‘สมชัย’ TDRI ยก ‘ดร.โกร่ง’ เป็น inspiration แรงบันดาลใจในทุกด้าน

‘สมชัย’ TDRI ยก ‘ดร.โกร่ง’ เป็น inspiration แรงบันดาลใจในทุกด้าน

สมชัย จิตสุชน TDRI ยก “ดร.โกร่ง” วีรพงษ์ เป็น โหรเศรษฐกิจมือหนึ่งของไทย ชี้ อาจารย์เป็นคนที่มองโลกอย่างเป็นระบบมาก มองภาพใหญ่ได้ดีจนน่าทึ่ง พร้อมเชิดชูให้เป็น inspiration แรงบันดาลใจ แรงกระตุ้นในด้านต่างๆให้กับทุกคน

    จากแบบไม่มีวันกลับ สำหรับ ดร.โกร่ง “ วีรพงษ์ รามางกูร” อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ถึงแก่อนิจกรรมลงในวัน 78 ปี เมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2564 ที่ผ่านมา
     “ดร.โกร่ง” ถือเป็น 1ใน  7 กุนซือคนสำคัญของหลายๆรัฐบาล ด้วยความรู้ความสามารถเต็มเปี่ยมด้านเศรษฐกิจ และมักจะถูกเชื้อเชิญ ให้เป็นกุนซือ หรือที่ปรึกษาสำคัญ เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่เผชิญกับภาวะยากลำบาก

   แม้ตัวจากไป แต่ “ความดี” ความเก่ง จะไม่หายไปไหน เหมือนชื่อที่เชื่อว่า ต้องถูกจารึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ที่จะถูกพูดถึงชั่วลูกชั่วหลานอีกยาวไกล

      เช่นเดียวกัน นักเศรษฐศาสตร์สำคัญๆ ชั้นแนวหน้า ที่ออกมาไว้อาลัยถึง “ดร.โกร่ง”กันมากมาย 
ไม่เว้นแม้แต่ นักเศรษฐศาสตร์ฝีมือดี อย่าง “สมชัย จิตสุชน” ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ผู้ที่คลุกคลี่ ทำงานร่วมกันแบบใกล้ชิดกับ “ดรโกร่ง”มาในอดีต 

      สมชัย” กล่าวว่า อ. โกร่ง (วีรพงษ์ รามางกูร) ในความทรงจำของผม “ผมเริ่มทำงานหลังเรียนจนปริญญาโท คณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ครั้งแรกเมื่อปี 2529 กับฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจมหภาค (macroeconomic policy program) สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)

     โดยมีผู้อำนวยการฝ่ายในขณะนั้นคือ ดร. วีรพงษ์ รามางกูร ดังนั้น อ. โกร่งจึงเป็นเจ้านายโดยตรงของผม” 
     แม้ในการทำงานจริง ผมจะทำงานภายใต้การกำกับของ ดร. ฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ มากกว่า แต่ก็มีโอกาสได้ทำงานให้ อ. โกร่งหลายเรื่อง หนึ่งในนั้นคือช่วยทำแบบจำลองพยากรณ์เศรษฐกิจมหภาค
       ซึ่งสำหรับตอนนั้นถือเป็นเรื่องใหม่ของสังคมไทยมาก และ ‘ดร. โกร่ง’ (ผู้เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ด้วย) ก็ถือว่าเป็นผู้บุกเบิกในเรื่องนี้จนได้รับฉายาโหรเศรษฐกิจมือหนึ่งของไทยก็ว่าได้ ตอนนั้นเศรษฐกิจไทยกำลังเข้าสู่ช่วงรุ่งโรจน์จนนำไปสู่ ‘ทศวรรษทอง’ ของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ 
     โดยหนึ่งปีก่อนเข้าสู่ทศวรรษทองนี้ผมได้ช่วยทำการพยากรณ์เศรษฐกิจว่าจะขยายตัวร้อยละ 9 ต่อปีในปีถัดไป (ในความจริงเศรษฐกิจขยายตัวมากกว่านั้น)

     จำได้ว่าพอผมส่งผลการประมาณการให้ อ. โกร่ง อาจารย์ก็รีบเดินออกจากห้องทำงานมาหาผมที่โต๊ะแล้วถามผมว่าแน่ใจหรือ เพราะไม่กี่ปีก่อนหน้าเศรษฐกิจไทยขยายตัวน้อยมาก บอบช้ำจากวิกฤติราคาน้ำมันและการตกต่ำของเศรษฐกิจโลก
       รวมทั้งวิกฤติภัยแล้ง พอผมยืนยันว่าผลแบบจำลองออกมาแบบนั้นจริง อ. โกร่งก็นำไปใช้และบอกต่อนักข่าว วันรุ่งขึ้นหนังสือพิมพ์ไทยรัฐก็พาดหัวหน้าหนึ่งตัวโต ๆ ว่า ‘๙ เปอร์เซ็นต์’ ซึ่งน่าจะเป็นครั้งแรกที่หนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่อันดับหนึ่งของไทยฉบับนี้พาดหัวแบบนี้ และน่าจะเป็นครั้งแรกที่หนังสือพิมพ์ไหน ๆ ก็ตามพาดหัวด้วยเรื่องการขยายตัวทางเศรษฐกิจด้วย 
      ถัดจากวันนั้นหุ้นไทยก็พุ่งทะยานต่อเนื่องมาอีกหลายปี (และผมเจ็บใจตัวเองที่ตอนนั้นเริ่มลองเล่นหุ้นแล้ว แต่ไม่ได้ซื้อหุ้นในจังหวะนั้นเลย โดยเฉพาะไม่ได้ซื้อในวันที่ผมบอกผลการประมาณการให้ อ. โกร่งก่อนหนังสือพิมพ์ลง)

      ถัดจากนั้นไม่นานน่าจะ 1-2 ปีได้ อ. โกร่งก็ชวนกึ่งบังคับให้ผมไปร่วมรับงานพิเศษกับท่านที่ประเทศลาว

      โดยพวกเราสองคนไปให้คำแนะนำเรื่องการพยากรณ์เศรษฐกิจ โดยต้องทำงานภายใต้ระบบการคำนวณบัญชีรายได้ประชาชาติแบบ ‘สังคมนิยม’ ที่ลาวทำในตอนนั้นคือคิด ‘ผลผลิต’ แต่ไม่คิด ‘มูลค่าเพิ่ม’ 
เช่นไปนับจำนวนตัววัวว่าปีนี้มีกี่ตัว แต่ไม่ได้คิดว่าปีที่แล้วมีกี่ตัว วัวโตขึ้นมากแค่ไหนในปีนี้ (และก็คงไม่ได้คิดว่าที่โตขึ้นต้องหักวัตถุดิบที่ต้องซื้อหามา เช่นอาหารสัตว์) ผมได้ประสบการณ์ทำงานระดับ international ครั้งแรกก็จากงานนี้ ผมใช้เวลาที่ลาวกับอาจารย์น่าจะเป็นอาทิตย์ อยู่กับอาจารย์เกือบจะเช้าถึงค่ำ 
    จึงได้มีโอกาสสัมผัสกับวิธีคิดและการมองโลกของ อ. โกร่งอย่างใกล้ชิด อาจารย์เป็นคนที่มองโลกอย่างเป็นระบบมาก มองภาพใหญ่ได้ดีจนน่าทึ่ง อาจารย์คุยกับผมทั้งเรื่องระบบเศรษฐกิจ ระบบการเมือง และอาจารย์ยังมีมุมมองเล็ก ๆ น่ารัก
      เช่นครั้งนึงอาจารย์ขับรถพาผมจากกลางเมืองเวียงจันทน์ไปบริเวณชานเมืองเพื่อไปตามหา ‘ญาติ’ ของท่าน (ผมคิดว่าอาจารย์มีเชื้อสายลาว และถ้าจำไม่ผิดน่าจะเป็นเชื้อสายระดับสูง) ระหว่างทางอาจารย์จะพูดถึงชีวิตคนลาวข้างทางให้ผมฟัง พร้อมวิจารณ์เล็ก ๆ ไปด้วย 

      เช่นตอนนึงมีผู้หญิงลาวสองคนขี่จักรยานหน้ารถของเรา โดยเขาขี่ขนานกันไป คุยกันไป ทำให้รถเราต้องชะลอรออยู่พักนึง อาจารย์ก็บอกประมาณว่าเป็นตัวบ่งชี้ระดับความเจริญได้แบบนึง 

     อาจารย์มีความกรุณากับผมตลอดมา ครั้งนึงในงานสัมมนาประจำปี TDRI ที่จอมเทียน (สมัยนั้นงาน TDRI Year-end conference เป็นงานสำคัญที่คนในแวดวงวิชาการและผู้บริหารหน่วยราชการเฝ้ารอ 

     ส่วนหนึ่งเพราะจัดค้างคืนที่จอมเทียน อนุญาตให้ผู้ร่วมสัมมนาพาครอบครัวมาได้ มีเลี้ยงอาหารค่ำชั้นดีริมทะเล ที่สำคัญเป็นโอกาสในการแลกเปลี่ยนความคิดระหว่างนักคิดชั้นนำในบรรยากาศสบาย ๆ)
     ผมต้องขึ้นพูดในงานด้วยเป็นครั้งแรกทั้งที่ยังเป็นนักวิจัยตัวเล็กๆ ที่เพิ่งทำงานได้ไม่นาน ผมจึงไม่รู้ว่าต้องแต่งตัวยังไง อาจารย์ก็เดินมาหาผมแล้วบอกว่าจะถอดสูทที่อาจารย์ใส่อยู่มาให้ผมใส่ตอนขึ้นเวที มาคิดย้อนหลังผมรู้สึกประทับใจท่านมากเพราะตอนนั้นอาจารย์ถือเป็น ‘ดาวเด่น’ ในวงการเศรษฐศาสตร์ มีนักข่าวในงานสัมมนาที่คอยมาพูดคุยหรือสัมภาษณ์อาจารย์เยอะแยะไปหมด แต่ท่านก็พร้อมถอดสูทให้ผมโดยไม่ลังเล 

     สิ่งหนี่งที่ผมเชื่อว่าผมเรียนรู้จากอาจารย์โกร่งโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม คือการอธิบายเรื่องยาก ๆ ให้เข้าใจง่าย แน่นอนว่าผมทำได้ไม่ถึงหนี่งในสิบของอาจารย์ แต่ก็เป็นแนวทางที่ผมพยายามใช้มาตลอด ผมเชื่อว่าอาจารย์โกร่งเป็น inspiration ในด้านต่างๆ ให้กับอีกหลายคน

      หลังอาจารย์ออกจาก TDRI ผมก็ได้เจอ อ. น้อยลง แต่ทุกครั้งที่เจอ อาจารย์ก็ยังคงเมตตาผมเหมือนเดิม คอยถามทุกข์สุขผมเกือบทุกครั้ง ผมยังคงรู้สึกเสียดายว่าควรจะมีโอกาสได้พบเจอท่านมากกว่าที่ผ่านมา

     ขอให้คุณความดีของ อ. โกร่ง นำท่านไปสู่ภพภูมิที่ดีต่อไปครับ..