หุ้น “TFM“ เนื้อหอม “พาร์ทเนอร์” วิ่งชน!

หุ้น “TFM“ เนื้อหอม “พาร์ทเนอร์” วิ่งชน!

“ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์” (TFM) เปิดแผนธุรกิจ 3 ปี (2564-2566) มุ่งเน้นสร้างการเติบโตตลาด ต่างประเทศ “บรรลือศักร โสรัจจกิจ” นายใหญ่ แย้มธุรกิจกำลังเนื้อหอม หลัง “พาร์เนอร์” ระดับภูมิภาคเอเชียหลายรายติดต่อเพื่อขยายการลงทุน

ประเทศไทยเคยเป็น “เบอร์หนึ่ง” ผู้ผลิตกุ้งกุลาดำของโลก ! แต่เจอโรคระบาดกุ้ง (EMS) ทำให้จากเคยเป็นผู้ผลิตและส่งออกระดับ 6.4-6.5 แสนกิโลกรัม เหลือเพียงระดับ 2.7-2.8 แสนกิโลกรัม มานานกว่า 9 ปีแล้ว ดังนั้น จึงมองว่าโอกาสสร้าง “การเติบโต” ของตลาดเมืองไทยคงไม่ง่าย...สะท้อนผ่านอัตราการเติบโตไม่เกินระดับ 5-10%

บริษัท ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TFM ถือเป็น “บริษัทแกนนำ” (Flagship) ของกลุ่ม เครือบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU สัดส่วนถือหุ้นใหญ่ 51% (ตัวเลขหลังเสนอขายหุ้นIPO) ในการดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์เศรษฐกิจ โดยมีผลิตภัณฑ์หลัก ได้แก่ อาหารกุ้ง อาหารปลา และอาหารสัตว์บก

ณ ปัจจุบัน TFM มีการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ภายใต้แบรนด์สินค้าหลักของบริษัท ได้แก่ โปรฟีด (PROFEED) นานามิ (NANAMI) อีโก้ฟีด (EGOFEED) แอคควาฟีด (AQUAFEED) และดี-โกรว์ (D-GROW) เป็นต้น 

หุ้น “TFM“ เนื้อหอม “พาร์ทเนอร์” วิ่งชน! โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มผลิตภัณฑ์ แบ่งเป็น ผลิตภัณฑ์อาหารกุ้ง กำลังผลิต 153,000 ตันต่อปี ผลิตภัณฑ์อาหารปลา กำลังผลิต 90,000 ตันต่อปี และผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์บก กำลังผลิต 30,000 ตันต่อปี ซึ่งมีโรงงานผลิตสินค้า 2 แห่ง คือ โรงงานมหาชัย อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร และ โรงงานระโนด อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา

“บรรลือศักร โสรัจจกิจ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TFM แจกแจงให้ “กรุงเทพธุรกิจ BizWeek” ว่า ในแผนธุรกิจ 3 ปี (2564-2566) หลังบริษัทมี “แหล่งเงินทุน” ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่เข้ามาช่วยสนับสนุนสร้าง “การเติบโต” ครั้งใหม่ !! บ่งชี้ผ่านบริษัทวางเป้าเติบโตระดับ 5-10% และเพิ่มสัดส่วนรายได้ต่างประเทศเป็น 25% จากปัจจุบันอยู่ที่ 3% โดยเฉพาะใน “ประเทศอินโดนีเซีย” และ “ประเทศปากีสถาน” ที่บริษัทมุ่งเน้นลงทุนเพิ่มมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ปัจจุบันมี “พาร์ทเนอร์” ในภูมิภาคเอเชียหลายรายติดต่อเข้ามาเพื่อชักชวนให้บริษัทเข้าไปลงทุน อย่าง “ประเทศบังคลาเทศ” แต่เบื้องต้นมองว่าตลาดยังเล็กเกินไป ประกอบกับบริษัทต้องศึกษาพาร์ทเนอร์อีกด้วย 

“ใน 3 ปีนี้ เราคงเน้นขยายการลงทุนในอินโดนีเซีย-ปากีสถานให้เติบโตอย่างมั่นคงก่อนแล้วค่อยศึกษาลงทุนในประเทศอื่นๆ ต่อ แต่ขณะเดียวกัน เราก็มีการศึกษาและมีการติดต่อเข้ามาจากหลายประเทศในเอเชียชักชวนเราไปลงทุนด้วย” 

หุ้น “TFM“ เนื้อหอม “พาร์ทเนอร์” วิ่งชน! สำหรับแผนธุรกิจขยายการเติบโตในต่างประเทศ 1.การเซ็นสัญญาความร่วมมือทางเทคนิคและอนุญาตให้ AVANTI Feeds Limited (AVANTI) ผู้ผลิตอาหารกุ้งรายใหญ่ของประเทศอินเดีย ใช้ชื่อทางการค้า (Trade Name) และสูตรการผลิตสินค้าของ TFM สำหรับการจำหน่ายอาหารกุ้งในประเทศอินเดีย

2.การเข้าร่วมลงทุนกับพันธมิตรทางธุรกิจ (Strategic Partner) ตั้งบริษัทย่อยเพื่อดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์น้ำในประเทศอินโดนีเซีย ชื่อว่า บริษัท พีที ไทยยูเนี่ยน คาริสม่า เลสทารี จำกัด (TUKL) โดยมีพันธมิตรทางธุรกิจ 2 กลุ่ม คือ พันธมิตรท้องถิ่น PT Maxmar Summa Kharisma (PT MSK) ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจแปรรูปอาหารแช่แข็งรายใหญ่ในประเทศอินโดนีเซีย รวมถึงมีการดำเนินธุรกิจฟาร์มเพาะเลี้ยงกุ้งโดยมีผลผลิตกุ้งประมาณ 6,500 ตันต่อปี และกลุ่ม AVANTI เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์น้ำรายใหญ่ในประเทศอินเดีย

โดย TFM, PT MSK และกลุ่ม AVANTI มีสัดส่วนการถือหุ้นใน TUKL เท่ากับ 65% , 25% และ 10% ของทุนจดทะเบียนชำระแล้วของ TUKL ตามลำดับ ปัจจุบัน TUKL อยู่ระหว่างการติดตั้งเครื่องจักร กำลังการผลิตอาหารกุ้ง 36,000 ตันต่อปี คาดว่าจะสามารถติดตั้งเครื่องจักรแล้วเสร็จและเริ่มผลิตและจำหน่ายอาหารกุ้งได้ภายในสิ้นปี 2564 

นอกจากนี้ TUKL ยังเล็งโอกาสทางธุรกิจในขยายธุรกิจไปยังธุรกิจการผลิตและจำหน่ายอาหารปลาในประเทศอินโดนีเซีย และมีแผนขยายธุรกิจไปยังธุรกิจผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์น้ำภายในปี 2566 โดยวางแผนลงทุนในสายการผลิตอาหารสัตว์น้ำเพิ่มเติมอีก 2 สายการผลิต ส่งผลให้มีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น 36,000 ตันต่อปี คาดว่าจะต้องใช้เงินลงทุนประมาณไม่เกิน 250 ล้านบาท

และ 3.การส่งออกไปยังต่างประเทศ เช่น ประเทศศรีลังกา มาเลเซีย บังคลาเทศ พม่า ปากีสถาน และสาธารณรัฐมัลดีฟส์ เป็นต้น

“เงินระดมทุนที่ได้จะใช้ในการขยายธุรกิจผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์น้ำในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพเติบโตสูงในอนาคต ใช้ชำระคืนเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน จำนวนไม่เกิน 250-350 ล้านบาท ภายในเดือนมี.ค.65 เพื่อให้อัตราหนี้สินต่อทุน (D/E Ratio) หลัง IPO ต่ำกว่า 1 เท่า และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนสำหรับการดำเนินธุรกิจ” 

ท้ายสุด “บรรลือศักร” บอกไว้ว่า เงินระดมทุนจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเพื่อรองรับโอกาสทางธุรกิจ เนื่องจากธุรกิจของ TFM ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะตลาดในประเทศไทยเท่านั้น บริษัท ยังได้มีการขยายธุรกิจไปยังประเทศที่อุตสาหกรรมสัตว์น้ำมีศักยภาพในการเติบโตสูง