เปิดข้อเสนอ TDRI สู่ “สวัสดิการใหม่” ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

เปิดข้อเสนอ TDRI สู่ “สวัสดิการใหม่” ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ทีดีอาร์ไอแนะ เร่งสร้างระบบสวัสดิการที่ไม่ตกหล่น หรือทิ้งใครไว้ข้างหลัง เป็นมากกว่าวาทกรรมที่่สวยหรูแต่ไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างจริงจัง

ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย ทีดีอาร์ไอ นำเสนอในงานสัมมนาสาธารณะทีดีอาร์ไอ ประจำปี 2564 วันที่ 9 พ.ย. 2564 ในหัวข้อ “สู่ระบบสวัสดิการใหม่…ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” กล่าวว่า ระบบสวัสดิการไม่ใช่การบริจาคหรือการสงเคราะห์ แต่เป็นการพัฒนาประเทศโดยใช้ “คน” เป็นศูนย์กลาง เพื่อตอบโจทย์การแก้ปัญหา 3 อย่าง ซึ่งไทยอยู่ในวังวนปัญหาเหล่านี้มาอย่างยาวนาน ได้แก่ ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ โดยความมั่งคั่งระหว่างคนไทยด้วยกันที่กระจุกตัวสูง การก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยในอีก 20-30 ปีข้างหน้า ทำให้กลุ่มวัยแรงงานในอนาคตต้องเตรียมรับภาระหนัก และการติดกับดักรายได้ปานกลางเมื่อคนไทยจำนวนมากมีทักษะแรงงานอยู่ในขั้นต่ำ

นอกจากนี้ การพัฒนาที่ผ่านมาไม่ได้เน้นเรื่องคนอย่างที่ควรจะเป็น ทำให้มีคนที่ตกหล่น และถูกทิ้งไว้ข้างหลังตลอดเวลา โดยในช่วงวิกฤติโควิด-19 ก็ยิ่งตอกย้ำให้เกิดแผลเป็นกับคนไทยจำนวนมาก ก่อให้เกิดคนจนหน้าใหม่ จนเรื้อรัง และการตกหล่นด้านการศึกษาของเด็กและเยาวชน

โดยได้เสนอประเด็นการสร้างระบบสวัสดิการโดยมี “คน” เป็นศูนย์กลาง ทั้งหมด 4 องค์ประกอบ ดังนี้ เพื่อเพิ่มศักยภาพคน (Social Service) ดูแลคนเมื่อประสบความเสี่ยงในชีวิตรูปแบบต่างๆ (Social Insurance) ช่วยเหลือคนกลุ่มด้อยโอกาส (Social Assistance) ส่งเสริมให้คนมีงานที่ดีทำ (Active Labor Market Policy)

ซึ่งประเด็นสำคัญเร่งด่วนคือ การทำให้ระบบสวัสดิการมีความครอบคลุมทั่วถึง ไม่ตกหล่น หรือทิ้งใครไว้ข้างหลัง เป็นมากกว่าวาทกรรมที่่สวยหรูแต่ไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างจริงจัง  เปิดข้อเสนอ TDRI สู่ “สวัสดิการใหม่” ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ทั้งนี้ ได้เสนอแนะตัวอย่างรูปธรรมของระบบขนมชั้นสวัสดิการ (Multi-tier Social Protection) โดยแบ่งออกเป็น 3 ชั้น ดังนี้ ใน Tier 1 ต้องการให้รัฐจัดหาสวัสดิการพื้นฐานแบบถ้วนหน้าฟรี เพื่อป้องกันการตกหล่น โดยไม่แบ่งแยกระหว่างแรงงานในระบบและนอกระบบ แต่ต้องไม่ให้มากไปจนลดแรงจูงใจในการทำงาน อาทิ โครงการดูแลเด็กเล็ก (Cash for Care) โดยรัฐบาลจ่ายเงินเลี้ยงดูให้กับเด็กเล็กอายุ 3 เดือน ถึง 2 ปี ทุกคน จำนวน 1.14 ล้านคน (ข้อมูลเดือน มิ.ย. 64) รวมมูลค่าโครงการ 52,781 ล้านบาท แบ่งเป็นกรณีที่พ่อหรือแม่เด็กลาออกจากงานเพื่อดูแลเด็ก ให้รัฐจ่ายเงินสดเข้าแอพพลิเคชั่นเป๋าตังค์ และในกรณีที่พ่อและแม่กลับไปทำงาน ให้รัฐจ่ายเป็นคูปองเพื่อรับบริการในสถานดูแลเด็กเล็กที่ขึ้นทะเบียน

โครงการทักษะแรงงานกึ่งถ้วนหน้า โดยมีการให้คูปองมูลค่า 6,000 บาท ทุก 3 ปี เพื่อให้แรงงานเลือกเรียนหลักสูตรที่ต้องการใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยด้านผู้ให้บริการเองต้องแข่งกันเสนอหลักสูตรที่ตรงกับความต้องการของตลาด โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นคนวัยทำงานที่จบการศึกษาสูงสุดไม่เกินมัธยมต้น และไม่ได้เรียนอยู่ ประเมินว่าจะใช้งบประมาณ 68,000 ล้านบาทต่อปี

โครงการประกันรายได้กึ่งถ้วนหน้า (Quasi-UBI) มีเป้าหมายเพื่อช่วยประกันการตกหล่นได้เกือบทั้งหมด ช่วยกระจายรายได้ระหว่างคนจนและคนรวย โดยให้สิทธิทุกคนได้รับเงิน 600 บาททุกเดือน แล้วคัดคนรวยออกด้วยฐานข้อมูลคนรวยประมาณ 40% คือ กลุ่มที่จ่ายภาษีมาก เป็นเจ้าของที่ดิน มีเงินฝากมาก จะใช้งบประมาณ 290,000 ล้านบาท

ใน Tier 2 เป็นสวัสดิการเพิ่มจากนายจ้างหรือองค์กรที่ทำงานด้วย เช่น ประกันสังคม ม.33 กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และสวัสดิการจากแพลตฟอร์ม

ส่วนใน Tier 3 เป็นสวัสดิการส่วนเพิ่มเติมโดยจ่ายเองเป็นหลัก จากเดิมที่มีการทำประกันบำนาญ หรือ RMF โดยให้รัฐมีบทบาทในการออกแบบประกันสังคม สำหรับกลุ่มแรงงานนอกระบบรายได้สูง (Gig Workers) สามารถในการเลือกซื้อประกันสังคมรูปแบบใหม่ที่ให้สิทธิประโยชน์หลากหลายกว่าในปัจจุบัน เช่น สิทธิการดูแลระยะยาวมากกว่า สปสช. สิทธิการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลใดก็ได้ในวงเงินจำกัด ได้รับเงินชดเชยกรณีเจ็บป่วยเพิ่มขึ้น และได้บำเหน็จ/บำนาญสูงกว่า และยืดหยุ่นกว่าเดิม

อย่างไรก็ตาม ได้เสนอแนวทางการรักษาความยั่งยืนทางการคลังในระยะยาว โดยการจัดการด้านระบบภาษี เพิ่มฐานการเก็บภาษี และเพิ่มความก้าวหน้าของระบบภาษี ส่วนด้านการใช้จ่ายของภาครัฐเสนอให้ลดการใช้จ่ายด้านเศรษฐกิจ สนับสนุนให้ใช้แนวทางร่วมทุนภาครัฐ และเอกชนในการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน แล้วเพิ่มงบประมาณด้านสังคมโดยเฉพาะส่วนที่เพิ่มคุณภาพคน

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์