“ประสิทธิภาพ” vs “ความเสี่ยง” ของวัคซีน COVID-19 สำหรับเด็ก

“ประสิทธิภาพ” vs “ความเสี่ยง” ของวัคซีน COVID-19 สำหรับเด็ก

การฉีดวัคซีน COVID-19 กลุ่มเด็กอายุ 5–11 ปี เทียบความเสี่ยงกับประสิทธิภาพการป้องกันการติดเชื้อ ถือว่ามีความเสี่ยงต่ำจากปริมาณวัคซีนต่อโดสที่น้อยกว่า สามารถป้องกันได้สูงเทียบเท่ากลุ่มวัยรุ่นและผู้ใหญ่ ยังสามารถช่วยลดการแพร่เชื้อในภาพรวมได้อย่างมีนัยยะสำคัญ 

เมื่อวันที่ 2 พ.ย. ที่ผ่านมา ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) สหรัฐอเมริกา ได้อนุมัติการฉีดวัคซีน COVID-19 ของบริษัทไฟเซอร์และไบออนเทคให้กับเด็กอายุ 5-11 ปี และมีแผนเริ่มดำเนินการฉีดทันที ซึ่งจะทำให้เด็กในกลุ่มนี้สามารถกลับไปทำกิจกรรมได้ตามปกติ คาดว่าอีกไม่นานเด็กไทยในกลุ่มอายุนี้ก็มีโอกาสที่จะได้รับวัคซีนเช่นกัน หลังจากมีการฉีดให้กับเด็กอายุ 12-18 ปีไปแล้ว

วัคซีน COVID-19 ที่จะนำมาฉีดให้กับเด็กกลุ่มอายุ 5-11 ปีที่ได้รับอนุมัตินี้ จะฉีดจำนวน 2 เข็ม โดยเข็มที่ 2 จะห่างจากเข็มแรก 3 สัปดาห์ ซึ่งเหมือนกับการฉีดวัคซีนในกลุ่มผู้ใหญ่ แต่จะใช้เข็มที่มีขนาดเล็กกว่าและมีปริมาณเพียง 10 ไมโครกรัมต่อเข็ม คิดเป็น 1 ใน 3 ของปริมาณที่ฉีดในกลุ่มอายุ 12 ปีขึ้นไปและกลุ่มผู้ใหญ่ ซึ่งปริมาณวัคซีนต่อเข็มที่น้อยลง ทำให้ผลข้างเคียงที่เกิดจากการฉีดวัคซีนน้อยลงด้วย

จากการทดลองฉีดวัคซีนไฟเซอร์ในกลุ่มทดลองเด็กประมาณ 3,000 คน พบว่า มีผลข้างเคียงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นมักเกิดหลังจากได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 โดยประมาณร้อยละ 39 ของกลุ่มทดลองอายุ 5-11 ปี มีอาการอ่อนเพลีย และร้อยละ 28 มีอาการปวดศีรษะ ซึ่งน้อยกว่ากลุ่มทดลองอายุ 16-25 ปี ที่มีอาการปวดศีีรษะประมาณร้อยละ 61-65 จากกลุ่มทดลองทั้งหมด ส่วนอาการไข้ หนาวสั่น และปวดกล้ามเนื้อ พบว่ามีน้อยกว่าร้อยละ 10 ของกลุ่มทดลอง ซึ่งอาการเหล่านี้จะใช้เวลา 1-2 วันเท่านั้น ก็จะหายเป็นปกติ 

สำหรับอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบยังไม่พบในกลุ่มทดลอง อาจเป็นไปได้ว่าจำนวนผู้เข้าร่วมทดลองยังไม่มากเพียงพอที่จะพบอาการข้างเคียงนี้ อาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบถือเป็นผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน COVID-19 ที่รุนแรง โดยจะมีอาการเจ็บหน้าอก หายใจติดขัด และหัวใจเต้นผิดปกติ อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลของ Vaccine Adverse Event Reporting System (VAERS) พบว่า มีผู้ที่มีอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหลังการฉีดวัคซีน COVID-19 เพียง 877 ราย จากจำนวนการฉีดวัคซีน 3.5 ล้านโดส โดยพบมากที่สุดในกลุ่มเพศชายอายุ 16-17 ปี คิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 0.007 เท่านั้น จากผู้ที่ได้รับวัคซีนทั้งหมด

ในขณะที่ผลการทดลองพบว่า กลุ่มเด็กอายุ 5-11 ปี ที่ได้รับวัคซีนไฟเซอร์และไบออนเทคในปริมาณโดสละ10 ไมโครกรัม มีประสิทธิภาพสามารถป้องกันการติดเชื้อ COVID-19 ได้ถึงร้อยละ 90.7 เทียบเท่ากับกลุ่มวันรุ่นและผู้ใหญ่ที่ได้รับวัคซีนในปริมาณโดสละ 30 ไมโครกรัม ซึ่งข้อมูลจากองค์การอาหารและยาสหรัฐ (FDA) ชี้ว่า หากเด็กอายุ 5-11 ปี ได้รับวัคซีนครบโดส 1 ล้านคน จะช่วยป้องกันการติดเชื้อ COVID-19 ได้ถึง 58,000 คน และช่วยป้องกันไม่ให้อาการหนักจนเข้ารับการรักษาพยาบาล 241 คน ทั้งยังช่วยลดการเข้า ICU จากการติดเชื้อได้ 77 คน และช่วยลดการเสียชีวิตจากการติดเชื้อได้ 1 คน ซึ่งหลังจากการอนุมัติการฉีดวัคซีนในเด็กอายุ 5-11 ปีนี้ จะทำให้มีเด็กจำนวน 28 ล้านคน มีสิทธิได้รับการฉีดวัคซีน

โดยล่าสุด ในสหรัฐอเมริกามีเด็กอายุ 5-11 ปี ที่ติดเชื้อ COVID-19 ถึง 1.9 ล้านราย และกว่า 8,400 ราย ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล และ 94 ราย ที่เสียชีวิต ซึ่งช่วงหลังมานี้ การติดเชื้อ COVID-19 ในกลุ่มเด็ก พบว่ามีอาการรุนแรงขึ้นและมีโอกาสเกิดภาวะ MIS-C (Multisystem Inflammatory Syndrome in Children) คืออาการอักเสบในอวัยวะต่างๆ

สำหรับประเทศไทย พบว่ามีจำนวนผู้ป่วยเด็กเยอะขึ้นจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ในปีนี้ โดยมีจำนวนกว่า 100,000 ราย และพบว่ามีเด็กที่มีภาวะ MIS-C ประมาณร้อยละ 0.02% ซึ่งแม้ว่าจะเป็นสัดส่วนที่น้อยแต่ยังถือว่าเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนที่ทำให้มีอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบที่มีเพียงร้อยละ 0.007 

นอกจากนี้ Michael Plank ศาสตราจารย์ด้านคณิตศาสตร์ และโควิดโมเดล จาก University of Canterbury Mathematics ระบุว่า การฉีดวัคซีนให้กลุ่มเด็กอายุ 5-11 ปี จะสามารถช่วยลดอัตราการแพร่เชื้อ หรือตัวเลข R (Reproduction Rate) ลงได้ประมาณร้อยละ 0.1-0.2 โดยล่าสุด ณ วันที่ 28 ต.ค. 64 ค่า R ของไทยอยู่ที่ 0.94 และสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 0.96

ดังนั้น การฉีดวัคซีน COVID-19 ในกลุ่มเด็กอายุ 5–11 ปี หากเทียบความเสี่ยงกับประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อ ถือว่ามีความเสี่ยงต่ำจากปริมาณวัคซีนต่อโดสที่น้อยกว่า ในขณะที่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้สูงเทียบเท่ากลุ่มวัยรุ่นและผู้ใหญ่ นอกจากนั้นยังสามารถช่วยลดการแพร่เชื้อในภาพรวมได้อย่างมีนัยยะสำคัญอีกด้วย 

หากท่านใดมีข้อข้องใจเกี่ยวกับการวางแผนการเงินของตนเอง สามารถส่งคำถามของท่านมาได้ที่ [email protected] I บทความโดย ณัฐพร ธรวงศ์ธวัช AFPTTM Wealth Manager ธนาคารทิสโก้