ความต่าง“ต้นทุนสีเขียว” บนเส้นทางจีดีพีในEEC

ความต่าง“ต้นทุนสีเขียว” บนเส้นทางจีดีพีในEEC

ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศสีเขียว หรือ Green GDP ก็คือวัดมูลค่าเศรษฐกิจภายในประเทศที่ได้หักต้นทุนทางด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมที่สูญเสียหรือเสื่อมโทรมลง ออกจาก GDP ปกติ

แม้ว่าแนวคิดการวัดต้นทุนสิ่งแวดล้อมอาจถกเถียงกันบ้างทางวิชาการ แต่หลายประเทศก็มีการใช้ Green GDP ในการวางนโยบายการพัฒนาต่าง ๆ อาทิ การใช้พลังงานหมุนเวียน การสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน ฯลฯ โดยการวัดต้นทุนของทรัพยากรที่สูญเสียและต้นทุนของสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรมนั้น ทำตามระบบบัญชีของต้นทุนสิ่งแวดล้อม the system of environmental economics accounting (SEEA) ที่สหประชาชาติกำหนดไว้ และประเทศที่มี Green GDP สูง ๆ ก็เดากันไม่ยาก ก็คือกลุ่มประเทศที่ให้ความสนใจและมีนโยบายเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมสูง ๆ อาทิ ฟินแลนด์ เดนมาร์ก นอร์เวย์ เนเธอร์แลนด์ ฯลฯ

สหประชาชาติ ดูจากต้นทุนสองส่วนคือ ต้นทุนการสิ้นเปลืองทรัพยากร (Depletion cost) และต้นทุนของความเสื่อมโทรม (Degradation cost) ของสิ่งแวดล้อม ซึ่งต้องคำณวนต้นทุนนี้ตั้งแต่การได้มา จนถึงการใช้ และการจัดการหลังการใช้แล้ว เรียกว่าดูรายละเอียดทุกเม็ด เรียกว่าดูต้นทุนที่เกิดขึ้นตั้งแต่จุดกำเนิดจนถึงสิ้นสุด ว่าผลิตภัณฑ์นั้นๆ ได้ก่อให้เกิดต้นทุนต่อสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติอย่างไร การประเมินเราเรียกว่า Life Cycle Impact Assessment (LCIA)

สำหรับในบ้านเราแล้ว ในปัจจุบันก็มีหลายหน่วยงานที่พยายามคำนวณผลิตภัณฑ์มวลรวมสีเขียวในแต่ละสาขาที่ตนเองรับผิดชอบ แต่ยังไม่มีใครที่จะทำออกมาในภาพใหญ่ของทั้งประเทศในทุกสาขา เพราะต้องใช้ฐานข้อมูลจำนวนมากและต้องเก็บมานานพอควรแล้วที่จะสร้างดัชนีต้นทุนทางด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะรอให้สมบูรณ์แบบก่อนและทุกคนพอใจ คงยากครับสำหรับบ้านเรา

กระทรวงอุตสาหกรรมก็เป็นหน่วยงานที่พยายามสร้างกระบวนการคำนวณผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศสีเขียวขึ้นมา แต่เนื่องจากข้อจำกัดของข้อมูลในการทำ LCIA จึงวัดออกมาได้ในบางสาขาอุตสาหกรรมที่สำคัญและในระดับพื้นที่ที่สำคัญทางนโยบาย เช่น EEC ที่คำถามของผู้คนในท้องถิ่นยังไม่ได้คำตอบว่าสิ่งที่ได้ คุ้มกับที่เสียหรือไม่ บางทีการทำ Green GPP หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัดที่หักต้นทุนสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติออกไปนั้นมีมากน้อยกว่าที่เราวัด GPP (Gross Provincial Product) ตามปกติอย่างไร อย่างน้อยพวกเขาก็อาจเบาใจได้บ้างในระดับหนึ่ง แม้ว่าการวัดต้นทุนสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติที่เสื่อมโทรมจากการพัฒนาอาจยังต้องถกเถียงกันบ้างแต่วิธีที่ทำเป็นสากลที่ทั้งโลกใช้ก็น่าพอคุยกันได้ในระดับหนึ่ง

ในการประชุม อนุกรรมาธิการการอุตสาหกรรม วุฒิสภา ผมได้หารือกับ ดร. เดชา จาตุธนานันท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม เล่าถึงแนวทางการจัดทำ Green GDP ในพื้นที่ EEC ซึ่งกระทรวงได้ดำเนินการมาตั้งแต่ ปี 2558 พบข้อมูลที่น่าสนใจว่า ในพื้นที่ EEC ปรากฏว่ามูลค่าของ GPP สีเขียวกับ GPP ปกติ ก็ห่างกันไม่มากว่ากันมากนัก แม้ว่าการวัด Green GPP ของ 3 จังหวัดใน EEC ยังอาจอยู่ในขั้นวิจัย แต่ก็เป็นไปตามหลักการสากล

ผลการศึกษาพบว่าในปี 2560 ซึ่งเป็นปีที่อ้างอิงในการศึกษา green GPP ของจังหวัดชลบุรีเท่ากับ 226,509 ล้านบาท น้อยกว่า GPP ปกติ ราว 1% ส่วน green GPP จังหวัดชลบุรีเท่ากับ 488,630 ล้านบาท ต่ำกว่า GPP ปกติราว 3.34% และ green GPP ของระยอง อยู่ที่ 667,593 ล้านบาท หรือน้อยกว่า GPP ปกติ 7.45% ซึ่งจะเห็นได้ว่าต้นทุนของการสูญเสียทรัพยากรและคุณภาพของสิ่งแวดล้อมนั้นใน EEC อยู่ราว 1 – 7% ของ GPP 

หากมีการใช้ทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพหรือการนำกลับมาใช้ตามแบบ 3R แล้ว ต้นทุนด้านการสูญเสียทรัพยากรก็จะลดลงได้ ซึ่งก็เป็นหน้าที่ที่ผู้เกี่ยวข้องสามารถช่วยกันลดต้นทุนทั้งสองด้านนี้ได้

ผมเข้าใจดีว่าเรื่องนี้ใหม่สำหรับคนส่วนมาก แต่อย่างน้อยก็ช่วยยืนยันถึงการดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมของผู้ประกอบการในพื้นที่ การเฝ้าระวังของชุมชน และข้อกำหนดภาครัฐที่เข้มงวด ในพื้นที่นั้น ๆ ว่าค่อนข้างที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งความสามารถของธรรมชาติที่สามารถกำจัดหรือรักษาตนเองที่เกิดจากสิ่งที่มนุษย์ปลดปล่อยออกมาได้ดีเพียงใด ทำให้เราสามารถกำหนดการเลือกประโยชน์พื้นที่ต่าง ๆ ให้พอเหมาะพอดีกับกิจกรรมเศรษฐกิจต่าง ๆ

ผมหวังว่า ที่เหลือเป็นเรื่องของการทำความเข้าใจและความร่วมมือกับผู้ประกอบการ ชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ว่าจะทำงานร่วมกันเพื่อลดต้นทุนเหล่านี้ร่วมกันอย่างไร