‘ทีดีอาร์ไอ’ ชงโมเดลดันเศรษฐกิจ ปฏิรูปภาครัฐฟื้นฟูประเทศ

‘ทีดีอาร์ไอ’ ชงโมเดลดันเศรษฐกิจ ปฏิรูปภาครัฐฟื้นฟูประเทศ

“ทีดีอาร์ไอ” เสนอ 4 โมเดลพัฒนาประเทศหลังโควิด ปฏิรูปภาครัฐ-เพิ่มคุณภาพประชากร-ลดความสูญเสีย ดันจีดีพี 2% หนุนไทยเป็นประเทศรายได้สูงใน 20 ปี หวั่นไม่ปฏิรูป จีดีพีเหลือโตแค่ 2% แนะเดินหน้าประเทศสู่เมกะเทรนด์ ตั้งโจทย์อยู่ร่วมกับโควิด เร่งแก้สิ่งแวดล้อม

การเปิดประเทศในวันที่ 1 พ.ย.2564 จะเป็นหมุดหมายสำคัญของการฟื้นฟูประเทศจากผลกระทบของโรคโควิด-19 หลังจากส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสังคม และเศรษฐกิจที่ตกต่ำ ซึ่งนำมาสู่ข้อเสนอโมเดลการพัฒนาประเทศหลังโควิด-19

นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวในงานสัมมนาประจำปี 2021 ของทีดีอาร์ไอในหัวข้อ “โมเดลใหม่ในการพัฒนาประเทศหลังโควิด-19 ฟื้นฟู-ต่อเติมเพื่อเติบโต” ว่า การระบาดของโรคโควิด-19 เป็นวิกฤติที่กระทบกับประเทศไทย ในหลายด้านภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศตกต่ำที่สุดในรอบ 22 ปี 

ทั้งนี้ ธุรกิจจำนวนมากได้รับผลกระทบอย่างหนักในระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจที่กลายเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เพิ่มขึ้นกว่า 20,000 ราย จำนวนผู้ว่างงาน และเสมือนว่างงานที่ทำงานไม่ถึง 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เพิ่มจำนวนขึ้นกว่า 2 ล้านคน ขณะที่หนี้ครัวเรือนมากกว่า 90% และหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นเกิน 60% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) 

ขณะที่ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมสูงขึ้นนักเรียนกว่า 1.3 แสนคนยากจน และประมาณ 43,000 คน หลุดออกจากระบบการศึกษา และเด็กอีก 2.7 แสนคน ไม่มีคอมพิวเตอร์สำหรับเรียนออนไลน์ โดยเมื่อรวมกับปัญหาที่สะสมของประเทศทั้งจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว การเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อที่เกิดจากสภาพแวดล้อมที่มีปัญหา 

รวมทั้งการเสียชีวิตจากอุุบัติเหตุ ซึ่งทั้งหมดล้วนแต่เป็นอุปสรรคฉุดรั้งการเติบโตของประเทศไทย และหากไม่มีการปรับเปลี่ยนประเทศ โดยใช้โมเดลในการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยโมเดลใหม่มีแนวโน้มว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตต่ำกว่าศักยภาพคือ เติบโตได้แค่เฉลี่ย 2% เท่านั้น 

นอกจากนี้ ในการเพิ่มจีดีพี 2% ด้วยการปรับโมเดลการพัฒนาแบ่งเป็น 4 ส่วนได้แก่ 

ปฏิรูปภาครัฐดันเศรษฐกิจ

1.เพิ่มจีดีพี 0.25% มาจากการปฏิรูปภาครัฐและแก้กฎระเบียบที่ล้าสมัย และเป็นอุปสรรคในการทำมาหากินของประชาชน ลดกฎหมายที่ไม่จำเป็น ซึ่งการปฏิรูปภาครัฐ จะครอบคลุมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล และการแก้ไขกฎหมาย โดยตัวอย่างกฎหมายที่มีปัญหา เช่น การขึ้นทะเบียนหมอนวดเพื่อสุขภาพ ควรเลิกขึ้นทะเบียนให้สถานศึกษาส่งชื่อและหลักฐานการเรียนจบแทน

รวมถึงการขออนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรม ควรผ่อนผันอาคารโรงแรมเล็ก ได้รับอนุญาตระยะยาว และแก้กฎหมาย รองรับที่พักประเภทต่างๆ รวมถึงการขออนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรม ควรผ่อนผันอาคารโรงแรมเล็ก ได้รับอนุญาตระยะยาว และแก้กฎหมาย รองรับที่พักประเภทต่างๆ 

นอกจากนี้ การแก้ไขกฎหมายในช่วงที่ผ่านมามีการทำกิโยตินกฎหมาย โดยกฎหมายธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในปี 2560 ทํากิโยตินเฉพาะส่วนแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ เพื่อลดต้นทุนรัฐและเอกชนได้ 1,800 ล้านบาท แต่ถ้าหากมีการทํากิโยติน 1,094 กระบวนงาน ของการอนุญาต 198 เรื่อง ซึ่งเสนอแก้ 43% และเลิก 39% ลดต้นทุน 1.3 แสนล้านบาทต่อปีหรือ 0.8% ของจีดีพี โดยประชาชนและรัฐจะเป็นผู้ได้ประโยชน์

‘ทีดีอาร์ไอ’ ชงโมเดลดันเศรษฐกิจ ปฏิรูปภาครัฐฟื้นฟูประเทศ

เพิ่มคุณภาพเด็ก-แรงงาน

2.เพิ่มจีดีพี 0.25% มาจากการเพิ่มคุณภาพประชากร ได้แก่ เริ่มจากการพัฒนาเด็กปฐมวัยให้ได้รับการเลี้ยงดูและมีทักษะที่ดีอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการลดอัตราเด็กตกหล่นจากระบบการศึกษา ซึ่งปัจจุบันพบว่ามีเด็กมากถึง 1.1 ล้านคน ที่ไม่มีชื่ออยู่ในระบบการศึกษาของประเทศ พร้อมกันนี้ยังต้องเร่งยกระดับคุณภาพการศึกษา และฝึกทักษะแรงงานที่ดีอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับการเข้าสู่ตลาดแรงงานในอนาคต

3.เพิ่มจีดีพี 0.6% มาจากการลดความสูญเสียของประชากร เช่น ลดความสูญเสียที่ไม่จำเป็นจากอุบัติเหตุลงให้ได้อย่างน้อย 50% ใน 5 ปี ซึ่งประเทศไทยติดอันดับประเทศ ที่มีคนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนสูงอันดับต้นของโลก 

รวมทั้งลดความสูญเสียจากโรคไม่ติดต่อให้ได้ 25% ใน 10 ปี เพราะแต่ละปีมีคนไทยเสียชีวิตหลายแสนคน โดยเฉพาะคนจนเป็นคนที่เจ็บป่วยและทุกข์ทรมานมากที่สุด เช่น โรคที่เกิดจากฝุ่น PM 2.5 ทำให้คนไทยเสียชีวิตปีละ 30,000 คน และลดการเกณฑ์ทหารลง 50% เพราะปัจจุบันคนไทยยังมีความสูญเสียจากการถูกเกณฑ์ทหาร ปีละประมาณ 8 หมื่นคน ถือเป็นการทำงานที่ไม่สร้างผลิตภาพ และประเทศไทยก็เป็นประเทศส่วนน้อยในโลกที่มีการเกณฑ์ทหาร

4.เพิ่มจีดีพี 0.9% จากการเพิ่มผลิตภาพ เช่น การลงทุนฟื้นฟูแหล่งการท่องเที่ยว การสร้างเศรษฐกิจสีเขียว การทำโครงสร้างพื้นฐานในท้องถิ่น โดยเฉพาะเพิ่มแหล่งน้ำมากขึ้น ส่งเสริมการทำเกษตรอัจฉริยะ เพิ่มภาคบริการที่มีประสิทธิภาพ

ถึงเวลาเปลี่ยนโมเดลประเทศ

“ขณะนี้เป็นช่วงเวลาเหมาะสมที่สุดที่ประเทศไทย ควรปรับเปลี่ยนโมเดลในการพัฒนาประเทศและฟื้นฟูเศรษฐกิจใหม่รับโลกในยุคหลังโควิด และสังคมสูงวัย” นายสมเกียรติ กล่าว

ทั้งนี้ ประเทศไทยมีสิ่งที่ต้องดำเนินการคือ การฟื้นฟูคน สิ่งแวดล้อม และแก้ปัญหาพื้นฐานเดิม ตามมาด้วยการต่อเติมทั้งการยกผลิตภาพการผลิต และการปฏิรูปภาครัฐ เน้นการมีส่วนร่วมในการพัฒนา และกระจายประโยชน์จากการพัฒนาให้ไปถึงคนยากจน เชื่อว่าหากทำสำเร็จจะช่วยเพิ่มเศรษฐกิจไทยได้อย่างน้อย 2% จากระดับเดิมที่ขยายตัวได้ 2 - 3% และสามารถก้าวขึ้นเป็นประเทศรายได้สูงในอีก 20 ปี"

 

เอกชนแนะเร่งเพิ่มผลิตภาพ

นายสันติธาร เสถียรไทย ประธานทีมเศรษฐกิจและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท Sea Group กล่าวว่า เศรษฐกิจยุคใหม่นอกจากภาคการผลิตต้องให้ความสำคัญกับส่วนที่จะสนับสนุนภาคการผลิต เช่น การเงิน ดิจิทัล การศึกษา โลจิสติกส์ ซึ่งในภาคส่วนเหล่านี้จะช่วยเพิ่มผลิตภาพในภาคการผลิต 

สำหรับการให้ความช่วยเหลือต้องมีการตีโจทย์ให้ได้ครบถ้วน เช่น การเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล ที่มีการพัฒนารวดเร็วจากความต้องการที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภค ซึ่งจำเป็นที่จะต้องพัฒนาในส่วนนี้ให้เป็นภาคสนับสนุนภาคการผลิตรวมทั้งนโยบายรัฐ การลดกฎหมาย กฎระเบียบที่ไม่มีความจำเป็น รวมทั้งการรวบรวมข้อมูลเพื่อจัดทำเป็นฐานข้อมูลเพื่อประกอบการจัดทำนโยบายที่ถูกต้อง 

นอกจากนี้รัฐบาลต้องตีโจทย์เรื่องของโควิดในปีหน้าให้ถูก และวางนโยบายให้ถูกต้องว่าจะสามารถเตรียมพร้อมที่จะอยู่ร่วมกับโควิด-19 อย่างไรให้เกิดสมดุลระหว่างสาธารณสุขกับเศรษฐกิจ 

"เราต้องมองอนาคตให้ออก เราชอบไปรบกับสงครามของเมื่อวาน และพลาดศึกในวันพรุ่งนี้ ซึ่งศึกในวันพรุ่งนี้เป็นศึกในวันนี้เร็วมาก

โจทย์ 2022 จะเป็นเรื่องอะไรคือ เราจะอยู่กับโควิด-19 ยังไง เราจะหาจุดพอดีอย่างไร เพราะการเปิดประเทศจำเป็น แต่ระบบสาธารณสุขก็ต้องรองรับได้ ต้องดูจุดแพร่ระบาดให้ได้ ต้องมีการตรวจสอบ ยารักษา และการเจรจาว่าลิสต์แต่ละประเทศว่าเราต้องเป็นประเทศปลอดภัยเพื่อให้ต่างชาติมาเที่ยวเรามากขึ้น"

ดันไทยผู้นำธุรกิจสีเขียว

นายธนา เธียรอัจฉริยะ ประธานกรรมการ บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด  กล่าวว่า ประเทศไทยสามารถที่จะเป็นผู้นำเมกะเทรนด์ของโลกในเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน และเศรษฐกิจสีเขียวได้ ซึ่งการทำให้ยั่งยืน เช่น การสนับสนุนให้เกิดกลไกการขับเคลื่อนทางการตลาดให้เกิดขึ้นได้จริง

ขณะที่ปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไขคือ เรื่องความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำในด้านการศึกษา ซึ่งไม่สามารถใช้กลไกในปัจจุบันของกระทรวงศึกษา ในการลดความเหลื่อมล้ำของสถานศึกษาได้ แต่ต้องทำในเรื่องการปรับเปลี่ยนทักษะให้กับคนส่วนใหญ่เพื่อให้เข้าถึงเทคโนโลยีที่มีการตอบรับกับการพัฒนาในอนาคตให้คนรุ่นใหม่เข้าไปสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีนวัตกรรม ให้มีความหลากหลาย และมีความเข้มแข็ง โดยไม่พึ่งพากับภาครัฐ เช่น ภาคการเกษตรที่ใช้นวัตกรรม และองค์ความรู้มากขึ้นโดยไม่คาดหวังว่าจะพึ่งพานโยบายรัฐมากนัก

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์