โรงแรม 10% ตัดใจขายกิจการ! มาตรการรัฐหนุนเที่ยวไม่ปัง ทัวริสต์กังวลโควิด!

โรงแรม 10% ตัดใจขายกิจการ! มาตรการรัฐหนุนเที่ยวไม่ปัง ทัวริสต์กังวลโควิด!

สมาคมโรงแรมไทย ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)สำรวจความเชื่อมั่นผู้ประกอบการที่พักแรม ประจำเดือนต.ค.2564 วันที่ 11-28 ต.ค.ที่ผ่านมา กลุ่มตัวอย่าง 189 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งการเผชิญวิกฤติโควิด-19 มายาวนานร่วม 2 ปี สั่นสะเทือนสภาพคล่องและเงินสดในมืออย่างรุนแรง!

มาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย กล่าวว่า 10% ของกลุ่มตัวอย่างได้ตัดสินใจขายกิจการแล้ว!! โดยโรงแรมที่ประกาศขายแล้วหรืออยู่ระหว่างเจรจากับผู้ซื้อส่วนใหญ่เป็นโรงแรมในจังหวัดท่องเที่ยวหลักของแต่ละภาค และเป็นโรงแรมขนาดกลางที่มีจำนวนห้องพักอยู่ที่ 51-249 ห้อง ส่วน 43% ของกลุ่มตัวอย่างยังไม่ตัดสินใจว่าจะขายกิจการหรือไม่ และอีก 48% ของกลุ่มตัวอย่างยังไม่พิจารณาขายกิจการ

สำหรับ “สถานะกิจการ” พบว่าผู้ประกอบการโรงแรมที่พักแรมได้รับผลบวกจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 รวมถึงมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวของภาครัฐ สะท้อนถึงการกลับมาเปิดกิจการตามปกติที่เพิ่มขึ้น!

“โรงแรมทั่วประเทศกลับมาเปิดกิจการตามปกติ 67% เพิ่มขึ้นจากเดือนก.ย.ที่ 51% จากภาพรวม โรงแรมในทุกภูมิภาคกลับมาเปิดกิจการปกติเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่รับลูกค้าท่องเที่ยวทั่วไป แต่ยังคงมีโรงแรมที่ยังไม่กลับมาเปิดกิจการปกติ โดยสาเหตุเนื่องจากส่วนใหญ่มองว่าต้นทุนในการเปิดดำเนินการ เช่น ค่าสาธารณูปโภค และค่าจ้างพนักงาน อยู่ในระดับสูง และดีมานด์นักท่องเที่ยวยังอยู่ในระดับต่ำเป็นสำคัญ ทั้งนี้โรงแรมที่ปิดกิจการชั่วคราวมีอยู่ประมาณ 8% ส่วนใหญ่คาดว่าจะกลับมาเปิดกิจการอีกครั้งในไตรมาส 4 ปี 2564”

อ่านข่าว : ศบค. เร่งปรับระบบรับ "นักท่องเที่ยว" เข้าไทย แก้ปัญหาขัดข้อง ล่าช้า

ด้าน “สภาพคล่องของโรงแรม” เดือนต.ค.ส่วนใหญ่มีสภาพคล่อง “ทรงตัว” จากเดือนก.ย. โดย 50% มีสภาพคล่องสำหรับดำเนินธุรกิจได้ไม่เกิน 3 เดือน ลดลงจากเดือนก่อนที่ 53% อย่างไรก็ดีมีกลุ่มที่สภาพคล่องเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนถึง 27% เกือบทั้งหมดเป็นโรงแรมที่มีอัตราการเข้าพักเดือนต.ค.สูงกว่าค่าเฉลี่ยที่ 23%

สถานการณ์ “รายได้” พบว่าเดือนต.ค.โรงแรมส่วนใหญ่ยังมีรายได้อยู่ในระดับต่ำ แต่ปรับดีขึ้นจากเดือนก.ย. โดยสัดส่วนโรงแรมที่มีรายได้กลับมาไม่ถึง 10% เทียบกับเดือนต.ค.2562 ก่อนโควิด-19 ลดลงเหลือ 29% จากเดือนก.ย.ซึ่งอยู่ที่ 55% นอกจากนี้ยังพบว่ามีโรงแรมเพียง 22% ที่รายได้กลับมาแล้วเกินครึ่งหนึ่ง

สอดคล้องกับ “อัตราการเข้าพัก” เฉลี่ยเดือนต.ค.อยู่ที่ 23.5% เพิ่มขึ้นจากเดือนก.ย.ที่มีอัตราการเข้าพัก 15.5% โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นของโรงแรมในทุกภูมิภาค โดยเฉพาะในภาคตะวันออก เนื่องจากรัฐบาลผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ความคืบหน้าในการฉีดวัคซีน และผลของมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวของภาครัฐ นอกจากนี้โรงแรมส่วนใหญ่คาดว่าอัตราการเข้าพักเฉลี่ยในเดือนพ.ย.2564 จะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนต.ค.มาอยู่ที่ 25%

มาริสา กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการเปิดรับ “นักท่องเที่ยวต่างชาติ” ภายใต้โครงการ “แซนด์บ็อกซ์” พบว่าโรงแรม 42% มองว่าผลของการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติต่ออัตราการเข้าพักในเดือนต.ค.64 แย่กว่าที่คาด โดยมีอุปสรรคหลักมาจากค่าใช้จ่ายในการเดินทางสูง และค่าตรวจโควิด-19 แบบ RT-PCR โดยอัตราการเข้าพักโรงแรมในพื้นที่แซนด์บ็อกซ์เดือน ต.ค.อยู่ที่ 23% จากเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ 18.4%

ส่วนโครงการรัฐกระตุ้นเศรษฐกิจ ได้แก่ โครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน เฟส 3” และ “ทัวร์เที่ยวไทย” ซึ่งเปิดให้เริ่มจองเมื่อวันที่ 8 ต.ค.ที่ผ่านมา เกือบครึ่งหนึ่งของโรงแรมที่ตอบแบบสำรวจระบุว่าไม่สามารถประเมินผลของโครงการได้ ขณะที่ 25% มองว่าผลของมาตรการดังกล่าวต่ออัตราการเข้าพักแย่กว่าที่คาดไว้ จากความกังวลเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด-19 และดีมานด์นักท่องเที่ยวไทยอยู่ในระดับต่ำ

สำหรับปัญหาและอุปสรรคในการเข้าถึงมาตรการฟื้นฟู ผลสำรวจไม่ต่างจากการสำรวจก่อนเดือนก.ย. มากนัก โดยผู้ประกอบการมองว่าอุปสรรคสำคัญของการเข้าร่วมโครงการคือ สถาบันการเงินสร้างเงื่อนไขหรือกำหนดคุณสมบัติเพิ่มเติมซึ่งทำให้การเข้าถึงมาตรการได้ยากขึ้น! ด้านโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ มีปัญหาการสื่อสารรายละเอียดของมาตรการ นโยบายหรือแนวปฏิบัติของสถาบันการเงินไม่ชัดเจนมากที่สุด ขณะที่สินเชื่อฟื้นฟูฯ ส่วนใหญ่มีอุปสรรคเรื่องสถาบันการเงินยังระมัดระวังในการให้สินเชื่อค่อนข้างมาก โดยเฉพาะลูกหนี้ใหม่เป็นสำคัญ!

อย่างไรก็ตาม สมาคมฯหวังว่า “การเปิดประเทศ 1 พ.ย.2564” จะเป็น “จุดเริ่มต้น” ของการฟื้นฟูประเทศและเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยให้กลับมาพลิกฟื้นอีกครั้ง และเป็นแรงหนุนส่งต่อการท่องเที่ยวไปถึงปี 2565 ให้มีทิศทางที่ดีขึ้น

โดยหลังจากนี้ภาครัฐจำเป็นต้องเพิ่มมาตรการฟื้นฟู กระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยว ทั้งตลาดใน และต่างประเทศมากขึ้น เพื่อสร้างแรงจูงใจเรื่องการเดินทาง การบริโภคจับจ่ายใช้สอยในช่วงไฮซีซั่น และเทศกาลปีใหม่ รวมถึงการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ผนึกกับการสร้างความพร้อมต่างๆ ที่ยังเป็นส่วนสำคัญ เพื่อเดินหน้าสร้างความมั่นใจแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ และประชาชนต่อไป!         

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์