ประกันราคาข้าว นโยบายที่ต้องทำ

ประกันราคาข้าว นโยบายที่ต้องทำ

สถานการณ์ปัจจุบันนโยบายในการประกันรายได้สินค้าเกษตรของภาครัฐเป็นสิ่งที่ควรทำเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร รัฐบาลสามารถใช้นโยบายนี้ในการดูแลเกษตรกรได้ แต่โจทย์สำคัญก็คือจะทำอย่างไรให้เงินที่จ่ายลงไปลงไปถึงเกษตรกรได้อย่างแท้จริงโดยไม่มีการรั่วไหล

คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบมาตรการประกันรายได้เกษตรกรที่ปลูกพืชเศรษฐกิจ 3 ชนิดประจำปีการผลิต 2564/2565 คือข้าว มันสำปะหลังและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รวมมาตรการคู่ขนานอยู่ที่ 1.406 แสนล้านบาท ในส่วนนี้แบ่งเป็นประกันรายได้ผู้ปลูกข้าว 131,663 ล้านบาท มันสำปะหลัง 7,102 ล้านบาท และข้าวโพด 1,907 ล้านบาท เฉพาะโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวครอบคลุมเกษตรกร 4.6 ล้านครัวเรือน 8.94 หมื่นล้านบาท เป็นค่าชดเชยส่วนต่างระหว่างราคาประกันเป้าหมายกับราคาเกณฑ์การอ้างอิง 8.75 หมื่นล้านบาท

การพิจารณาของ ครม.ครั้งนี้ เห็นชอบอนุมัติวงเงิน 15% ก่อนของวงเงินประกันรายได้และวงเงินงบประมาณคู่ขนาน 18,378 ล้านบาท เป็นเงินประกันรายได้ 13,604 และคู่ขนาน 4,774 ล้านบาท รองรับผลผลิตที่จะออกสู่ตลาดภายในวันที่ 31 ต.ค.นี้ หลังจากนั้นจะมีการทยอยอนุมัติเงินเพิ่มเติมอีกเป็นระยะๆ รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงเป็นระเบียบข้อบังคับ และรัฐบาลไม่ได้ถังแตกแต่อย่างใด สำหรับการใช้เงินในการประกันรายได้ข้าวสูงกว่าปีก่อน เนื่องจากสถานการณ์ราคาข้าวในตลาดโลกตกต่ำ แข่งขันราคากันสูง ขณะที่ความต้องการบริโภคข้าวในประเทศลดลง จากการที่นักท่องเที่ยวต่างชาติไม่ได้เดินทางเข้ามา

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม โพสต์เฟซบุ๊คระบุตอนหนึ่งว่ามีความห่วงใยเกษตรกรที่ประสบปัญหาในการประกอบอาชีพ จึงให้กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งหางบประมาณในโครงการต่างๆ และขอแจ้งให้ทราบว่ารัฐบาลสามารถจัดสรรเงินให้ความช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรได้เพิ่มเติมอีก 155,000 ล้านบาท โดยจะเสนอให้ที่ประชุม ครม.อนุมัติในวันอังคารหน้า (30 พ.ย.)

เราเห็นด้วยกับนักวิชาการบางรายที่มองว่าในสถานการณ์ปัจจุบันนโยบายในการประกันรายได้สินค้าเกษตรของภาครัฐเป็นสิ่งที่ควรทำเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร รัฐบาลสามารถใช้นโยบายนี้ในการดูแลเกษตรกรได้ แต่โจทย์สำคัญก็คือจะทำอย่างไรให้เงินที่จ่ายลงไปลงไปถึงเกษตรกรได้อย่างแท้จริงโดยไม่มีการรั่วไหล นอกจากนี้ในระยะยาวนโยบายที่เหมาะสมคือการช่วยเหลือทางการเงินเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเกษตรกรให้ปรับเปลี่ยนไปสู่การปลูกพืชชนิดอื่นๆ ที่ตลาดโลกในอนาคตจะมีคู่แข่งน้อยและมีความต้องการมากกว่าข้าว

ความเคลื่อนไหวข้างต้น ยังถือว่าน่าจับตามองมากกว่าแค่การดำเนินนโยบายสำคัญที่ต้องดูแลเกษตรกรซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ยิ่งเมื่อมองจากจำนวนครัวเรือนชาวนา 5 ล้านครัวเรือน เฉลี่ยครัวเรือนละ 5 คน เท่ากับการดูแลคนไทย 1 ใน 3 ของประชากร สอดคล้องกับข้อมูลพื้นที่ประเทศไทยที่เป็นพื้นที่การเกษตรนับ100 ล้านไร่ การที่รัฐบาลมีการประกันรายได้ชาวนาและอนุมัติวงเงินในโครงการเพิ่มขึ้น รวม 3 ปีติดต่อกัน ไทม์ไลน์ครั้งนี้ยังน่าสนใจในความเคลื่อนไหวที่อาจเป็นสัญญาณปี่กลองเชิด หมายถึงฤดูเลือกตั้งกำลังใกล้เข้ามา.