"สรรพสามิต" เล็งคลอดภาษีคาร์บอน ปัดลดภาษีน้ำมัน

"สรรพสามิต" เล็งคลอดภาษีคาร์บอน ปัดลดภาษีน้ำมัน

"กรมสรรพสามิต" เล็งคลอดโครงสร้างภาษีคาร์บอน พร้อมปรับโครงสร้างภาษีรถยนต์ ย้ำอยู่ระหว่างศึกษาแนวทางใน 4 ประเทศ ปัด "ลดภาษีน้ำมัน" ระบุ กองทุนน้ำมันมีศักยภาพบริหารงานได้ดี ราคาปัจจุบันยังรับได้

นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า การก้าวสู่สังคมไร้คาร์บอน ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป เพราะเป็นสิ่งที่อยู่กับตัวเรา และจะบริหารจัดการเรื่องนี้อย่างไร วันนี้ เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการดำเนินชีวิต เป็นตัวเร่งในกระบวนการผลิตภาคอุตสาหกรรมก็เช่นกัน เทคโนโลยีสามารถทำให้ธุรกิจเติบโต เทคโนโลยีสามารถส่งเสริมกระบวนการผลิตให้มีสินค้าหลากหลาย และต้นทุนต่ำลง อีกทั้ง การผลิตสินค้าถึงมือลูกค้าหรือร้านค้าในระยะเวลาสั้นลง ทำให้เติบโตก้าวกระโดด

อย่างไรก็ตาม บทบาทภาครัฐ คือ จะทำอย่างไรให้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอย่างจำกัดเติบโตอย่างก้าวกระโดด ซึ่งการทำให้เศรษฐกิจโต อุตสาหกรรมโต ต้นทุนภายนอกก็โตแบบก้าวกระโดดเช่นเดียวกัน เช่น ภาวะโลกร้อน เป็นตัวอย่างตามหลักเศรษฐศาสตร์ และโตขึ้นยิ่งกว่าเศรษฐกิจถือเป็นความเสี่ยงทุกคน และเกิดความเสี่ยงต่อประเทศ เพราะไม่ได้อยู่ในต้นทุนของธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง ดังนั้น ต้นทุนทางสังคม ต้นทุนสิ่งแวดล้อม ไม่ได้เป็นของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่เป็นความเสี่ยงทุกคน และทุกประเทศ

ทั้งนี้ จะเห็นว่าการประชุม COP26 ผลออกมาเป็นรูปธรรมประเทศใหญ่ๆ ที่เป็นมหาอำนาจยืนยันเพื่อจะดำเนินการลดโลกร้อนไปด้วยกัน ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ประกาศโรดแมพประเทศไทยแบ่งเป็น 3 ช่วง ปี 2030 จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลง 40% และ ปี 2050 จะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065

สำหรับกลไกที่จะทำให้เป้าหมายโรดแมพเป็นจริงได้นั้น หากย้อนไป 5-10 ปีที่ผ่านมา เป็นกลไกความสมัครใจ องค์กรขนาดใหญ่มีความรับผิดชอบต่อสังคม มักจะพูดถึง ไบโออีโคโนมี เซอร์คูลาร์อีโคโนมี หรือ กรีน อีโคโนมี แต่ทั้งหมดคือ ความสมัครใจ ดังนั้น การจะเดินหน้าในเรื่องของ BCG อย่างเดียวไม่พอ จะต้องมีมาตรการใหม่ๆ เกิดขึ้น แต่จะไม่ใช่กระทรวงการคลังอย่างเดียว ที่ดูจะต้องมีเครื่องมือไหนช่วยให้รัฐบาลเลือกใช้ และบรรลุเป้าหมาย ซึ่งจะต้องเดินหน้าไปพร้อมกับมาตรการของกระทรวงอื่นๆ อาทิ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพลังงาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง ได้มีมาตรการในส่วนนี้คือ กรมสรรพสามิต เป็นกรมหนึ่งที่มีเครื่องมือใช้ในการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม ที่ดูเรื่องคาร์บอน ดูเรื่องโลกร้อนอย่างจริงจัง อาทิ ภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) ซึ่งการเก็บภาษีสิ่งแวดล้อมยังยึดอยู่บนหลักการเดิมคือ ผู้ปล่อยพิษทางอากาศเป็นผู้จ่ายเงินค่าภาษี ดังนั้น การเก็บภาษีคาร์บอนก็น่าจะเช่นเดียวกันคือ การกำหนดราคาคาร์บอน จึงหวังว่าผู้ผลิตจะมีการตัดสินใจเลือกพลังงานทางเลือกเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และปล่อยน้อยลงเพื่อที่ราคาจะได้ถูกลง

อย่างไรก็ตาม ประเทศที่เป็นผู้นำในโลกที่สะอาดการกำหนดราคาคาร์บอนมี 2 วิธี คือ 1. Carbon Tax โดยการระบุ ตรงตัวว่าอนุญาตให้โรงงาน หรือบริษัทใดบริษัทหนึ่งปล่อยคาร์บอนได้เท่าไหร่ และเมื่อมีการปล่อยเกินกว่าที่กำหนดจะต้องเสียภาษีในหน่วยที่คิดเป็นตันคาร์บอน เช่น ประเทศสิงคโปร์ ใช้แล้วปี 2019 ส่วนประเทศญี่ปุ่นใช้ในปี 2015 และ 2.การซื้อขายแลกเปลี่ยนก๊าซเรือนกระจก (cap and trade) ซึ่งบางอุตสาหกรรมอาจมีการปล่อยคาร์บอนจำนวนมาก จะต้องซื้อคาร์บอนมาจากอุตสาหกรรมที่ปล่อยคาร์บอนน้อย ซึ่งจะมีการกำหนดราคาอีกครั้ง โดยประเทศจีน และเยอรมนี ได้เริ่มใช้วิธีนี้เมื่อต้นปี 2564 ที่ผ่านมา ดังนั้น ประเทศไทยอาจจะนำ 2 วิธีนี้มาใช้

นอกจากนี้ หากพูดถึงการปล่อยคาร์บอน จากข้อมูลขององค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก พบว่า ภาคพลังงาน เป็นภาคที่ปล่อยเยอะสุด ดังนั้น ภาคพลังงานอาจเป็นภาคแรกที่จะต้องกำหนดมาตรการเพื่อดูแลการปล่อยคาร์บอน ทั้งนี้ การประกาศเป้าหมายได้ทำให้กลุ่มอุตสาหกรรมได้เริ่มมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการลดคาร์บอน และอาจเร็วกว่าโรดแมพของประเทศไทย เชื่อว่าประเทศไทยจะมีอนาคตที่ดี ดังนั้น มาตรการภาษีคาร์บอนจะเป็นตัวเร่งให้เร็ว และเป็นรูปธรรมชัดเจนขึ้น

ทั้งนี้ ภาคพลังงานจะมีสาขาย่อยต่างๆ เช่น โรงไฟฟ้า วันนี้เป็นอุตสาหกรรมที่ปล่อยคาร์บอนเยอะ ถ้าวันหนึ่งมีการเก็บภาษีคาร์บอน เชื่อว่าโรงไฟฟ้าเขาจะก้าวสู่พลังงานสะอาดมากขึ้น อาทิ พลังงานที่มาจากแสงอาทิตย์ ลม และน้ำมากกว่าพลังงานจากถ่านหิน จะช่วยเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ผลิต ดังนั้น ผู้บริโภคก็จะมีส่วนสำคัญตรงที่ว่าจะเลือกบริโภคอะไร ส่วนสาขาที่ปล่อยคาร์บอนสูงคือ ภาคขนส่ง ซึ่ง 10 ปีที่ผ่านมา กรมฯ เคยมีโครงสร้างภาษีรถยนต์ที่อิงกับการปล่อยก๊าซคาร์บอน ที่กำหนดโครงสร้างภาษีรถยนต์ตามการปล่อยก๊าซคาร์บอน

“กรมฯ มีแนวทางจะปรับโครงสร้างภาษีรถยนต์ในรอบต่อไป ทำมาตรฐานการปล่อยก๊าซคาร์บอนที่เข้มขึ้น สมัยก่อนอาจมองว่าปล่อยก๊าซไม่เกิน 150 กรัมต่อกิโลเมตร แต่ตอนนี้ควรต่ำกว่า 100 กรัมต่อกิโลเมตร ซึ่งกรมฯ ได้เริ่มหารือกับกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์แล้ว ส่วนรถEV ปีหน้าจะมีแนวทางมาตรการประกาศชัดเจนต้นปีหน้า โดยเดือนธ.ค.2564 รัฐบาลจะประกาศนโยบาย ซึ่งรถไฟฟ้าจะช่วยลดการปล่อยก๊าซ แต่รถไฟฟ้าต้นทางต้องสะอาดที่ไม่ใช่รถEV ที่ผลิตจากพลังงานฟอสซิล

ทั้งนี้ สิ่งที่กล่าวมาถือว่าเป็นเรื่องที่กรมฯ ต้องเตรียมเครื่องมือให้กับรัฐบาล ถึงวันหนึ่งที่รัฐบาลจะใช้เครื่องมืออะไรให้เหมาะสม กระทรวงการคลัง สรรพสามิต จะต้องเตรียมโดยเฉพาะภาษีคาร์บอน ซึ่งจะใช้เมื่อไหร่อยู่ที่นโยบาย เพื่อตอบโจทย์ อย่างไรก็ตาม ในมิติภาคอุตสาหกรรมการเก็บภาษีคาร์บอน อาจเพิ่มต้นทุนผู้ประกอบการ แต่เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน

“สุดท้ายรัฐบาลเก็บภาษีคาร์บอนจริง รายได้เพิ่มขึ้น จำนวนเงินจะถูกส่งไปอุตสาหกรรมช่วยสู่กระบวนการผลิตที่สะอาด สิ่งแวดล้อมดีขึ้น ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่ทุกคนต้องลุกมาดูเรื่องนี้อย่างจริงจัง ไม่ใช่ปัญหาของบริษัทเล็ก หรือบริษัทใหญ่ อยู่ที่ว่าเราทำหรือดูแลในเรื่องของการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนอย่างจริงจัง และทำเต็มศักยภาพได้แล้วหรือยัง ต้องทำอย่างจริงจังทุกคนมีหน้าที่ส่งต่อโลกที่สะอาดกว่านี้ให้กับคนรุ่นต่อไป” 

สำหรับการลดภาษีน้ำมันนั้น มองว่าปัจจุบันคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) บริหารจัดการอยู่แล้ว เป็นไปตามแนวทางของรัฐบาล ซึ่งการบริหารจัดการกลไกของกองทุนน้ำมัน ยังทำงานได้ดี และมีศักยภาพโดยราคาปัจจุบันยังรับได้ แต่ถ้าราคาเกินกว่านี้ จะต้องดูอีกครั้ง ดังนั้น ปัจจุบันประเทศไทยมีกองทุนน้ำมันเพื่อแก้ปัญหาราคาน้ำมันเป็นไปตามวัตถุประสงค์ 

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์