระบบสื่อสารแบบไร้สาย เพื่อให้ผู้คนสามารถติดต่อสื่อสารถึงกันและกัน ผ่านระบบการสื่อสาร ไร้สาย 

"ทรูวิชั่นส์" หรือที่หลายคนคุ้นเคยในชื่อ ยูบีซี คือผู้ให้บริการโทรทัศน์ระบบบอกรับเป็นสมาชิก ซึ่งให้บริการทั่วประเทศ ผ่านดาวเทียมในระบบดิจิตอลตรงสู่บ้านสมาชิก และผ่านโครงข่ายเคเบิล

"ทรูมันนี่" ให้บริการบัตรเติมเงินอิเล็คทรอนิกส์ และเป็นตัวแทนรับชำระค่าสินค้าและบริการ ทั้งสินค้าและบริการของกลุ่มทรู และบริการอื่นๆ อาทิ ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา รวมทั้งการชำระค่าบริการให้กับร้านค้าที่ทำธุรกรรมผ่านระบบอีคอมเมิร์ซ เป็นต้น

"ทรูไลฟ์" เป็นบริการดิจิตอลคอนเทนท์ และเป็นช่องทางเข้าถึงชุมชนผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่และชุมชนออนไลน์ อีกทั้งยังเป็นสื่อสำหรับธุรกรรมระหว่างผู้บริโภคกับผู้บริโภค ธุรกิจกับผู้บริโภค และธุรกิจกับธุรกิจ

-----------------------------------------

อ้างอิง: True, Truecorp, ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย